หลากหลายปัญหาที่ ‘ลำพูน’ เผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ และเศรษฐกิจ ทำให้หลายหน่วยงาน คือ เทศบาลเมืองลำพูน, ลำพูน ซิตี้ แลป รวมถึงภาคเอกชนอย่างบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK ผนึกกำลังกันเพื่อให้จังหวัดที่เคยรุ่งเรืองในอาณาจักรล้านนาแห่งนี้พลิกฟื้นกลับมาเป็นเมืองที่อยู่แล้ว “สุขก๋าย สบายใจ๋” และล่าสุดกับการจัดกิจกรรม “ชาวหละปูนฮักปอด” ที่เปิดให้บริการ “สุขศาลา” หรือศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพปอดเชิงรุกแก่ประชาชน รับมือมลพิษอย่าง PM 2.5
‘ลำพูน’ จังหวัดหนึ่งเล็กๆ ในภาคเหนือที่นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานแล้ว ปัจจุบันลำพูนก็มีจุดแข็งหลายด้านให้กับคนเมือง เช่น การเป็นเมืองเดินได้และเดินถึง เทศบาลเมืองลำพูนมีการดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็ง มีบริการสาธารณสุขครอบคลุม อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ มีศิลปะและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และเก่าแก่กว่าเชียงใหม่ ผู้คนเป็นมิตร เป็นเมืองปลอดภัย
แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันลำพูนกลับเป็นเมืองที่กำลังเผชิญปัญหาและความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาวะของผู้คนที่เผชิญกับปัญหา PM 2.5 ที่สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี มีอัตราการเป็นมะเร็งปอดสูงเกือบที่สุดในภาคเหนือทั้งที่ผู้คนสูบบุหรี่ไม่เยอะ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง
นอกจากนี้ ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ลำพูนยังกลายเป็นเมืองที่ขาดพื้นที่สีเขียว มีอากาศร้อนมากในหน้าร้อน และแหล่งน้ำธรรมชาติเหือดแห้ง
ขณะที่ในแง่เศรษฐกิจ ลำพูนกำลังประสบภาวะประชากรหดตัว เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะที่อัตราการเกิดต่ำ คนวัยทำงานย้ายไปอยู่เมืองอื่น ด้านการท่องเที่ยวก็ขาดที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมที่จะทำให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในจังหวัดนี้ได้นานๆ
ความท้าทายเหล่านี้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จังหวัดลำพูน, เทศบาลเมืองลำพูน, บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด ผนึกกำลังร่วมกันในการพลิกฟื้นลำพูนทั้งในด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพื่อให้ลำพูนกลับมาเป็น “เมืองแห่งการเยียวยา” ดังชื่อโปรเจ็กต์ว่า “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ได้ ซึ่งหมายถึงการทำให้ลำพูนกลายเป็นเมืองสุขภาพดี ผู้คนอยากมาอยู่ หรืออยู่แล้วสุขกายสบายใจ ซึ่งโปรเจ็กต์นี้มีภาคเอกชนอย่าง บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK เข้ามาร่วมสนับสนุน เกิดเป็นความร่วมมือตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา
โปรเจ็กต์ Lumphun Healing Town เริ่มทำไปแล้วคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยต้นไม้ ตลอดเส้นทางถนนรถแก้ว ซึ่งเป็นเส้นทางจากวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ไปจนถึงวัดมหาวัน หรือวัดพระรอด มีการปรับปรุงสีรั้วอาคารและบ้านต่างๆ บนถนนเส้นนี้ให้เป็นสีเดียวกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุจำได้ง่าย เป็นต้น
และล่าสุดกับการเปลี่ยนโรงเก็บของของสถานีดับเพลิงเก่า “สุขศาลา” หรือศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพปอดเชิงรุกแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจจากสภาพอากาศและมลภาวะ
นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดลำพูนได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยลำพูนเป็นจังหวัดอันดับ 3 ของประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงที่สุด และมีอัตราผู้สูงอายุประมาณ 32% ขณะที่ลำพูนเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้การคัดกรองโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพปอดมีความสำคัญยิ่ง
เทศบาลจึงร่วมกับภาคเอกชน โดย GSK และ ลำพูน ซิตี้ แลป รวมถึงภาคประชาชน จัดกิจกรรม “ชาวหละปูนฮักปอด” พร้อมเปิด “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว ภายใต้โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการยกระดับการดูแลสุขภาพของชาวลำพูน รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมให้มีการตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว
“เราเชื่อว่าสุขศาลาจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพเชิงรุกแก่ชาวลำพูน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์สุขภาพนี้ให้บริการตรวจสมรรถภาพปอดและคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คอยให้คำแนะนำและประเมินสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชาวลำพูนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ขอเชิญชวนชาวลำพูนทุกท่านเข้ารับบริการที่สุขศาลา เพื่อดูแลสุขภาพปอดให้แข็งแรง พร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าว
รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด กล่าวว่า “ลำพูน ซิตี้ แลป ได้ร่วมทำงานเชิงลึกกับนักออกแบบชุมชน เทศบาลลำพูน และทุกภาคส่วน รวมถึงประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและออกแบบพื้นที่สุขศาลา ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว ตอบโจทย์การเข้ามาใช้บริการของประชาชน
โดยปัจจุบันมีบริการทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1) การให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ 2) บริการตรวจสุขภาพโดยรวม และตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น และ 3) กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ
นอกจากนี้ โครงการคำนึงถึงการปรับภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศน์ของย่านเมืองเก่าลำพูนให้สมบูรณ์และสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยการนำศิลปะมาช่วยเยียวจิตใจ คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นความเป็นล้านนา เพื่อให้ชาวลำพูนมีความสุขกายสบายใจ ตลอดจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน
นางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK ในฐานะผู้นำด้านชีวเภสัช (Biopharma) มีเป้าหมายในการยกระดับสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คน และฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเน้นหลัก ESG องค์รวม ในการดูแลสุขภาพของผู้คนและดูแลโลกให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน (Healthier People, Healthier Planet)
“GSK เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากปัญหาคุณภาพอากาศของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) และ ลำพูน ซิตี้ แลป จัดกิจกรรม “ชาวหละปูนฮักปอด” ภายใต้โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ซึ่งร่วมกับทางเทศบาลเมืองลำพูน เพื่อรณรงค์ให้ชุมชนตรวจสุขภาพและตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ ร่วมปกป้องสุขภาพของประชาชนชาวลำพูนให้ห่างไกลโรค สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า การตรวจคัดกรองสมรรถภาพปอดเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการตรวจคัดกรองโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เนื่องจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรังมักมีการดำเนินโรคที่ยาวนานโดยไม่มีอาการในระยะแรก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพปอดมากขึ้น
“หลายคนอาจเข้าใจว่าการตรวจปอดทำได้แค่เพียงการ X-ray อันที่จริงแล้ว การ X-ray จะใช้ในการตรวจดูสุขภาพปอดว่าเป็นวัณโรคหรือมะเร็งปอดหรือไม่ แต่จริงๆ เราควรตรวจ ‘สมรรถนะปอด’ หรือวัดการทำงานของปอดด้วย โดยเครื่อง Peak Flow Meter ที่นำมาใช้ในสุขศาลานี้ จะช่วยให้สามารถพบภาวะปอดอุดกั้นหรือโรคหืดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่อาการจะรุนแรง ซึ่งช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจเสมือนการป้องกันโรคไม่ติดต่ออื่นๆ อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของจังหวัด” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
นางโสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ GSK กล่าวว่า “เรามองว่าการป้องกันรวมถึงการตรวจพบโรคได้เร็วเป็นเรื่องสำคัญ เครื่อง Peak Flow Meter มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งเป็นวิธีดูแลตัวเองที่คนทั่วไป ไม่เป็นโรค ไม่เจ็บป่วย ก็สามารถทำด้วยตัวเองได้ จริงอยู่ที่เครื่องนี้ราคาไม่ได้แพงมาก คืออยู่ในหลักร้อยถึงหลักพัน รวมแล้วลงทุนหลักหมื่น แต่เราสามารถดูแลคนได้เป็นพันคน
“เรามองว่าการป้องกันต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย มีอุปกรณ์ที่วัดได้ด้วยผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องนี้ควรเป็นเครื่องมือที่อยู่ในชุมชน ให้ทุกๆ คนสามารถมาตรวจสมรรถนะปอดแบบนี้ได้ทุกปี”
นางโสมสายังกล่าวอีกว่า การร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) คาดว่าจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในชุมชนเมืองลำพูนได้
“ความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากการบริจาค แต่จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของคนในชุมชนเอง และที่นี่เราเห็นความเข้มแข็งจากพาร์ทเนอร์หลายฝ่ายที่มาร่วมมือกัน และแต่ละคนก็เข้ามาในบทบาทที่ต่างกัน โดย GSK เราเข้ามาพร้อมกับการให้ความรู้ไปด้วย ไม่ใช่แค่การบริจาค และเน้นส่งเสริมสิ่งที่ชุมชนต้องการจริงๆ ส่วนในอนาคตคงต้องค่อยๆ ดูไปว่าชุมชนต้องการอะไร และเราจะสนับสนุนอย่างไรบ้าง” นางโสมรสากล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว จะเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความยั่งยืนต้องเริ่มให้ตรงจุด! อลิอันซ์ อยุธยา นำร่อง “สถานีแยกขยะชุมชนซอยพระเจน” มุ่งจัดการครบวงจร
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine