“ไบโอพลาสติก” จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมพลาสติกโลก - Forbes Thailand

“ไบโอพลาสติก” จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมพลาสติกโลก

เมื่อต้นทุนน้ำมันดันราคาพลาสติกปิโตรเลียมวิ่งแซงราคาต้นทุนไบโอพลาสติก หรือจะถึงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมพลาสติกโลกด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต “ไบโอเทคโนโลยี”

ตัวเลขในปี 2562 ที่ผ่านมาโลกของเรามีการใช้พลาสติกมากถึง 380 ล้านตัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิดพบว่า ในปี 2563-2564 ผู้คนลดการเดินทางออกจากบ้าน รวมถึงการไปรับประทานอาหารที่ร้าน ผลักดันให้บรรจุภัณฑ์อาหารจากพลาสติกถีบตัวสูงขึ้น แม้ผู้ประกอบการหลายแห่งหันมาใช้กระดาษ แต่กระดาษที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นต้องมีการเคลือบพลาสติกหรือโพลิเมอร์ เพื่อป้องกันความชื้นหรือไอน้ำจากอาหารที่ส่งผลให้กระดาษเปื่อยยุ่ยอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ที่พบเห็นในผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอบตัวจากของใช้ในชีวิตประจำวันล้วนแต่มีส่วนประกอบของโพลิเมอร์ทั้งสิ้น หนุนให้ปริมาณการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันแตะ 400 ล้านตัน ซึ่งหากเทียบปริมาณให้เข้าใจง่ายจะมีขนาดเท่ากับรถบรรทุก 40 ล้านคัน! ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น เม็ดพลาสติกที่ราคาขยับขึ้นมามากกว่า 120% เมื่อเทียบกับปี 2563 รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะไม่ลดลงในอีก 2 ปี และมีราคาที่ผันผวนเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตไบโอพลาสติกสบช่องในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้ไบโอพลาสติกมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าพลาสติกจากปิโตรเคมี ณ ราคาปัจจุบันได้เป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันกำลังการผลิตไบโอพลาสติกทั่วโลกมีเพียง 2.23 ล้านตันหรือเพียง 0.5% ของปริมาณการใช้พลาสติกทั้งหมด ซึ่งไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้มีเพียงประมาณ 1.36 ล้านตัน หรือมีสัดส่วนเพียง 58% โดยเป็นไบโอพลาสติกประเภท PLA, PHA และ starch ซึ่งคาดว่าไบโอพลาสติกประเภท PHA จะมีอัตราการเติบโตสูงสุดประมาณ 10 เท่าใน 5 ปีนับจากนี้ จากคุณสมบัติเด่นที่มีลักษณะคล้ายพลาสติกประเภทคืนตัว (thermoplastic) ใกล้เคียงกับพลาสติกจากปิโตรเลียม รวมถึงเข้ากับสิ่งมีชีวิตได้ดี เพราะผลิตด้วยการเลี้ยงในเซลล์สิ่งมีชีวิตคือ แบคทีเรียย่อยสลายเร็วที่สุด แต่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงด้านไบโอเทคในการเลี้ยงคุมสภาวะในเตาปฏิกรณ์ชีวภาพราคาแพง จึงทำให้ยังมีต้นทุนที่สูงมาก ปัจจัยต้นทุนการผลิตหลักของไบโอพลาสติกมาจากการลงทุนของเครื่องจักรและต้นทุนด้านพลังงาน utilities ที่ทำให้กระบวนการปลอดเชื้อ เปลี่ยนโครงสร้างคาร์บอน ส่วนวัตถุดิบจะเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำหากในประเทศมีแหล่งวัตถุดิบปริมาณมาก เช่น ผลิตผลของเหลือจากการเกษตร ดังนั้น แนวทางสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ผู้ผลิตต้องเร่งพัฒนาคือ กระบวนการผลิตและเครื่องจักรที่ต้นทุนต่ำลง และใช้พลังงานหมุนเวียนจากการผลิตอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมาแชร์กันให้ต้นทุนต่ำที่สุด ปัจจุบันผู้ผลิตไบโอพลาสติกรายสำคัญของโลกยังอยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก และเริ่มมีผู้ผลิตรายใหญ่จากจีน ญี่ปุ่น ส่วนแหล่งวัตถุดิบสำคัญอีกแห่งของโลกอยู่ที่บราซิลจากการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักของไบโอพลาสติก ถึงแม้จะมีวัตถุดิบปริมาณมาก แต่ต้นทุนปัจจัยสำคัญของการผลิตไบโอพลาสติกคือ เทคโนโลยีขั้นสูง เครื่องจักร เครื่องมือวัด และระบบควบคุมที่ต้องเป็น real time detection & auto adjustment automation เพื่อการควบคุมการผลิตที่ยังคงมีราคาสูง และจำเป็นต้องมีทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เข้มแข็งเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตไบโอโพลิเมอร์ต้นน้ำเพียง 3 ราย ได้แก่
  1. บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด ไบโอเทคสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยี สร้างไลน์ผลิตไบโอโพลิเมอร์ประเภท PHA รายเดียวในอาเซียน และรายที่ 13 ของโลกในต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะพัฒนาไปสู่การผลิตเครื่องจักรได้เอง มีทีมนักวิทยาศาสตร์ biotech วิศวกร bioengineering /mechatronics พัฒนาเครื่องจักรและไลน์ผลิตเอง โดยใช้วัตถุดิบเหลือใช้จากการผลิตเครื่องดื่มผลไม้ ผลไม้แช่แข็ง โดยมีพื้นฐานทางวิศวกรรมมาจากการผลิต cold aseptic line จากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มผลไม้
  2. กลุ่ม Total-Corbion บริษัทน้ำามันและปิโตรเคมีรายใหญ่จากยุโรป (ฝรั่งเศส) ซึ่งมาลงทุนไลน์ผลิตไบโอพลาสติก PLA ขนาด 75,000 ตันที่ระยอง
  3. และรายที่ 3 กำลังจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอพลาสติก PLA ที่นครสวรรค์ โดยกลุ่ม NatureWorks จากสหรัฐอเมริการ่วมกับ PTTGC ของกลุ่ม ปตท.
ประเทศไทยถือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญเนื่องจากมีของเหลือจากการเกษตรเหลือทิ้งปริมาณมาก และด้วยสภาพอากาศที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ แบคทีเรียหลายๆ สายพันธุ์ ซึ่งเมื่อมีการผลิตในปริมาณมากจะทำให้ลดต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในการสร้างสภาวะการเติบโตของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่ใช้ในการสร้างผลผลิตในปฏิกิริยาชีวภาพ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมไบโอโพลิเมอร์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ deep technology ที่ใช้ความเชี่ยวชาญของทีมงานขนาดใหญ่ในหลายๆ ด้าน ใช้เม็ดเงินลงทุนสูงในระดับหลายพันล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่มาจากผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลาสติก หรืออุตสาหกรรมเกษตรที่มีความพร้อม ซึ่งถือเป็นการ diversify ขยับเข้าหาธุรกิจใหม่ ลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันซึ่งมีความผันผวนสูงและมีโอกาสจะหมดลงได้ ขณะที่สตาร์ทอัพเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาจากงานวิจัย ด้วยสเกลขนาดเล็กแต่มีอัตราการเติบโตสูง จากการพัฒนาเทคโนโลยีไปขยายสเกลในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้เติบโตก้าวกระโดดแบบเป็นหน่วยธุรกิจและเข้าไปในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด วัสดุทางการแพทย์และความงาม ส่วนผสม วัตถุดิบสำหรับอาหารแห่งอนาคตเป็นต้น ซึ่งรูปแบบการเติบโตจึงเป็นแบบ 10 เท่า หรือ 100 เท่าได้ในอนาคต เห็นได้ชัดจากตัวอย่างสตาร์ทอัพไบโอเทคที่เพิ่งระดมทุนรอบใหญ่ไป เช่น RWC Industries ผู้ผลิต PHA ที่มีโรงงานในรัฐ Georgia ประเทศสหรัฐอเมริกาแต่นำบริษัทมาจดที่สิงคโปร์ ผลิต PHA เป็นสารโพลิเมอร์เคลือบกระดาษกำลังจะระดมทุนรอบล่าสุด 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8 พันล้านบาท ทำาให้มูลค่า ธุรกิจขึ้นไปถึงประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญ หรือ 3.8 หมื่นล้านบาท บริษัท Danimer Scientific ที่ผลิต PHA จาก canola oil ก็กำลังทำ IPO นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมี market cap ประมาณ 2 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท และบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด ของไทยที่จดทะเบียนบริษัทแม่ไว้ที่ British Virgin Island ซึ่งจะนำบริษัท IPO เข้าตลาดสหรัฐฯ ช่วงต้นปี 2565 ที่มีกระบวนการผลิตแตกต่างและหลากหลายกว่าผู้ผลิตรายอื่นที่มุ่งผลิตเม็ดไบโอพลาสติกเรซิน แต่ฟรุตต้า ไบโอ เน้นผลิตจากต้นน้ำไปถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง เช่น functional packaging วัสดุทางการแพทย์ ส่วนผสมเครื่องสำอาง functional ingredient โมเดลอุตสาหกรรมการผลิตในอนาคตจะเปลี่ยนไป จากเดิมโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจะเริ่มเกิดขึ้นได้ยาก และมีต้นทุนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มองไม่เห็นเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีต้นทุนการสร้าง facilities/utilities ที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มต่อผลิตภัณฑ์ เช่น โรงเก็บแก๊สขนาดใหญ่ โรงผลิตไฟฟ้า และบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งสะท้อนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น กลับกันในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยโมเดลของการผลิตในรูปแบบสเกลขนาดกลางและเล็กแต่ได้ประสิทธิภาพสูง ควบคุมความเสี่ยงง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรระดับสูงที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้านมากจนเกินไป ด้วยระบบ automation และ IoT ที่ลงทุนครั้งเดียวกับ data & process condition infrastructure แล้วกระจาย network ควบคุมดูแลได้หลาย micro manufacturing nodes จะทำให้ต้นทุนโดยรวมที่สะท้อนไปถึงผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคมีเท่าที่จำเป็น และสร้างความเจริญที่กระจายตัวออกไปได้หลายพื้นที่ เช่นเดียวกับการเกษตรที่ลดแบบ single crop มุ่งสู่ multi crop เช่นกัน   รักชัย เร่งสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทีมวิศวกรรม บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine