ธนัตถ์ เตชะธนบัตร กุมบังเหียน “Nokia” ฝ่ายุคดิสรัปชัน - Forbes Thailand

ธนัตถ์ เตชะธนบัตร กุมบังเหียน “Nokia” ฝ่ายุคดิสรัปชัน

การเติบโตของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่หยุดทำให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อย่างโนเกีย (Nokia) ต้องปรับตัวอย่างมาก จากที่เคยเป็นเจ้าตลาดธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระดับโลกก่อนที่ยุคดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้คลื่นสัญญาณไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ถึงกระนั้นโนเกียก็ยังสามารถยืนหยัดและปรับตัวด้วยการนำระบบและบริการโทรคมนาคมใหม่ๆ รองรับความต้องการขององค์กรในยุคดิสรัปชัน เป็นก้าวย่างสำคัญในปัจจุบันและอนาคตของโนเกีย

แขกรับเชิญของ Dine with the Boss ฉบับนี้คือ ธนัตถ์ เตชะธนบัตร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทยและกัมพูชา เป็นผู้บริหารหลักโนเกียในไทยและกัมพูชา เขาคลุกคลีทำงานให้โนเกียมากว่า 2 ทศวรรษ หลังจากเริ่มต้นในปี 2539 ด้วยตำแหน่งผู้จัดการโครงการ โนเกียประเทศไทย แม่ทัพโนเกีย ประเทศไทยเล่าว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้เปลี่ยนจากการใช้คลื่นวิทยุและเครือข่ายเชื่อมต่อหลักไปเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายระบบคลาวด์และโซลูชันซอฟต์แวร์ต่างๆ โนเกียเองก็ได้เตรียมรับมือกับวิวัฒนาการนี้มาโดยตลอด “เราเน้นการลงทุนไปที่ด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันของเรา รวมทั้งการพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อให้บริการลูกค้าของเราให้ดียิ่งขึ้น” ธนัตถ์ย้ำสั้นๆ ก่อนจะอธิบายต่อไปว่าเทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “เรามีชีวิตอยู่ในยุคแห่งการ disruption หลายๆ บริษัทก็มองหาแนวทางที่ดีขึ้นและเป็นสิ่งใหม่ๆ เพื่อจะสามารถสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงในแง่ของการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความคุ้มค่ายิ่งขึ้น แต่ยังต้องช่วยเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถปรับปรุงเรื่องการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วย” เขาย้ำว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทข้ามชาติอย่างโนเกีย ซึ่งยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจผ่านการนำเสนอโซลูชันและบริการต่างๆ ให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ จากทั่วโลก  

- เชื่อมโยงโลก เชื่อมต่ออุปกรณ์ -

เครือข่ายที่มีทั่วโลกคืออีกหนึ่งจุดแข็งของโนเกีย ซึ่งธนัตถ์บอกว่า “Nokia มั่นคงพอที่จะก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปได้ เพราะทุกส่วนของโลกใบนี้เชื่อมต่อถึงกันได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง Nokia ก็ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะมาช่วยขับเคลื่อนความเป็นไปของโลกที่ว่านี้” เทคโนโลยีที่แม่ทัพโนเกียกล่าวถึงคือ การสร้างเครือข่ายพื้นฐานที่จะช่วยนำพาให้คน เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในโลกใบนี้ให้รับรู้และโต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์นั่นเอง Nokia เมื่อถามถึงความยากในการบริหารองค์กรเทคโนโลยีในยุคเปลี่ยนผ่าน เขาตอบว่า ยากระดับหนึ่ง แต่ก็สามารถปรับตัวปรับบริการรองรับได้ “เพราะการพัฒนาที่สำคัญๆ ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมก็คือ การพัฒนาด้านระบบความปลอดภัยในเครือข่าย ที่แม้มันอาจไม่ใช่จุดสนใจหลักของอุตสาหกรรมในวงกว้าง แต่เราได้เฝ้าสังเกตการณ์มาอย่างต่อเนื่องพบว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในตอนนี้” เหตุผลสนับสนุนแนวคิดนี้มาจากการที่ตลาดทั่วโลกได้พยายามผลักดันตัวเองสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยเร่งปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลถือเป็นเรื่องจำเป็นแต่การที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคทางดิจิทัลมากขึ้นดังนั้น โนเกียในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับองค์กรเหล่านี้ หลายๆ เจ้าจึงเลือกติดตั้งเครือข่ายพื้นฐานเพื่อใช้งานก่อนและจะขยายเพิ่มเติมในอนาคต และเป็นหน้าที่ของโนเกียในการให้คำปรึกษาแก่พวกเขาว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีล่าสุดเป็นอย่างไร และให้การสนับสนุนพวกเขาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่าที่สุด “ปัจจุบันเราเป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรต่างๆ มากมายในการวางเครือข่ายพื้นฐาน และเรายังเดินหน้าเพื่อสรรค์สร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ทั้งโลกสามารถเดินหน้าไปด้วยกัน” ธนัตถ์ย้ำว่า สิ่งที่แตกต่างไปในวันนี้คือ โนเกียกำลังขยายขอบเขตความสนใจไปที่การให้บริการเครือข่ายพื้นฐานที่อยู่นอกเหนือจากผู้ให้บริการเครือข่ายเคลื่อนที่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานโดยวัดจากต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership: TCO) ที่ดีที่สุดในด้านเครือข่ายพื้นฐาน ด้วยการช่วยลูกค้าในการปรับตัว จากการใช้ระบบ monolithic systems ไปสู่ silicon, software และบริการรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย Nokia

- บริการครอบคลุมทุกระบบ -

เขายังบอกอีกว่า “Nokia ยังคงยึดมั่นที่จะประสานนวัตกรรมและความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของเราให้ครอบคลุมทั้งเครือข่ายไร้สาย เครือข่ายเชื่อมต่อหลักสำหรับระบบแบบมีสายและเครือข่ายคลาวด์” ดังนั้น โนเกียจึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี Open Radio Access Network หรือ O-RAN และการส่งมอบบริการ Networkas-a-Service (NaaS) ซึ่งโนเกียได้นิยามว่า คือ ทรัพยากรที่มีศักยภาพต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ โนเกียยังได้สร้างค่านิยมในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาและการวิจัยนำโดย Nokia Bell Labs ซึ่งได้รับรางวัลด้านการวิจัยและพัฒนา สิ่งนี้จะช่วยได้ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มทางการเงินที่จำเป็นต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว “Nokia ยังคงยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความซื่อสัตย์และความปลอดภัยในขณะที่เราเพิ่มศักยภาพที่จำเป็นสำหรับยุคที่มีความต้องการในด้านประสิทธิภาพความยั่งยืน และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ์Nokia “ที่เมืองไทยเรามีความพร้อมที่จะสนับสนุนการเดินหน้าประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ด้วยการให้บริการเทคโนโลยีล่าสุดด้านเครือข่ายไร้สาย เครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายระบบใยแก้วนำแสง (optical network) ควบคู่ไปกับโซลูชัน Nokia Fixed Transport ที่รวมถึงคลาวด์และบริการเครือข่ายของเราเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของประเทศภายในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนี้” ธนัตถ์บอกว่า ความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในตอนนี้ถือเป็นสิ่งที่โนเกีย ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ การเพิ่มฐานลูกค้าในปัจจุบันที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่และองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงบริษัทระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ webscale เพื่อนำเสนอแพลตฟอร์มที่มั่นคง สามารถก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่า “เรามองเห็นโอกาสระยะยาวที่จะเดินหน้าเข้าสู่โมเดลธุรกิจ NaaS ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และการขยายธุรกิจโดยใช้แนวคิดเชิงกลยุทธ์หลักด้วยการใช้วิธีการแบบครบวงจรตามความต้องการของลูกค้า โดยกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่มของบริษัทจะมีบทบาทที่ชัดเจนต่อกลยุทธ์โดยรวมของเรา” ท้ายที่สุดในยุคที่ถูกขับเคลื่อนด้วย ICT และข้อมูลนี้ โนเกียจะดำเนินธุรกิจให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในฐานะที่เป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจด้านเครือข่ายพื้นฐาน โนเกียได้เตรียมการที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมีคุณค่ากับลูกค้า ด้วยการส่งมอบเทคโนโลยีที่ดีที่สุด และคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปูทางสู่อนาคตให้กับธุรกิจของเราต่อไป   ภาพ: API อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine