หลีกเลี่ยงความรู้สึก “เสียใจ” - Forbes Thailand

หลีกเลี่ยงความรู้สึก “เสียใจ”

เรียบเรียง: ชนกานต์ อนันตคุณากร การทำงานที่ Forbes เป็นเหมือนใบเบิกทางให้ได้เรียนรู้ชีวิตผู้คนที่ประสบความสำเร็จ ผมชอบถอดรหัสชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จเพื่อเรียนรู้ว่าพวกเขาทำอย่างไรถึงมีชีวิตที่พรั่งพร้อมและสมบูรณ์แบบ ชีวิตของ Warren Buffet เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับเรื่องราวของ Bill Gates และ Steve Jobs สำหรับชีวิตของ Jobs อาจจะขลุกขลักอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้น แต่สุดท้ายเขาก็สามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปได้ด้วยดี Jobs เคยตกเป็นข่าวใหญ่จากการที่เขาปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดสาวน้อยที่ชื่อ Lisa แต่สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าเธอเป็นบุตรสาวของเขาและทำตัวใหม่เป็นพ่อที่ทุ่มเทและคอยดูแลเอาใจใส่เธอเป็นอย่างดีนับแต่นั้น ซึ่งมันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Jobs คนใหม่จะไปได้สวยในอาชีพการงานจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำและผู้บริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จในที่สุด “ความเสียใจ” เป็นความเจ็บปวดอันเกิดจากความรู้สึกผิดบาปและความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พลั้งเผลอไปทำเรื่องโง่เง่า หลายต่อหลายคนจะทุกข์ทรมานอยู่กับความเสียใจที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง เราโกงคนอื่น เราทำลายคนอื่นด้วยการนินทา เราฉีกหน้าเพื่อนร่วมงานให้ได้รับความอับอาย เราทำร้ายลูกหลานของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องเสียใจ เราปล่อยให้ปัญหาหมักหมมโดยไม่คิดหาทางแก้ไขและความผิดบาปและความโง่เขลาเหล่านั้นก็พอกพูนและกัดกินใจเรา คนที่ประสบความสำเร็จใช่ว่าจะไม่เคยทำสิ่งผิด แต่พวกเขายอมรับในสิ่งที่ตัวเองได้เคยทำผิดพลาดและพยายามหาทางลดเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น ถึงตรงนี้ผมคงต้องบอกไว้ก่อนว่า การสวมบทบาทในการให้คำแนะนำด้านจิตวิเคราะห์เป็นความกล้าบ้าบิ่นซึ่งผมไม่เคยคิดจะทำมาก่อนในชีวิต ต่างกับ Steve Jobs ที่คอยหาหนทางแก้ไขและวันหนึ่งเขาก็สามารถทำมันได้สำเร็จ อย่างที่รู้กันอยู่ว่า Jobs เป็นคนที่มีบุคลิกขัดแย้งในตัวเองจนส่งผลลบในการดำเนินชีวิต แต่เขาก็พยายามหาทางแก้ไขพฤติกรรมแย่ๆ ที่ทำร้ายตัวเองจนสามารถปรับความเข้าใจกับลูกสาวได้สำเร็จในที่สุด ในขณะที่ Felix Dennis เจ้าของสำนักพิมพ์นิตยสารชื่อดังในประเทศอังกฤษ ผู้ได้ชื่อว่าทำธุรกิจด้วยวิธีการสกปรก กลับเลือกที่จะกลบความรู้สึกผิดด้วยการใช้โคเคนและเหล้าเป็นที่พึ่ง และเมื่อเขาประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงาน โชคชะตากลับเล่นตลกกับชีวิต เขาพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา Dennis เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า How to Get Rich ซึ่งเขาได้พรรณนาความผิดหวังเสียใจที่ผ่านมาในชีวิต รวมถึงการตัดสินใจเลิกใช้โคเคน เลิกสูบบุหรี่ และเลิกพฤติกรรมการดื่มสุราอย่างหนัก เขาตั้งใจว่าจะปรับลดเวลาทำงานให้น้อยลงและหันมาทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากการเขียนหนังสือและการประพันธ์บทกวีแล้ว เขายังตั้งใจว่าจะปลูกป่าเพื่อทิ้งไว้เป็นมรดกให้กับคนรุ่นหลังสืบไป พวกที่มุ่งความสำเร็จในทางโลกมักเป็นคนที่มีภาวะผู้นำและชื่นชอบเรื่องตื่นเต้นผจญภัย คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำผิดในเรื่องที่จริงๆ แล้วก็สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ อย่างชีวิตของ Babe Ruth นักเบสบอลชื่อดังที่มีพฤติกรรมสำส่อนและใช้ชีวิตเสเพล ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนเราในเรื่องการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี เพื่อนของผมที่ชื่อ Cameron Herold ซึ่งเป็นโค้ชฝึกสอนบรรดา CEO ที่มีชื่อเสียงบอกว่า พวกเจ้าของธุรกิจมีแนวโน้มจะเป็นโรคไบโพลาร์และเสี่ยงต่อการเสียผู้เสียคนมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งมีเงินแต่เสพติดเซ็กส์ไปจนถึงติดการพนัน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนที่มีภาวะผู้นำและประสบความสำเร็จในชีวิตจึงหมั่นไปโบสถ์แต่เนิ่นๆ และบ่อยครั้งเป็นกิจวัตรเพื่อจะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขและประสบความสำเร็จในระยะยาว สิ่งที่แย่ยิ่งกว่า คือความเสียที่ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ยังมีความเสียใจอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งคนที่มีภาวะผู้นำจะมีทักษะในการหลีกเลี่ยงมันได้ดีกว่าพวกที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ สิ่งนั้นคือ ความเสียใจที่พลาดโอกาสทำเรื่องที่อยากทำ ซึ่งมันมีอทธิพลสามารถทำลายความสุขในชีวิตได้เช่นกัน ในปี 2012 Huffington Post ได้ตีพิมพ์บทความที่ชื่อว่า “5 เรื่องที่คนใกล้ตายบ่นเสียดายมากที่สุด” ได้แก่ 1.ฉันน่าจะมีความกล้าที่จะใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็น ไม่ใช่ ชีวิตแบบที่คนอื่นคาดหวังให้ฉันเป็น 2.ฉันไม่น่าทำงานหนักขนาดนี้ 3.ฉันน่าจะกล้าแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมามากกว่านี้ 4.ฉันน่าจะติดต่อพูดคุยกับเพื่อนฝูงมากกว่านี้ 5.ฉันน่าจะทำให้ตนเองมีความสุขมากกว่านี้ คุณจะเห็นว่าข้อ 1, 3, 4 และ 5 เป็นความเสียใจในสิ่งที่ไม่ได้ทำในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ในขณะที่ข้อ 2 เป็นความเสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป แต่ถ้าดูจากบริบทเนื้อความในข้อ 1 อาจจะมองว่าเป็นความเสียใจที่ทำงานหนักเกินไปเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้อื่นก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ล้วนแต่เป็นความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกไปถึงสุภาษิตโบราณที่ดังก้องมาจากหลุมศพว่า “ค้นหาตัวเองให้เจอแล้วทำในสิ่งที่ชอบ แล้วจะไม่มีวันไหนเลยที่คุณรู้สึกว่าต้องฝืนใจทำงาน” คุณสามารถเพิ่มโอกาสความสำเร็จและความพึงพอใจในระยะยาว ถ้าคุณรู้จักวางแผนชีวิตโดยการหลีกเลี่ยงไม่ไปข้องเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำให้ต้องเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งผิดหรือการพลาดโอกาสไม่ได้ทำเรื่องที่อยากทำ RICH KARLGAARD ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ Forbes กับผลงานหนังสือเล่มล่าสุด TEAM GENIUS: THE NEW SCIENCE OF HIGH-PERFORMING ORGANIZATIONS ติดตามบทความที่ผ่านมาของเขาได้ที่ www.forbes.com/karlgaard
คลิ๊กอ่าน Fobes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine