ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ปั้นดาต้าเซ็นเตอร์ไทยสู่ฮับอาเซียน - Forbes Thailand

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ปั้นดาต้าเซ็นเตอร์ไทยสู่ฮับอาเซียน

บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูล หรือดาต้าเซ็นเตอร์ จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากในการทำความเย็นหล่อเลี้ยงระบบ ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ซีอีโอ บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand กำลังจะลดการใช้ไฟฟ้าสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ลงเพื่อให้ต้นทุนในการจัดเก็บต่ำลง เพิ่มโอกาสการแข่งขันของดาต้าเซ็นเตอร์ไทยให้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในภูมิภาค


    ศุภรัฒศ์เริ่มต้นการพูดคุยกับ Forbes Thailand เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์ราวปลายเดือนธันวาคม ปี 2565 ซึ่งวันนั้นธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ถูกกล่าวถึงค่อนข้างมากในแง่ของการมีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บข้อมูล เขาบอกว่า เทรนด์นี้มีมาสักระยะแล้ว และเขาก็เป็นคนที่ทำดาต้าเซ็นเตอร์ในยุคเริ่มแรกเมื่อ 7-8 ปีก่อนหน้านี้ หากย้อนหลังไป 5 ปี เมื่อฟินเทคได้เข้ามาในสังคมไทยตอนนั้นไทยเริ่มมีพร้อมเพย์ มีการซื้อขายออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก

    เนื่องจากการซื้อสินค้าออนไลน์ทำให้มีการใช้ดาต้าเพิ่ม และมีเรื่องบิ๊กดาต้าเข้ามา ยิ่งพอระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็น 5G ก็มีการพูดคุยกันเรื่อง Internet of Thing และเรื่องดีไวซ์ต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็มีการนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ดาต้าเซ็นเตอร์กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง

    

เพิ่มมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์

     

    เมื่อพูดถึงดาต้าเซ็นเตอร์สิ่งสำคัญที่เราต้องมองคือ เรื่องการใช้พลังงาน ซึ่งทุกวันนี้เป็นจังหวะที่ดีของธุรกิจพลังงานเป็น the rise of the sun มีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลถ้าจับได้ถูกทิศทาง ภาคธุรกิจเองก็ต้องมองเรื่องพลังงานด้วยเช่นกัน สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ต้องใช้ไฟฟ้า 24 ชั่วโมง ดาต้าเซ็นเตอร์จึงไม่เหมาะที่อยู่กับบ้านหรือสำนักงาน ดังนั้น มันจึงต้องมีดาต้าเซ็นเตอร์ต่างหากเหมือนที่ STT GDC Thailand ให้บริการ 

    “หากเทียบแล้วก็เหมือนการซื้อคอนโด 1 ห้องในย่านธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อที่ดินหรืออาคาร นี่คือ data center บริการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน” เขายกตัวอย่างว่า เหมือนการสร้างคอนโดให้อุปกรณ์อยู่ โดยลูกค้าหลักที่มาใช้บริการคือคลาวด์ต่างๆ มาใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ หรือเรียกว่าเป็น home of the cloud ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่อง AI analytics การวิเคราะห์ด้วยสมองกล และ virtual computing หรือการจำลองการทำงานของคอมพิวเตอร์หลายเครื่องไว้ด้วยกัน ซึ่งตอบโจทย์ทำให้ธุรกิจเคลื่อนที่ได้เร็วมีความคล่องตัว 

    ทุกคนรู้จักคลาวด์และเคยใช้ “Cloud ก็เหมือนธุรกิจโรงแรม เราไปเช่าได้ แต่ Cloud ทั่วไปก็เหมือนตึกในโรงแรม ต่างกับ data center ที่เช่าได้โดยไม่ต้องมีพื้นที่ของตัวเอง” ศุภรัฒศ์พยายามอธิบายธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ให้เห็นภาพ โดยเปรียบเทียบกับธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ซึ่งลูกค้าสามารถมาเช่าใช้ไม่ต้องลงทุนเอง 

    ยิ่งในภาวะปัจจุบันถือเป็นจังหวะที่ดีเพราะประเทศไทยใช้ดาต้าเยอะมาก เราเคยใช้ Facebook เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ก่อนดาต้าพวกนี้อยู่ต่างประเทศ ปัจจุบันย้ายมาที่ประเทศไทย เพราะไทยใช้ดาต้าสูงมาก ดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยจึงมีบทบาทสำคัญ 

    สำหรับ STT GDC Thailand เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง STT GDC Group ที่สิงคโปร์ กับ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ของไทย ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าความต้องการใช้พื้นที่จัดเก็บดาต้ามีมากขึ้น จึงเปิดบริการดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นมารองรับ และด้วยความที่ STT GDC มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการเชิงธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จึงเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี โดยได้ร่วมทุนกันมากว่า 4 ปีแล้วธุรกิจเติบโตมาด้วยดี 

    ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อหล่อเลี้ยงระบบและทำความเย็น โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่ STT GDC Thailand ทำอยู่หากใช้กระแสไฟฟ้าจำนวน 10 เมกะวัตต์เท่ากับการใช้ไฟฟ้าครัวเรือน 10,000 ครัวเรือน เนื่องจากอัตราส่วน 1 เมกะวัตต์เท่ากับการใช้ไฟฟ้าของ 1,000 ครัวเรือน ดังนั้น ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทใช้ไฟ 20 เมกะวัตต์จึงเท่ากับการใช้ไฟ 20,000 ครัวเรือนจึงจำเป็นต้องมองหาโซลูชันเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลง 

    “การเข้ามาใช้ data center ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโต เงินเข้าประเทศไทยโดยตรง คนมาใช้ server ในไทยเราก็เก็บภาษีได้” เขายกตัวอย่างคร่าวๆ ก่อนจะบอกว่า ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ STT GDC Thailand ลงทุนในไทยมากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ไปตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ “ก่อนโควิดเราเริ่มเห็นโอกาสในประเทศไทยมีค่อนข้างสูงธุรกิจ data center ในไทย เนื่องจากมีคนใช้ data เยอะ” ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเติบโต 25.6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค หากเทียบในเอเชียด้วยกันเติบโตแค่ 14% จะเห็นว่าไทยติบโตเยอะมากเกือบเท่าตัวในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 

    “เมื่อเข้าสู่สถานการณ์โควิด ธุรกิจ data center เติบโตแบบก้าวกระโดด speed พอสมควร เราจะเห็นว่ามีผู้ให้บริการ Cloud หลายรายประกาศเข้ามาในไทย” เป็นโอกาสในวิกฤตที่ชัดเจนทำให้เกิดศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ระดับ 20 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนมากไม่ได้สร้างอยู่ใจกลางเมือง เนื่องจากต้องสร้างใหญ่ แต่ STT GDC Thailand เราสร้างอยู่ใกล้เมือง และต้องการที่จะยกระดับสแตนดาร์ดของประเทศไทยเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ 

    “เราให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มาก และมองว่าเป็นการพัฒนา เรามองตัวเองเหมือนเป็นสนามบิน Haneda เครื่องบินต่างๆ ลงได้แต่อยู่ใจกลางเมือง 45 นาทีเข้าเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว” ศุภรัฒศ์บอกว่า สิ่งที่เขาและ STT GCD Thailand ต้องการทำคือ การยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ โดยป็นการพัฒนามาจากประสบการณ์ที่มีทั่วโลกไม่ใช่แค่สิงคโปร์ ยังมีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ โดยเขาอยากพัฒนาให้ไทยเป็นที่ 1 ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาคอาเซียน

    

แนวทางใหม่ลดใช้พลังงาน

     

    ศุภรัฒศ์เล่าว่า ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของ STT GDC Thailand ซึ่งอยู่ทำเลใกล้เมืองในเขตกรุงเทพฯ มีพื้นที่ให้บริการ 30,000 ตารางเมตรต่ออาคาร ซึ่งเป็นอาคาร 7 ชั้น ให้บริการแบบดูโอ้ และใหญ่เป็นอันดับ 1 ในอินโดจีน โดยอาคารแรกมีคนเช่าใช้เต็มเรียบร้อยแล้ว ใช้ไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ ส่วนอีกอาคารจะให้บริการอีก 20 เมกะวัตต์เช่นกันจะสร้างในปี 2566 

    ด้วยชื่อเสียงที่ดีของ STT GDC พันธมิตรที่สิงคโปร์ มีคนยอมรับอยู่แล้ว เมื่อสร้างเสร็จจึงมีลูกค้าทันที เพราะมีความน่าเชื่อถือ ทำให้การขายไม่ยากและใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ บริษัทยังได้รางวัลด้านเอ็นจิเนียริ่งสตรัคเจอร์ดีไซน์ นอกจากได้รางวัลแล้ว ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้เมืองก็เป็นจุดขายที่ดี 

    อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าธุรกิจนี้ไม่ควรเติบโตโดยลำพัง ควรเติบโตไปทั้งระบบนิเวศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศ ทำให้ไทยก้าวสู่การติบโตได้เร็ว โลกออนไลน์โตเร็ว ถ้ามีระบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีจะยิ่งเป็นการส่งเสริม เมื่อรวมกับเทคโนโลยี 5G ด้วยยิ่งทำให้ไทยเราค่อนข้างพร้อม และความสามารถที่ STT GDC Thailand มีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ให้บริการ 2 อาคาร 20+20 เมกะวัตต์ ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 40,000 ครัวเรือน จึงต้องหันมามองเรื่องต้นทุนพลังงาน 

    “วันนี้ค่าไฟแพงมากทั่วโลก เราใช้ไฟ 24 ชั่วโมง ใช้พลังงานเยอะ ซึ่งพลังงานส่วนใหญ่ใช้ไปกับการสร้างความเย็นหล่อเลี้ยงระบบ ด้วยเหตุนี้ STT GDC Thailand จึงมองหาช่องทางที่จะลดใช้พลังงานในส่วนนี้ลง” 

    โดยล่าสุดบริษัทได้ทำ MOU หรือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ในการใช้พลังงานไนโตรเจนเหลวที่ได้มาจากการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ซึ่งแพ็กส่งมาทางเรือเป็นน้ำแข็งเมื่อนำมาละลายจะได้ความเย็นที่ละลายออกมา นำมาหล่อเลี้ยงความเย็นให้กับศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นบายโปรดักต์ที่ได้จากการหลอมละลายก๊าซ LNG จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับสร้างความเย็นให้กับศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ได้ 

    “หลังจาก MOU เสร็จแล้ว น่าจะสรุปได้ไม่เกินกลางปี 2566 จะเริ่มทดลองใช้ โดยการศึกษาเบื้องต้นพบว่า จะช่วยลดการใช้ไฟมากกว่าครึ่งหนึ่ง นี่เป็นครั้งแรกที่ทำด้วยกันจะมีส่วนอื่นหรือเปล่าต้องรอดู” ซีอีโอ STT GDC Thailand กล่าวและว่า ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟที่ใช้อยู่ที่หน่วยละ 5 บาทกว่า แต่ถ้าใช้ความเย็นจากการดีฟรอสต์ LNG จะลดลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะลูกค้าจะมีทางเลือกค่าไฟที่ถูกลง “ภารกิจนี้ไม่ใช่แค่ลดต้นทุน แต่เป็นภารกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” 

    ค่าไฟสูงเป็นอุปสรรคในการแข่งขันของประเทศ เมืองไทยค่าไฟ 5 บาท/หน่วย แพงกว่าเพื่อนบ้าน 2 เท่า ซึ่งลาวอยู่ที่หน่วยละ 3 บาท อินโดนีเซีย 3 บาทกว่า/หน่วย มาเลเซียรัฐบาลอุดหนุนทำให้ค่าไฟต่ำเพียง 2 บาท/หน่วย เพื่อให้ประเทศแข่งขันได้ แต่ในไทยยังไม่มีนโยบายนี้ ซึ่งหากรัฐบาลมองเป็นความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ค่าไฟถูกลงเรามีโอกาสดึงดูดนักลงทุนเข้าประเทศได้อีกมาก ดาต้าเซ็นเตอร์เราพร้อม แต่ปัญหาเรื่องค่าไฟยังเป็นอุปสรรคถ้าแก้ไขในจุดนี้ได้ ประเทศไทยจะได้เปรียบคู่แข่งในย่านเดียวกันอย่างมาก 

    ลูกค้าคลาวด์เป็นกลุ่มธนาคารที่หันมาทำอี-แบงค์กิ้ง อี-คอมเมิร์ซ และอื่นๆ ผู้ใช้บริการคลาวด์สำหรับเก็บข้อมูลยังมีความต้องการสูง หากเราสามารถเสนอราคาที่ได้เปรียบคู่แข่งจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอีกเป็นจำนวนมาก 

    “ธุรกิจ data center คือธุรกิจอนาคตของไทย เพราะเราไม่มีสเกลใหญ่ไม่เหมือนอินเดีย เราไม่มีประชากร 300 ล้านคน ไม่มี Silicon Valley ที่รวมบริษัทด้านเทคอยู่ด้วยกัน” เขาหมายถึงจุดแข่งขันที่ไทยไม่มีนอกจากเรื่องของทำเลที่ตั้งและการท่องเที่ยววัฒนธรรม หากเราสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของแหล่งดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคได้ ไทยมีโอกาสเติบโตเป็นฮับได้เช่นกัน

    

    อ่านเพิ่มเติม : คนรุ่นใหม่กับธุรกิจเกี่ยวข้องกับน้ำ

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine