การแต่งตั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่น่าจะจุดชนวนให้เกิดการพิจารณาถึงแนวทางเป้าหมายและหลักการในการดำเนินมาตรการของสถาบันรัฐแห่งนี้อย่างละเอียด ซึ่งนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทว่าสิ่งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้นด้วยหลักพื้นฐานเชิงจิตวิทยาที่ค่อนข้างซับซ้อน นโยบายการเงินนับเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะกลัวและไม่อยากข้องเกี่ยว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เฟดสามารถกุมอำนาจไว้ในมือขณะที่แสดงผลงานย่ำแย่โดยที่สภาคองเกรสเพียงชำเลืองตามองอยู่ห่างๆ และไม่ได้เข้ามาควบคุมดูแลแบบเอาจริงเอาจัง
Jerome Powell ซึ่งประธานาธิบดี Trump เลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเฟดแทน Janet Yellen ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ไม่เคยมีทีท่ากังขาถึงแนวทางการดำเนินงานของธนาคารกลางที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดของโลก ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่เขานั่งเก้าอี้สมาชิกสภาผู้ว่าการเฟด Powell ทำงานแบบไหลไปตามน้ำและเดินทางสายกลาง หากวันหนึ่งเขาลุกขึ้นมาเปิดประเด็นโต้แย้งเฟดเหมือนที่ Martin Luther ป่าวประกาศญัตติ 95 ข้อเพื่อประท้วงการกระทำของพระสันตะปาปาคงเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนประหลาดใจประเด็นต่อไปนี้คือสิ่งที่เขาควรลงมือจัดการ
• ความเชื่อที่ว่าเฟดมีอำนาจชี้นำทิศทางเศรษฐกิจ เหล่านักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายถูกฝังหัวมาว่าเศรษฐกิจสามารถควบคุมทิศทางได้เหมือนกับการขับรถและหน้าที่ของเฟดคือการทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจไม่ “ร้อนแรง” หรือ “ฝืด” เกินไป เฟดหรือธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ทำได้เพียงดูแลเศรษฐกิจในระดับเดียวกับการบริหารเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตสมัยรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางเมื่อสมัยอดีต เนื่องจากสหรัฐฯ มีประชากรเพียง 330 ล้านคนขณะที่ประชากร 7 พันล้านคนทั่วโลกพร้อมทั้งสถาบันองค์กร บริษัทนับหลายล้านแห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมการเงินมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญในแต่ละวัน การที่เฟดทุ่มกำลังไปในแนวทางที่ไร้ประโยชน์เช่นนี้นำไปสู่คำถามว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อให้เกิดผลเสียหายมากแค่ไหน คำตอบที่น่าเศร้าคือนับจากเหตุการณ์วิกฤตการเงินปี 2008-09 ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นช่างมหาศาล การตัดสินใจอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาดเพื่อดำเนินมาตรการผ่อนคลายความตื่นตระหนกในตลาดการเงินเป็นเรื่องที่ดี แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำติดดินหลังจากนั้น (เทียบได้กับการควบคุมและกำหนดราคา) ร่วมกับการอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน “quantitative easing” หรือนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงินส่งผลให้กลไกของตลาดสินเชื่อบิดเบี้ยว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้ง • ความเชื่อมั่นในทฤษฎีความสัมพันธ์เส้นโค้ง Philips Curve ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยึดติดกับแนวคิดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทำให้เกิดเงินเฟ้อ ดังนั้นการทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงการพยายามทำให้ประชากรหลายล้านคนตกงาน นอกจากนั้นยังมีกรอบเป้าหมายที่ต้องการหนุนระดับเงินเฟ้อเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะถดถอยหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008-09 ทว่าประสบการณ์ในชีวิตจริงเผยให้เห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงสมการในโลกสมมติฐาน • ความเชื่อที่จะต้องคุมเข้มเหล่าธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่ง เฟดและผู้มีอำนาจกำกับดูแลเพลิดเพลินกับการออกกฎระเบียบนับหลายร้อยข้อเพื่อควบคุมบรรดาธนาคารโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นอีก โดยเฟดได้รับแรงหนุนจากรัฐบาล หากไม่นับประเด็นที่ว่าธนาคารคือภาคธุรกิจที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังก็คือถึงแม้จะมีการตั้งกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้และออกบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่แล้ว เราก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงหายนะทางการเงินครั้งรุนแรงได้อยู่ดีเนื่องจากต้นตอของสาเหตุมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ • ความเชื่อในการปล่อยค่าเงินดอลลาร์ลอยตัว กลไกตลาดจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทุกคนรู้ดีว่าชีวิตจะยุ่งเหยิงมากแค่ไหนหากจำนวนนาทีในแต่ละชั่วโมงหรือหน่วยน้ำหนักกรัมในแต่ละกิโลกรัมเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ และเช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ชี้วัดมูลค่า ก่อนหน้าที่เราจะทำสิ่งผิดพลาดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 สหรัฐฯ เคยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่นับตั้งแต่ Alexander Hamilton ผูกสกุลเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำในปี 1791 ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตกต่ำลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่นั้นมาอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine