ศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำลังทบทวนคำพิพากษาของคดีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ต้องจับตาให้ดีว่าในครั้งนี้ศาลจะแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตหรือไม่ เพราะมันหมายถึงเสรีภาพในอนาคตของพวกเราทุกคน
ศาลสูงกำลังจะตัดสิน 2 คดีที่อาจจะเป็นการพลิกคำพิพากษาของคดีดังเมื่อปี 1984 ระหว่าง Chevron กับสภาคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติสหรัฐฯ
โดยในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาออกมาว่า ศาลต่างๆ ไม่ควรที่จะหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ เว้นแต่ว่าจะมีกฎหมายที่ระบุเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจง และถ้าหากกฎหมายเขียนไว้อย่างคลุมเครือหน่วยงานรัฐก็สามารถดำเนินการทุกอย่างได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งหลักการนี้เป็นที่รู้จักกันในเชิงกฎหมายว่า Chevron deference
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) ของรัฐบาลประธานาธิบดี Ronald Reagan กลับคำตัดสินซึ่งทำให้เกิดการฟ้องร้อง EPA และศาลอุทธรณ์ตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ
แต่ต่อมาศาลสูงสุดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พลิกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยระบุว่า เมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาในการตีความข้อกฎหมาย ศาลต่างๆ ต้องยึดตามการตีความของหน่วยงานรัฐ
ในตอนนั้นศาลของสหรัฐฯ กำลังถูกโจมตีอย่างหนักจากออกคำพิพากษาที่เหมือนกับการออกกฎหมายมาบังคับใช้เอง เช่น การกำหนดว่าโรงเรียนควรบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งถือเป็นการช่วงชิงอำนาจการออกกฎหมายมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ
ทั้งนี้ฝ่ายที่สนับสนุน Chevron deference มองว่าคำพิพากษาที่ออกมาเป็นวิธีที่จะควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการไม่ให้เกินเลยไป
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือเป็นกรณีคลาสสิกของการที่เจตนาดีนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลว เพราะ Chevron deference กลายเป็นคดีที่ทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจล้นเหลือโดยไม่ถูกตรวจสอบ ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยของ Bill Clinton เป็นต้นมา เมื่อไรก็ตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สามารถผลักดันโครงการของรัฐบาลผ่านสภาคองเกรสได้ก็หันไปสั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางดำเนินการแทน
ผลก็คือ รัฐบาลสหรัฐฯ มีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้พวกเราไม่ได้ถูกปกครองโดยกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส แต่ถูกปกครองโดยคำสั่งของฝ่ายบริหาร (executive order) และคำสั่งของหน่วยงานภาครัฐแทน
สภาคองเกรสเคยผ่านกฎหมายให้เลิกใช้รถยนต์และรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน แล้วเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนหรือเปล่า? เปล่าเลย มันมาจากคำสั่งของรัฐบาล (government decree) เท่านั้น
นอกจากนี้ Chevron deference ยังทำให้อำนาจของสภาคองเกรสถูกตัดตอนลงไปมากยิ่งขึ้นอีก โดยสมาชิกสภาคองเกรสตั้งใจผ่านกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกว้างและกำกวม เพื่อที่หน่วยงานรัฐจะได้เป็นผู้รับผิดชอบการตีความกฎหมายเอง หรืออาจถือเป็นการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐสร้างโครงการขึ้นมาเอง หรือบังคับใช้ข้อบังคับเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากของการออกกฎหมายมาเพื่อบังคับใช้เป็นการเฉพาะ
สภาคองเกรสเลือกที่จะโยนเผือกร้อนให้พ้นตัว ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายรัฐธรรมนูญด้วยการส่งต่ออำนาจที่ล้นฟ้าไปให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง
นอกจากนี้ คำพิพากษาในคดี Chevron ยังส่งผลให้นโยบายของรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลชุดใหม่สามารถที่จะเปลี่ยนคำตัดสินของรัฐบาลชุดก่อนได้
ประเด็นเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลสูงในขณะนี้คือ คดีที่ต้องพิจารณาว่าองค์กรบริการด้านการประมงทางทะเลแห่งชาติ (National Marine Fisheries Service) สามารถบังคับให้เจ้าของเรือประมงจ่ายค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ติดตามไปบนเรือเพื่อดูว่าการดำเนินงานเป็นไปตามหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งคู่กรณีแย้งได้อย่างถูกต้องว่าสภาคองเกรสไม่เคยให้อำนาจเช่นนั้นแก่องค์กรของรัฐ
ถึงเวลาแล้วที่ศาลสูงจะต้องยุติการไขว่คว้าและใช้อำนาจจนเกินเหตุของระบบราชการ
พลังงานนิวเคลียร์ยุคใหม่
พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันกลับมาให้ความสนใจกับการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดี เพราะเทคโนโลยีขั้นสูงต้องใช้พลังงานอย่างมากมายมหาศาล
โดยเทคโนโลยีคลาวด์ในทุกวันนี้ต้องใช้พลังงานมากเท่ากับประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ และเมื่อประเทศกำลังพัฒนาเติบโตขึ้นก็ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชากรนับร้อยล้านคนสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น อุปสงค์ของพลังงานนิวเคลียร์จึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ยอมรับความจริงว่าการใช้พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัยกว่าการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ พลังงานนิวเคลียร์ยังสะอาดกว่า และไม่สร้างมลพิษด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
ความอ่อนไหวทางอารมณ์ของสังคมที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังลดความรุนแรงลง เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ามลพิษจากรังสีของทั้งกรณีอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ Three Mile Island เมื่อปี 1979 และภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะเมื่อปี 2011 มีปริมาณน้อยมากๆ เรียกได้ว่าน้อยกว่ามลพิษที่เกิดจากการนั่งเครื่องบินระยะไกลสักเที่ยวหนึ่งเสียอีก หรือแม้แต่กรณีของ Chernobyl ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากการออกแบบไม่ดี และการที่รัฐบาลของสหภาพโซเวียตในยุคนั้นซุกปัญหาไว้ใต้พรม
ในปัจจุบันยุโรปก็เริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ โดยประเทศอังกฤษ สวีเดน ฝรั่งเศส และฮังการี ต่างพากันประกาศแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าขนานใหญ่โดยอาศัยพลังงานนิวเคลียร์
ในการประชุม UN Climate Summit รอบล่าสุดหลายประเทศตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ถึง 3 เท่าภายในปี 2050
ในขณะที่ชาวโลกเขาเปลี่ยนทัศนคติต่อนิวเคลียร์กันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่ในสหรัฐฯ กลับมีการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไปแล้วถึงกว่า 12 เตานับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนั้นเลย
การผลิตไฟฟ้าแนวทางใหม่โดยใช้พลังงานนิวเคลียร์กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการกรุยทางให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (Small Modular Reactor หรือ SMR) ซึ่งก่อสร้างได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังประหยัดเวลาและต้นทุนด้วย โดย SMR สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เฉพาะที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น เมือง วิทยาเขต ค่ายทหาร หรือศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล ซึ่งหากเปรียบกับพลังงานนิวเคลียร์แล้วก็เหมือนกับเอาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปเทียบกับเมนเฟรมคอมพิวเตอร์อย่างไรอย่างนั้น
ทั้งนี้มี SMR ประเภทหนึ่งที่ทำงานโดยใช้เกลือหลอมเหลวแทนน้ำในการระบายความร้อน ซึ่งเกลือหลอมเหลวยังสามารถใช้กักเก็บพลังงานได้ด้วย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางพัฒนาการของพลังงานนิวเคลียร์ นั่นคือกฎระเบียบของรัฐบาลที่คอยกีดกั้นเอาไว้ โดยทำให้ต้นทุนของโครงการสูงจนพัฒนาต่อไปไม่ได้
คณะกรรมการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Nuclear Regulatory Commission หรือ NRC) ได้ออกกฎที่น่าขันและไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย เช่น การกำหนดมาตรฐานปริมาณการรับรังสีที่เข้มงวดกว่าเกณฑ์การรับมลพิษทางอากาศของ EPA ถึง 100 เท่า ในขณะที่กระบวนการขออนุมัติแบบแปลนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยุ่งยากจนชวนปวดหัว มีบริษัทแห่งหนึ่งที่ใช้เวลานานถึง 6 ปีกว่าจะได้รับอนุมัติแบบแปลนการก่อสร้าง SMR ในขณะที่มีโครงการ SMR อีกโครงการที่ต้องพับไปเพราะถูกเตะถ่วงโดยกระบวนการกำกับดูแลของทางการ
สภาคองเกรสให้อำนาจกับ NRC ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ไม่ใช่สภาพความเป็นจริงของเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ความคร่ำครึของคนในระบบราชการทำให้การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของ NRC เป็นไปในทางที่ยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิมเสียอีก
ในการพัฒนานวัตกรรมมีแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า อัตราการเรียนรู้ (learning rate) กล่าวคือ เมื่อคุณทำงานในโครงการใดโครงการหนึ่งไปเรื่อยๆ คุณจะค้นพบวิธีใหม่ๆ ที่จะทำมันให้ได้ดีขึ้น แต่ NRC และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ กลับเป็นตัวฉุดรั้งกระบวนการเรียนรู้ตามปกติในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ซึ่งมีการคำนวณกันว่า ถ้าหากอนุญาตให้อัตราการเรียนรู้เป็นไปตามปกติแล้ว ต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะอยู่ที่ 10% ของต้นทุนในปัจจุบันเท่านั้น
ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ต้องต่อสู้อย่างเต็มที่กับกฎเกณฑ์ที่ไร้สาระพวกนี้ รวมถึงอุปสรรคอื่นๆ ที่ฉุดรั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของประเทศอยู่ในปัจจุบัน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เสียงแว่วที่น่าผวา จากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine