เศรษฐกิจชีวภาพ - Forbes Thailand

เศรษฐกิจชีวภาพ

มิติในการเฝ้ามองการขยายตัวทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปหลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ได้เข้าสู่มาตรฐานใหม่ (new normal) ในระดับร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับร้อยละ 5 - 6 ต่อปี เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเศรษฐกิจที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมิใช่หนทางที่ยืนหยัดได้ดังแต่ก่อน เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ได้ตอบสนองการส่งออกที่สดใสอีกต่อไป ความจำเป็นในการแสวงหาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันต้องเริ่มจากรากฐานที่แข็งแกร่งที่มีอยู่ “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญ “เศรษฐกิจชีวภาพ” หรือ “bio economy” เป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานของการวิจัยพัฒนานวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพ รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ของเสียหรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ และชุมชน มาพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” ที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ผสมผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญา สร้างงานสร้างรายได้ทุกห่วงโซ่การผลิต ส่งผลต่อการปฏิรูปภาคเกษตร อาหาร สาธารณสุขและการแพทย์ พลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องทรัพยากรชีวภาพ เพราะตั้งอยู่ในแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญสูงสุด 8 อันดับแรกของโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของโลก มีจำนวนชนิดพืช 13,500 ชนิด โดยกว่าร้อยละ 52 ไม่พบที่อื่นอีกและมีจำนวนชนิดพืชที่มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ถึง 1,800 ชนิดหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีสัดส่วนร้อยละ 12.5 เท่านั้น ประเทศไทยจึงมีศักยภาพสูงมากในการเติบโตด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ หลายประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เยอรมนี และหลายประเทศในเอเชีย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และมาเลเซีย ได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย “เศรษฐกิจชีวภาพ” มาระยะหนึ่งแล้ว โดยสหภาพยุโรป ระบุว่าในปี 2012 เศรษฐกิจชีวภาพก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้มีการจ้างงานมากกว่า 22 ล้านคน เช่นเดียวกับมาเลเซียที่อุตสาหกรรมชีวภาพสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2011 เป็น 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2013 อาจกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมชีวภาพโดยรวมเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพและอาหารที่มีสรรพคุณทางยา (nutraceutical) ที่มีมูลค่าการเติบโต 168 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2013 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 305 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 8.5 ต่อปี ตลาดอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ วัสดุชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าทั่วโลกรวมทั้งสิ้นประมาณ 57.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2012 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2018 ด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7.7 ต่อปีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจชีวภาพจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้เมล็ดพันธุ์เศรษฐกิจชีวภาพสามารถเติบโตเบ่งบานได้อย่างรวดเร็วเช่น ต้องสร้างกลไกในการขับเคลื่อนระดับประเทศ และระดับปฏิบัติที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันระหว่างรัฐ เอกชนและประชาชน มีการกำหนดนโยบายที่มีความต่อเนื่องและสามารถถ่ายทอดสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดทำคลังหรือธนาคารเก็บรักษาชีวพันธุ์ของประเทศ (national biobank) ที่ได้มาตรฐาน การจัดทำระบบบัญชีรายการทรัพยากรพันธุกรรมพร้อมฐานข้อมูลระดับประเทศ รวมถึงการบอกแหล่งที่มาและการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างเป็นธรรม เศรษฐกิจชีวภาพจะเป็นหมุดหลักสำคัญของเศรษฐกิจกระแสใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนรากฐานของความหลากหลายทางชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ เพิ่มผลิตภาพการผลิตในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง สร้างงานและสร้างรายได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน และสร้างแบรนด์ไทยในเวทีโลก เปลี่ยนสถานะจากการเป็นประเทศ “รับจ้างการผลิต”มาเป็นประเทศที่ใช้ “การพัฒนานวัตกรรม” จากความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและจากทุนทรัพยากรชีวภาพของประเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์การเดินหน้า “เศรษฐกิจชีวภาพ” อย่างจริงจังจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพลิกโฉมประเทศไทยในอนาคตได้อย่างแน่นอน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
คลิกอ่านบทความด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine