เศรษฐกิจเสรีในร่มเงากระแสชาตินิยม - Forbes Thailand

เศรษฐกิจเสรีในร่มเงากระแสชาตินิยม

“การเมืองเราต้องเปลี่ยน เราต้องเน้นการเมืองที่ให้ความสำคัญกับ ‘ข้อเท็จจริง’ มากกว่านี้ และถ้าการเมืองจะเปลี่ยนสื่อมวลชนต้องเปลี่ยนด้วย วิธีรายงานข่าวการเมืองต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองเรายุคนี้เน่าเฟะ แต่มันน่าจะดีกว่านี้ได้”

อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นการบรรยายสถานภาพของไทยได้ดี เพียงแต่ว่าบทความนี้ผมอ่านมาจากสื่ออังกฤษที่เขียนถึงสภาพการเมืองและสื่อหลังประชามติเรื่อง Brexit ที่ความเห็นของประชากรในแต่ละประเทศที่รวมตัวกันเป็นสหราชอาณาจักรนั้นแตกต่างกันมากผมไม่แปลกใจกับผลประชามติครั้งนี้ ผมมีประสบการณ์ไม่น้อยกับความผิดพลาดที่คิดว่าชาวบ้าน ‘ควร’ จะเลือกอะไร แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่ครั้งนี้ผมมั่นใจแต่แรก เพราะผมมองว่าชาวบริติชจำนวนมากไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นคนยุโรป และลึกๆ จะมองว่าเป็นผู้ที่แบกภาระในการกอบกู้ยุโรปมานับครั้งไม่ถ้วนรอบนี้ความขัดแย้งสูงเพราะมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีทัศนคติที่แตกต่างจากชุดความคิดแบบโลกเก่านี้ ตัวอย่างง่ายๆ คือคนอังกฤษรุ่นใหม่ที่รักอิสรภาพในการเลือกใช้ชีวิตในฐานะคน EU และเขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมาเลือกอะไรที่จำกัด หรือลดทอนโอกาสของตัวเอง แต่ก็จะมีคนอังกฤษอีกกลุ่มที่เห็นชาวต่างชาติจากประเทศสมาชิก มาอาศัย ทำงาน ขณะที่ลูกๆ ได้เรียนหนังสือด้วย และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบ้านของตัวเองวันนี้ประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับชาว ‘บริติช’ มากที่สุดไม่ใช่ค่าเงินปอนด์ตลาดหุ้นสิทธิการเคลื่อนไหวอย่างเสรีให้ทวีปยุโรปหรือการที่สก็อตแลนด์คิดจะแยกตัวออกเพื่อกลับไปรวมกับ EU แต่สิ่งที่น่ากังวลใจมากที่สุดคือความแตกแยกในสังคม และความไม่เข้าใจกันแนวโน้มทางการเมืองทั่วโลกช่วงนี้น่าเป็นห่วง (ซึ่งจะส่งแรงกระเพื่อมต่อตลาดเงินและตลาดทุนที่มีความอ่อนไหวสูงมาก และระบบเศรษฐกิจโลกแน่นอน) ฉันทามติต่อระบอบการปกครองตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมากำลังถูกท้าทายอย่างแรง ระบอบโลกาภิวัตน์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันในรูปขององค์กรหรือกลุ่มระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ EU หรืออาเซียน และการรวมกลุ่มกันนี้ได้นำไปสู่การค้าเสรีการเคลื่อนไหวของประชากรอย่างที่ไม่เคยปรากฏในอดีต พรมแดนเริ่มกลายเป็นเพียงเส้นในแผนที่ หลายๆ ประเทศมีลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม และทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การลดความยากจน และภาวะปลอดสงคราม (ขนาดใหญ่) ประเด็น คือ ตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมีปัญหา เราจะโทษคนอื่นมากกว่าที่จะต้องทบทวนตนเองและวันนี้ “คนอื่น” ที่ถูกกล่าวโทษคือคนต่างชาติ คือ ระบบทุนนิยม คือการค้าเสรี ซึ่งหากทุกประเทศเริ่มคิดอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลก และความเป็นอยู่ของประชาชน ช่วงหลังผลประชามติ มีรายงานว่ามีการแสดงการเหยียดสีผิวและคนต่างชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหลาย 10 ปี นี่ไม่ใช่โลกที่เราต้องการ แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วโลกกำลังนำพราเราไปในทิศทางนั้น ที่ซ้ำร้ายคือโซเชียลมีเดียมีส่วนในการกระพืออารมณ์ แต่ผมมองว่าระบอบประชาธิปไตยที่ให้โอกาสประชาชนแสดงออก เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะกระตุ้นเตือนกลุ่มชนชั้นนำไม่ให้ติดกับดักความคิดของตัวเอง ไม่ให้เชื่อว่าสิ่งที่ตัวมองว่าดีนั้นจำเป็นต้องดีสำหรับทุกคนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสื่อมวลชนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสนับสนุนหรือคัดค้านการแยกตัวจาก EU พูดง่ายๆ แม้ว่ากระบวนการประชามติอาจมีส่วนกระตุ้นให้ความขัดแย้งปรากฏ แต่ไม่ได้เป็นตัวสร้างความขัดแย้ง ความขัดแย้งนั้นมีตัวตนอยู่แล้วและกลไกประชาธิปไตยเช่นที่เราเห็นในอังกฤษช่วยทำให้สังคมมีโอกาสรับรู้ว่าเพื่อนร่วมชาติเขาคิดอย่างไรสัญญานจากทาง EU เองในช่วงที่ผ่านมานั้นก็ไม่สู้ดีเช่นกัน สาเหตุหลักที่ชาวบริติชตัดสินใจละทิ้ง EU ก็เพราะ EU ไม่ฟังใคร ไม่ยืดหยุ่นที่จะปรับตัวเข้ากับความคาดหวังของประชาชน และยังดูเหมือนไม่พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองแต่กลับแสดงความไม่พอใจต่อการดื้อแห่งของชาวบริติช ผู้ใหญ่ใน EU กลับแสดงอารมณ์ขับไล่ให้สหราชอาณาจักรลาออกไปเร็วๆ และแม้แต่ขู่จะยกเลิกการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนต่อสังคมทุนนิยมประชาธิปไตย รวมทั้งประเทศไทยที่เศรษฐกิจเจริญรุดหน้ามาได้เพราะการยึดมั่นในการค้าเสรี ที่เปิดโอกาสให้คนเก่ง คนที่มีหัวคิดดีมีฝีมือได้สร้างธุรกิจ สร้างงาน สามารถแข่งขันและค้าขายกับเพื่อนบ้านและตลาดโลก โลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ไทยสามารถวางตัวให้เป็นผู้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่เราต้องไปด้วยกัน ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยโดยรวมต้องมีอารมณ์ร่วมว่าเราจะเดินไปในทางที่เขามีโอกาสที่จะได้ประโยชน์หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างจะง่ายขึ้นครับ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
คลิ๊กอ่านบทความทางธุรกิจ เพื่อเติมได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ AUGUST 2016