เปิดเวทีให้ ‘Jack Ma’ คนต่อไป โดย กรณ์ จาติกวณิช - Forbes Thailand

เปิดเวทีให้ ‘Jack Ma’ คนต่อไป โดย กรณ์ จาติกวณิช

ในปี 2014 บริษัทอินเทอร์เน็ตจีนที่ชื่อ Alibaba เข้าสู่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นครั้งแรก ด้วยสถิติการซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้ก่อตั้งบริษัทชาวจีนที่ชื่อ Jack Ma กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกในทันที หลังจากที่เขาได้ริเริ่มกิจการนี้ในห้องพักตัวเองเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผมมั่นใจว่า ในอีกไม่ถึง 15 ปีข้างหน้าก็จะมีผู้ประสบความสำเร็จเช่นนี้อีก จะมีอีกหลายคนด้วย และเป็นไปได้ที่หนึ่งในนั้นจะมาจากประเทศไทยเราเอง ผมลองไปสำรวจอนาคตในงานชื่อว่า Echelon ซึ่งเป็นงานที่ผู้ริเริ่มกิจการที่เป็นอี-คอมเมิร์ซ หรือบริษัทสตาร์ทอัพ ทั้งหลายมาเสนอตัวให้กับเหล่านักลงทุนเฉพาะทางที่มาคอยสอดส่อง (เผื่อว่าจะได้เจออะไรแบบ Facebook, Google หรือแม้แต่ Alibaba ตัวใหม่) งานนี้เป็นเหมือนกับงานเทรดแฟร์ที่มีสินค้าเป็นบริษัทเกิดใหม่ที่ต้องการทุนหรือต้องการโอกาสในการเปิดตัว ในสมัยที่ผมอยู่ในวงการหุ้น เรามีงานลักษณะคล้ายๆ อย่างนี้ที่เราเรียกว่า Investor Conference ซึ่งล่าสุดจัดไปโดยมีตลาดหลักทรัพย์เป็นเจ้าภาพ ในงานก็มีบริษัทอย่าง ปตท. และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มาเสนอผลประกอบการให้กับนักลงทุน ความคล้ายกับงานของตลาดหลักทรัพย์คือมีการนำเสนอโดยผู้ประกอบการ มีนิทรรศการ มีองค์ปาฐกเป็น keynote มีผู้มาร่วมจากหลากหลายประเทศ และภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ สิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างงาน Echelon กับงานสำหรับนักลงทุนในอดีต คือบรรยากาศและการบริหารจัดการ งานนี้เป็นงานเอกชนล้วนๆ ไม่มีนายพลมาเปิดงาน ไม่มีใครใส่สูท ไม่มีอารัมภบท (ความจริงมีนิดหน่อยโดยเจ้าของสถานที่ ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที) แต่งานนี้มีเสียงเชียร์ผู้ขึ้นเวทีเหมือนอยู่ในบาร์เบียร์อเมริกัน และที่สำคัญคือ นอกจากจะมีการจำกัดเวลาผู้พูดไว้คนละประมาณ 10 นาทีแล้ว ยังมีการกำหนดให้อยู่ในกรอบเวลาอย่างเคร่งครัดโดยไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น ดังนั้นทุกคนที่พูดต้องเตรียมตัวมาอย่างดี พูดให้กระชับและครบถ้วนได้ใจความ ที่น่าปลื้มคืองานสำคัญของเอเชียงานนี้ไม่ได้จัดที่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ หรือสิงค์โปร์ แต่งานนี้จัดที่กรุงเทพฯ นี่เองครับ ดังที่รัฐบาลคุณประยุทธ์บอกว่าจะส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยที่สุด และจากที่ผมได้เห็นวันนั้น ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดที่รัฐบาลจะช่วยได้คือช่วยเปิดทางให้เอกชนจากทั่วโลกเข้ามาสร้างธุรกิจของเขาที่นี่ ที่สำคัญคือรัฐอย่าสร้างเงื่อนไขมาก และอย่าแม้แต่คิดที่จะลงมือทำธุรกิจเอง เพราะไม่มีทางสู้เด็กพวกนี้ได้ครับ เด็กรุ่นนี้เขาอาจจะริเริ่มกิจการของเขาที่เมืองไทยก็จริง แต่ทุกคนถูกฝึกมาให้คิดเผื่อไว้แต่แรกว่าจะขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างไรโดยเร็ว หน้าที่ของรัฐคือสนับสนุนและเปิดทางสะดวก เพื่อให้เราได้พบกับ Jack Ma คนต่อไปในสิบปีข้างหน้า แต่เขาจะเป็นใครนั้นผมก็ยังไม่แน่ใจ แต่ที่มั่นใจคือเรามีอนาคตที่จะก้าวไปได้อีกไกลแน่นอน ผมได้มีโอกาสไปฟัง Masayoshi Son เจ้าของบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นชื่อ SoftBank พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจากมุมมองของเขา Son เป็นมหาเศรษฐีที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของเขา มีกำไรมหาศาลจากการเข้าไปถือหุ้นใน Alibaba ของ Ma ก่อนที่ Alibaba จะเข้าตลาดหุ้น และมีตำนานเล่าว่าหลังจากที่ Son อึดอัดมานานกับความล่าช้าในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของญี่ปุ่น เขาได้บุกเข้าไปในที่ทำงานของรัฐมนตรี ICT พร้อมถังนํ้ามันหนึ่งถัง และขู่ว่าหากรัฐมนตรีไม่ยอมฟังข้อเสนอของเขาสักครึ่งชั่วโมง เขาจะจุดไฟเผาตัวเอง (และคงเผารัฐมนตรีไปด้วยพร้อมกัน!) จากนั้นจึงมีการปฏิรูปธุรกิจโทรคมนาคมที่ญี่ปุ่น และ Son ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจของเขาขึ้นมา เขาเล่าว่าที่ผ่านมาการพัฒนาของมนุษย์มีการก้าวกระโดดสำคัญสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อหลายพันปีก่อนคือการปฏิวัติทางการเกษตร (เริ่มทำฟาร์ม) จากนั้นเมื่อสามร้อยปีก่อนก็คือการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม (เริ่มมีเครื่องจักร) มาวันนี้ความก้าวกระโดดในการพัฒนาขั้นต่อไปมาจาก Information Technology (IT) เขาเปรียบเทียบให้ดูว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนารถยนต์ให้วิ่งเร็วขึ้นประมาณ 2 เท่า แต่การทำงานของ Micro Processor มีการพัฒนาให้เร็วขึ้นถึง 1 ล้านเท่า ประเด็นสำคัญของเขาคือ เขาบอกว่า ‘ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้’ คือ Artificial Intelligence (AI) จะมีการพัฒนาให้ฉลาดกว่ามนุษย์ได้ภายในอีก 2-3ปี (เขาวัดโดยเปรียบเทียบว่าในสมองมนุษย์มี 4 หมื่นล้าน ‘นิวทรอน’ ซึ่งภายในปี 2018 จะมี transistor กว่า 4 หมื่นล้านตัวในหนึ่ง microchip) และเร็วๆ นี้ถ้านำ AI ไปวัด IQ จะพบว่ามันมี IQ สูงถึง 10,000 เมื่อเทียบกับมนุษย์อัจฉริยะอย่าง Einstein ที่มี IQ ประมาณ 200
คำถามคือ เมื่อเป็นเช่นนั้นชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เราควรต้องกลัว AI หรือไม่ จะมีอาชีพไหนเหลือให้มนุษย์ และถ้าอายุเราจะยืดยาวถึง 200 ปีจากมาตรฐานการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น เราจะอยู่กันอย่างไร แบ่งทรัพยากรกันอย่างไร ผมยังไม่มีคำตอบ แต่ที่แน่นอนคือหากเราปฏิเสธความจริงว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราก็จะมีแต่เสียเปรียบผู้อื่น ลองนึกดูสิครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ในอดีตที่ไม่ได้เรียนรู้การเกษตรกรรม หรือเกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่ไม่ได้พัฒนาทางอุตสาหกรรมพร้อมกับประเทศทางตะวันตก คำตอบก็คือสูญพันธุ์บ้าง กลายเป็นเมืองขึ้นเขาบ้าง ดังนั้นเราต้องตื่นตัวกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางด้าน IT ให้ได้ครับ
กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะทำงานด้านนโยบายพรรคประชาธิปัตย์
คลิ๊กเพื่ออ่านบทความหลากหลายทัศนะได้ที่ Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine