ปฐมา จันทรักษ์ เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่โดดเด่น น่าจับตา ประสบการณ์บนเวทีธุรกิจระดับโลกไม่เป็นรองใคร เธอนั่งตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย โดยเฉพาะ Microsoft เป็นผู้บริหารทั้งในไทย และที่ Redmond (สำนักงานใหญ่) ไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ปัจจุบันปฐมากำลังนำพาไอบีเอ็มซึ่งเป็นตำนานของโลกไอทีฝ่าพายุ Digital Disruption ด้วยโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย เดิมพันด้วยตำแหน่ง “รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด” ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีผู้บริหารหญิงไทยนั่งบริหารในตำแหน่งระดับ Top Management ของบริษัทไอทีระดับโลก เธอต้องทิ้งประเทศไทยไปนานหลายสิบปี สั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านการเคี่ยวกรำ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับซีอีโอ Microsoft อย่างน้อย 3 คน ก่อนมาถึงวันนี้ “...เป็นตำแหน่งใหม่ที่ไอบีเอ็มไม่เคยมี ท้าทายมาก...” ปฐมากล่าวกับ Forbes Thailandจัดเทคฯ ยุคใหม่เจาะ 20 อุตสาหกรรม
“ไอบีเอ็มในไทยถ้าพูดถึงความเก่ง หรือเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญ เรามักไม่ค่อยได้รับการพูดถึง คนจะมองแต่ว่า เป็นระบบหลังบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วไอบีเอ็มก็ born in the cloud เหมือนกับ Amazon, Google, Facebook แต่ด้วยความที่ไอบีเอ็มอายุ 107 ปี เราเกิดมานานมาก มีโซลูชั่นมากมายทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน เรามี AI Watson เรามี cloud เรามีบล็อกเชน มี security ที่ใครยังเจาะเราไม่ได้” “จากนี้ไปเราอยากเห็นโซลูชั่นของไอบีเอ็มเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่แค่ทางเลือก เราจะเจาะเข้าไปทุกอุตสาหกรรมทุกระดับ จับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เขามีลูกค้ารายเล็กๆ แล้วเอาเทคโนโลยีของไอบีเอ็มกระจายให้เขาได้ใช้ ต้องกระจายลงไปในระดับคอนซูเมอร์ให้ได้” หนึ่งในเป้าหมายที่ปฐมามุ่งมั่น “สิ่งที่ไอบีเอ็มมีอยู่แล้วทุกวันนี้คือจุดเด่นเรื่องโซลูชั่นที่มี เป็นโซลูชั่นที่ครบวงจรรองรับได้มากถึง 20 อุตสาหกรรม เป็นจุดแข็งที่พิเศษมาก บุคลากรในไอบีเอ็มก็เชี่ยวชาญในเชิงลึกทุกอุตสาหกรรม รีเทล แมนูแฟคเจอริ่ง ไปจนถึงการเกษตร นำไปต่อยอดได้ทันที...” 20 อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของไอบีเอ็ม ประกอบไปด้วย 1.ยานยนต์ 2.การเงินและธนาคาร 3.ประกันภัย 4.การดูแลสุขภาพ 5.อิเล็กทรอนิกส์ 6.พลังงาน 7.ภาครัฐ 8.การผลิต 9.สื่อและบันเทิง 10.ค้าปลีก 11.โทรคมนาคม 12.ท่องเที่ยว 13.ปิโตรเคมี 14.น้ำามันและก๊าซ 15.ซัพพลายเชน 16.ทรัพยากรบุคคล 17.โฆษณา 18.การเกษตร 19.อาหาร 20.การตลาด ปฐมาค่อนข้างให้ความสำคัญกับลูกค้าในกลุ่มการดูแลสุขภาพ สถาบันการเงิน รวมถึงภาครัฐ ที่ยังมีช่องโหว่ของข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงต่อการโจรกรรม เธอยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหลายรายซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดต้องปิดการให้บริการในประเทศเลยก็มี แต่เมื่อกลับมามองในไทย ยังดูเหมือนว่าตื่นตัวน้อย “กลุ่มที่สุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ยังใช้ระบบที่เก่าแก่ ซึ่งมีช่องโหว่มาก ถ้าเกิดการโจรกรรมข้อมูล มันทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนไปได้เลย ไฟฟ้าอาจดับทั้งประเทศ วันนี้แค่ใครนั่งอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถทำลายระบบต่างๆ ในประเทศเราได้ ทุกเรื่องมันเป็นประสบการณ์ที่เราเจอมาในต่างประเทศ บางครั้งต้องเสียงบประมาณ เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ต่างประเทศเขาจริงจังกันมาก ถ้าบริษัทถูกแฮก ซีอีโอ ซีไอโอ ต้องลาออกเลย”ชู “AI Watson” เทคฯ พลิกโลก
“...AI Watson คือมันสมองไอบีเอ็ม พัฒนามาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต วันนี้ Watson ก็เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจมาก” เป็นสาเหตุหนึ่งที่เธอรับตำแหน่งที่ไอบีเอ็มเพราะความฉลาดของ Watson ที่เธอมองแล้วว่าจะนำเทคโนโลยีนี้ช่วยเหลือประเทศ “...การดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยอย่างเดียว แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญ และใช้ความฉลาดของ AI มาช่วยในการรักษาพยาบาลด้วย คือการรวมความอัจฉริยะของหมอและแมชีนเลิร์นนิ่งเข้าด้วยกัน” ไอบีเอ็ม Watson ถือเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพสูงแตกต่างจากเทคโนโลยีอื่น ปัจจุบันถูกนำไปใช้แล้วกว่า 16,000 องค์กรใน 20 อุตสาหกรรมใน 80 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ค้าปลีก การดูแลสุขภาพ การโรงแรม เหมืองแร่ ฯลฯ และเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้บริโภคกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกกำาลังใช้อยู่ในทุกวันนี้สไตล์บริหารใช้ทั้งใจและสมอง
ย้อนไปถึงวันที่เธอตัดสินใจมารับตำแหน่ง ปฐมายอมรับว่าถูกทาบทามจากผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็ม ซึ่งสิ่งแรกที่เธอคิด คือ ได้กลับบ้าน และจะได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ แม้ก่อนหน้านั้น Microsoft แอบเตรียมแผนให้เธอกลับมาดูธุรกิจที่ไทยเช่นกัน “อยากจะบอกว่าการทำงานกับองค์กรข้ามชาติถือเป็นความท้าทายที่สุด ถึงขนาดคิดว่าถ้าเรารอดจากองค์กรข้ามชาติได้ เราจะใส่เสื้อว่า I survive เพราะมันโหดมาก” เมื่อถามว่า ธุรกิจของไอบีเอ็มในไทยยังขาดเรื่องอะไร ปฐมาบอกว่าเรื่อง “คน” ทำอย่างไรให้คนเรียนรู้กับเทคโนโลยีไอบีเอ็มได้อย่างเข้าใจและคุ้นเคย ทำอย่างไรให้พาร์ทเนอร์ ภาครัฐ เอกชน มาผนึกกำาลังกันให้เป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนขึ้น และทำอย่างไรให้โซลูชั่นไอบีเอ็มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะที่สไตล์การทำงานในแบบปฐมา เธอบอกว่าต้องใช้หัวใจและสมอง การทำงานต้องระดมสมอง รับฟัง โต้แย้ง และลงมือทำ “เน้น 3D เพราะเราเชื่อว่า การทำงานต้องคุยกัน ต้อง discuss, debate และ design ถ้ามี 3D นี้จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ถ้าสั่งงานทั้งที่เราไม่เห็นด้วย มันไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะไม่ได้มีการระดมสมอง ไม่ได้มีการโต้เถียง ทำอย่างไรให้คนของเรามีความเห็นแล้วแสดงออกมา กล้าพูด กล้าแสดงความเห็น เราพยายามจะสร้างให้คนไอบีเอ็มกล้าที่จะไม่เห็นด้วย เราต้องบริหารในแบบให้สิทธิการแสดงความเห็น และมองความเห็นของทุกคนมีค่า” ภาพประกอบ: มังกร สรพลคลิกอ่านฉบับเต็ม "ปฐมา จันทรักษ์ เดิมพันครั้งใหญ่กับตำนานไอทีโลก ไอบีเอ็ม" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine