ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ต้องแก้แบบองค์รวม - Forbes Thailand

ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ต้องแก้แบบองค์รวม

จากการประเมินขององค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) 688.42 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คือ มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามของการหลอกลวงทางไซเบอร์ในปี 2567 ที่ผ่านมา ตัวเลขนี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสียหายที่ประชากรและธุรกิจทั่วเอเชียต้องเผชิญ แต่ยังสะท้อนถึงความจริงอันโหดร้ายของสถานการณ์การหลอกลวงทางดิจิทัลที่กำลังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่นอกจากจะมีการพัฒนาและนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายแล้ว กลับกลายมาเป็น “ดาบสองคม” ที่มิจฉาชีพใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์และหลอกลวงผู้คนในรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น


    รายงานประจำปี 2567 ที่จัดทำโดยองค์กรต่อต้านการหลอกลวงระดับโลก (GASA) และโกโกลุก ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall เผยให้เห็นว่า กว่า 40% ของประชากรในเอเชียต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และเกือบ 30% ตกเป็นเหยื่อภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังได้รับการติดต่อ

    ในอาเซียนประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่ประชากรต้องรับมือกับมิจฉาชีพมากที่สุดในภูมิภาครองจากฮ่องกง โดยมีตัวเลขที่น่าตกใจคือ 89% ของประชากรไทยที่ถูกสำรวจต้องรับมือกับมิจฉาชีพสูงสุดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตามด้วยมาเลเซีย 74% ฟิลิปปินส์ 67% สิงคโปร์ 65% และเวียดนาม 61%

    นอกจากนี้ ภัยคุกคามไม่จำกัดเพียงการโทรศัพท์และส่งข้อความ SMS แต่ยังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและแทรกซึมผ่านแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความยอดนิยมอย่าง WhatsApp และ LINE และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook และ Instagram สอดคล้องกับรายงานประจำปีของ Whoscall ที่พบว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา Whoscall สามารถตรวจจับสายฉ้อโกงสูงกว่า 38.6 ล้านครั้ง และข้อความหลอกลวงมากกว่า 129.9 ล้านครั้ง ซึ่งสูงกว่าปี 2566 ที่ตรวจจับสายมิจฉาชีพได้ 20.8 ล้านครั้ง และข้อความหลอกลวง 58 ล้านครั้ง

    ยิ่งไปกว่านั้นหนึ่งในการหลอกลวงรูปแบบใหม่ที่กำลังปรากฏอย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคคือ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี Deep Fake เป็นเครื่องมือในการสร้างกลโกงรูปแบบใหม่ที่แยบยลอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น การเลียนเสียงคนที่รู้จักและส่งข้อความหลอก

    ปัจจุบันองค์กรภาครัฐโดยเฉพาะในไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ได้ประกาศยกระดับให้การต่อต้านภัยไซเบอร์และปัญหาการหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์เป็นวาระแห่งชาติ และจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการต่อสู้กับการฉ้อโกงในทุกรูปแบบ

    ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2557 โกโกลุกในฐานะให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเชื่อมั่น (Trustech) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งทั่วอาเซียนในการยกระดับการป้องกันภัยมิจฉาชีพส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน Whoscall ด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่สร้างความเชื่อมั่นทุกๆ ช่องทางการติดต่อ ตั้งแต่การโทรศัพท์ ส่งข้อความ การตรวจสอบเว็บไซต์หลอกลวง การป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล

    รวมถึงผนึก 11 ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชนเปิดตัว Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพแห่งแรกในไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่ช่วยแจ้งเตือนภัยกลลวงและรับมือกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

    การต่อสู้กับการหลอกลวงทางดิจิทัลต้องอาศัยความร่วมมือเชิงรุกควบคู่ไปกับการออกมาตราการที่สำคัญ เช่น การแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศและเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อรื้อถอนเครือข่ายมิจฉาชีพข้ามชาติ การลงทุนในความรู้และเทคโนโลยีป้องกันแบบรวมศูนย์ระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพแบบองค์รวมให้แก่ประชาชน และที่ขาดไม่ได้คือ ความต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการป้องกันตัวจากภัยไซเบอร์ที่อยู่รอบตัวเรา

    ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมือทำ เพราะอนาคตทางดิจิทัลที่ปลอดภัยจะไม่เกิดขึ้นเองถ้าขาดความร่วมมือของทุกคนและทุกภาคส่วนในสังคม



บทความโดย Manwoo Joo ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด



Image by freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : AI เขย่าโลกการศึกษา เมื่อการพัฒนามาพร้อมความท้าทาย

อ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine