ณรงค์ เจียรวนนท์ เปิดกลยุทธ์ ชิงชัยสมรภูมิ “แข่งนกพิราบ” - Forbes Thailand

ณรงค์ เจียรวนนท์ เปิดกลยุทธ์ ชิงชัยสมรภูมิ “แข่งนกพิราบ”

เสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดีของ ณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) ดังขึ้นเป็นระยะ เมื่อหัวข้อสนทนาระหว่างเขากับ Forbes Thailand คือ “นกพิราบ” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่เขารักและผูกพันมาตั้งแต่เด็ก

  ณรงค์ คือทายาทคนที่ 3 ในจำนวน 5 คนของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และเป็นทายาทที่สืบต่อความรักในการเลี้ยงนกพิราบของผู้เป็นพ่อไว้ได้อย่างเข้มข้น แม้ภารกิจในฐานะหนึ่งในผู้นำระดับสูงของเครือซีพีจะรัดตัวเพียงใด แต่หากพอจะมีจังหวะอยู่บ้าง ณรงค์ก็มักหาเวลาว่างไปดูแลกรงนกของครอบครัวเจียรวนนท์ที่มหานคร Shanghai ประเทศจีน อยู่เสมอ หรือหากไม่สามารถไปได้ก็มักจะดูนกหรืออ่านรายงานผลการดูแลนกผ่านระบบออนไลน์ การแข่งขันนกพิราบที่ Shanghai นิยมแข่งแบบปล่อยนกจากจุดเดียวกันแล้วให้บินกลับกรงตัวเอง มากกว่าการแข่งขันแบบ One Loft Race ซึ่งประเภทหลังคือการนำนกแข่งทั้งหมดมาเลี้ยงรวมกันในที่เดียวทำการฝึกบินด้วยกัน เมื่อถึงเวลาแข่งก็จะไปปล่อยยังจุดที่กำหนดเพื่อให้นกบินกลับมาที่กรงเลี้ยง  
การแข่งขันนกพิราบแบบ One Loft Race ที่เลี้ยงในกรงเดียวกัน ในภาพคือกรงนกที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
  ท่ามกลางผู้เลี้ยงนกพิราบจำนวนหลายหมื่นกรงใน Shanghai ธนินท์และณรงค์ที่แข่งขันในนามชื่อกรง “Xie Guo Min” และ “Xie Han Ren” ตามลำดับ มีชื่อเสียงเป็นที่ครั่นคร้ามของนักแข่งนกพิราบชาวจีน เพราะสามารถคว้าแชมป์ระดับนานาชาติของจีนและระดับจังหวัดของ Shanghai (Shanghai Opened) มาครองแล้วหลายรายการ “เรามีกฎเหล็กอย่างนี้...กฎของท่านประธานฯ นั่นแหละ ท่านบอกว่า ‘นกต้องได้ที่ 1’” ณรงค์เอ่ย
ณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) ทายาทคนที่ 3 ของธนินท์ เจียรวนนท์
  ณรงค์ก่อตั้งกรงนกพิราบในจีนขึ้นเมื่อปี 2542 ในชื่อ “CP Loft” (Chearavanont Pigeon Loft) จากเดิมที่ครอบครัวเคยมีกรงนกพิราบที่ไทยและที่เบลเยียม และให้ บุญเชิด สมบัติ ผู้คลุกคลีกับนกพิราบมาเกือบทั้งชีวิตและคนไทยคนแรกที่แข่งนกพิราบในเบลเยียม มาเป็นผู้ดูแลการเข้าคู่นกพิราบเพื่อให้ได้นกรุ่นใหม่ๆ แล้วส่งแข่งที่จีนครั้งแรกปลายปี 2543   “คุณเล็กพึ่งคนเก่ง คนเก่งอยู่ที่ไหนคุณเล็กอยู่ที่นั่น เราไปยุ่งมากๆ ก็ช่วยเขาไม่ได้ แต่ถ้าในเชิงกลยุทธ์เราช่วยได้ คือไปต่อยอดกัน” ณรงค์ซึ่งแทนตัวเองด้วยชื่อเล่นบอกถึงหนึ่งในแผนการสร้างกรงนกพิราบให้แข็งแกร่งขึ้นมาอีกครั้ง   “นกบริหาร” จุดเด่นอย่างหนึ่งของณรงค์คือการมีนกสายพันธุ์ดีและมีความพิเศษอยู่ในครอบครองมาตั้งแต่ต้น เช่น นกพิราบตัวแรกที่ธนินท์มอบให้เขาในปี 2518 คือนกพิราบขาวที่เกิดในกรงนกของธนินท์ ซึ่งขณะนั้นไม่มีนกพิราบสีขาวอยู่เลย รวมทั้งนกสายพันธุ์ “36 Times Winner” (36 ครั้ง) ตั้งชื่อตามต้นตระกูลที่เคยแข่งได้ที่ 1 ถึง 36 ครั้ง และเป็นนกที่มาจากกรง Dick Postma Racing Pigeon เขาเทียบสายพันธุ์นกพิราบชั้นเยี่ยมในครอบครองเหมือนธุรกิจของเครือซีพีที่มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะในแต่ละช่วง ซึ่งการมีสายพันธุ์เยอะและรักษาทุกสายพันธุ์ไว้ได้อย่างดี หมายถึงสามารถเพาะนกให้เหมาะกับโอกาสต่างๆ ได้     ปัจจุบัน CP Loft มีนกพิราบแข่งราว 700 ตัว และนกพันธุ์ราว 300 ตัว ซึ่งแม้ณรงค์จะเน้นความหลากหลาย ทว่านกพิราบที่เป็น “แก่น” จริงๆ กลับมีจำนวนเพียงหลักสิบเช่นนกพันธุ์ที่มีตัวสำคัญอยู่เพียง 17 ตัวเท่านั้น เขาขยายความว่าแก่นดังกล่าวเหมือนกฎ Pareto หรือหลัก 80/20 คือสิ่งสำคัญหรือมีประโยชน์จะมีจำนวนน้อยกว่าสิ่งไม่สำคัญหรือไม่มีประโยชน์ คล้ายการทำธุรกิจค้าปลีกที่สินค้าต้องมีความหลากหลาย แต่ของที่เป็นชิ้นหลักจริงๆ มีอยู่ไม่กี่อย่าง   “หากไล่เพดดีกรีของนกทั้งหมด นกที่เปรียบเหมือน ‘top executives’ จริงๆ มีแค่นิดเดียวเท่านั้น” ผู้บริหารเครือซีพีเล่าพลางวาดมือเป็นยอดพีระมิด   งัดกลยุทธ์ชิงความเป็นหนึ่ง “จะชนะที่ 1 ได้อย่างไร อันนี้ชอบที่สุด นี่คือทั้งหมดและชีวิตจิตใจของการแข่งขันนกพิราบ” ณรงค์บอก นำสู่กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อผงาดขึ้นสู่การเป็นเบอร์ต้นของสมรภูมิแข่งนกพิราบแดนมังกร การแข่งขันนกพิราบที่ Shanghai จัดขึ้นช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-มิ.ย.) และฤดูใบไม้ร่วง (ต.ค.-ธ.ค.) แม้อากาศหนาวแต่นกยังบินได้ แต่ก็มีอุปสรรคคือฝนตกอยู่ตลอด นกพิราบของณรงค์จึงทำผลงานไม่ได้อย่างที่หวังไว้ ทางออกจึงเป็นการซื้อนกสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องฝ่าฝนและหิมะได้ หรือซื้อนกที่เป็นแชมป์การแข่งในสภาพอากาศดังกล่าว เพื่อนำมาเข้าคู่กับนกที่มี
นกพิราบ สัตว์เลี้ยงที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ชื่นชอบมาแต่วัยเยาว์
  เมื่อก่อนราคาเฉลี่ยของนกพันธุ์อาจอยู่ที่ตัวละ 20,000-30,000 หยวน หรือราว 100,000-150,000 บาท แต่เมื่อความนิยมในการซื้อนกพันธุ์ดีหรือนกแชมป์เพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อของชาวจีน นกบางตัวอาจมีราคาพุ่งขึ้นไปหลักแสนหยวนหรือหลักล้านหยวน “เราอ่านเพดดีกรีเป็น เราต่อยอดเป็น เมื่อต่อยอดเป็นแล้วการไปซื้อนกแพงๆ ก็ไม่ใช่เรื่อง” ณรงค์ให้ความเห็น อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าสายพันธุ์ที่ฝ่าฝนได้จะให้ลูกหลานที่มีคุณสมบัตินี้เสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ยีนเด่น-ยีนด้อย จึงต้องทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบว่านกตัวนั้นปรากฏยีนเด่นหรือมีความแข็งแกร่ง ผลของการวิเคราะห์และทดลองอย่างจริงจังทำให้ปัจจุบันนกของณรงค์สามารถติด Top 10 ได้ 2 ปีติดต่อกัน จากอันดับที่ 8 ในปี 2559 ขึ้นเป็นอันดับที่ 6 ในปี 2560 ในการแข่งขันนกพิราบแข่งที่บินด้วยความเร็ว 1,500 เมตร/นาที  
ณรงค์ขณะดูแลนกพิราบ
  “การแข่งขันนกพิราบก็เหมือนการทำธุรกิจและต้องมีนวัตกรรมตลอดเวลา คุณต้องจับ pain point ให้ได้ red ocean คุณก็ต้องตี blue ocean คุณก็ต้องตี คุณต้องเตรียมทุกทัพ ทุกสถานการณ์ ต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นปี ทุกอย่างคือกลยุทธ์” ณรงค์ยังส่งนกพิราบลงแข่งขันระดับชาติในปี 2551 ที่จุดแข่ง Zhengzhou ห่างจาก Shanghai ไปทางตอนเหนือราว 850 กิโลเมตร มีนกพิราบกว่า 60,000 ตัว เช่นจาก Beijing, Nanjing, Wuhan เข้าร่วม โดยนกของเขาเข้ามาเป็นแชมป์อันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการคว้าแชมป์ระดับนี้     ชื่อเสียงของณรงค์ยังเป็นที่เลื่องลือทุกปีในจุดแข่ง Tai-an ซี่งมีระยะทางห่างจาก Shanghai ไปทางตอนเหนือราว 700 กิโลเมตร จากสถิติการแข่งที่ผ่านมาพบว่ามีเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นที่หลุดจาก Top 10 “เราเก่งด้วยเฮงด้วย อย่างปีที่แล้ว CP Loft Shanghai แข่งที่ Shanghai ตลอดทั้งปีได้ถ้วยรางวัลประมาณ 20 ใบ เราไม่พูดว่าเราเป็นเบอร์ 1 แต่ก็อยู่แถวหน้า” สำหรับณรงค์ การเลี้ยงนกพิราบมอบความสุขทางใจให้มากกว่าจะเทียบเป็นเม็ดเงิน “ปีๆ หนึ่งอย่าพูดเลย มันแพงมาก” แต่ยืนยันว่าไม่ขายหากมีใครสนใจขอซื้อนก   ภาพ: อรรคพล คำภูแสน และเครือเจริญโภคภัณฑ์
คลิกอ่าน "ณรงค์ เจียรวนนท์ เปิดกลยุทธ์ ชิงชัยสมรภูมิ "แข่งนกพิราบ" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine