จากเส้นทางการเรียนรู้ของสวนสามพราน สู่โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม - Forbes Thailand

จากเส้นทางการเรียนรู้ของสวนสามพราน สู่โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม

สวนสามพราน ปรับตัวสู่โมเดลเกื้อกูลสังคม เนื่องจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความต้องการของลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ประกอบการที่เคยสร้างรายได้จากการทำธุรกิจรูปแบบเดิมถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

สวนสามพราน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2505 จากอดีตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมไทยมีการจัดงานและการแสดงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ต่อมาพบพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นความต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในลักษณะเฉพาะตัว มุ่งหวังไปสู่เป้าหมายการมีชีวิตที่สมดุล ด้วยรากฐานอันเป็นจุดแข็งของธุรกิจ และความสนใจในเรื่องอาหารและสุขภาพ สวนสามพรานจึงได้ปรับตัวสร้างจุดต่างทางธุรกิจโดยการนำเสนออาหารอินทรีย์ตอบรับกระแสความใส่ใจในสุขภาพ แต่กลับต้องประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แม้จะมีความพยายามเชื่อมต่อกับเกษตรกรในพื้นที่แต่พบว่าส่วนใหญ่ไม่พร้อม ไม่รู้ หรือไม่กล้าเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นที่มาให้สวนสามพรานต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเป็นการเปลี่ยนในระดับโมเดลการทำงาน นำไปสู่การก่อเกิด “สามพรานโมเดล” โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคมบนฐานการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ และการค้าที่เป็นธรรม สวนสามพรานทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ตั้งแต่การสร้างสรรค์เมนูตามฤดูกาล การรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่เป็นธรรมไปจนถึงการร่วมพัฒนาสินค้า และยังได้ก่อตั้งมูลนิธิสังคมสุขใจทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ นำระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) มาใช้สร้างความร่วมมือและความเชื่อมั่น เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าจากเกษตรกรต้นน้ำสู่ผู้ประกอบการกลางน้ำ (เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ผู้แปรรูป) และผู้บริโภคที่ปลายน้ำทิศทางการปรับตัวและการดำเนินงานดังกล่าวสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับธุรกิจสวนสามพรานจากการทำงานเป็นพันธมิตร (partnership) สร้างประโยชน์ต่างตอบแทนแบบ win-win-win เปิดมุมมองที่แตกต่าง นำไปสู่การสร้างสรรค์โอกาสตลาดใหม่ๆ อย่างไรก็ดี วิสัยทัศน์ในการสร้างสังคมอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องความสำเร็จของธุรกิจรายใดรายหนึ่งแต่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ แนวทางการดำเนินธุรกิจเกื้อกูลสังคมจึงต้องมุ่งสร้างการมีส่วนร่วม นำไปสู่การสร้างสรรค์กลยุทธ์การบริหารธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น การตลาดการขับเคลื่อน (social movement marketing) เพื่อยกระดับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงลูกค้าผู้บริโภคให้มาเป็นผู้นำร่วมเปลี่ยนแปลง (collective leaders) โดยผ่านกระบวนการ inspire (สร้างแรงบันดาลใจ) learn (ส่งเสริมการเรียนรู้) act (สนับสนุนการลงมือทำ) share (เปิดเวทีให้ได้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์) การดำเนินงานด้วยโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสวนสามพรานเป็น “พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่มาจัดสัมมนาศึกษาดูงาน และลูกค้าผู้บริโภคที่มาใช้บริการ รวมถึงพันธมิตรองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมสร้างสังคมอินทรีย์ พร้อมกันกับการที่สวนสามพรานได้ขยายผลสู่การสร้าง “ปฐม” เพื่อมอบประสบการณ์วิถีอินทรีย์กับการเรียนรู้เส้นทางอาหารผ่านปฐมออร์แกนิกฟาร์มปฐมออร์แกนิกวิลเลจ ปฐมออร์แกนิกคาเฟ่ และมีการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบอินทรีย์ของเกษตรกรในเครือข่ายสามพรานโมเดลตอบสนองความต้องการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สวนสามพรานเชื่อมั่นว่า โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคมจะเป็นทิศทางสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systems change) นำมาซึ่งการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม  
สวนสามพราน
อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน และผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล
  อ่านเพิ่มเติม: โอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกของ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine