วิถีทางในอดีตหาใช่เส้นทางสู่อนาคต: ลองใช้สามัญสำนึก - Forbes Thailand

วิถีทางในอดีตหาใช่เส้นทางสู่อนาคต: ลองใช้สามัญสำนึก

จากบทความ วิถีทางในอดีตหาใช่เส้นทางสู่อนาคต โดย Steve Forbes ที่พูดถึงเศรษฐกิจของชาติยุโรป ซึ่งเขายังพูดถึงหนังสือลองใช้สามัญสำนึก แทนที่อุดมการณ์ฝ่ายขวาและซ้ายที่ล้มเหลวโดย Philip K.Howard (สำนักพิมพ์ W.W. NORTON, 25.95 เหรียญ) โดยระบุว่า

ชื่อหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีเนื้อหาระดับวรรณกรรมขายดี มันบอกถึงเหตุผลว่า ทำไมคนอเมริกันจึงรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติมากกับประเทศของเรา ทุกวันนี้แม้ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นประเทศที่มีวิจารณญาณที่ดีและมีทัศนคติทำได้แต่เรากลับกลายเป็นดินแดนที่ติดหนึบอยู่ในความเชื่องช้า ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราต้องกลัวว่าจะไปสร้างความไม่พอใจให้ใครหรืออะไรเข้าโดยไม่เจตนามากเช่นนี้ สังคมของเราดูจะกลายเป็นสังคมชวนทะเลาะไปเสียแล้ว

เพราะเหตุใดเราจึงถูกกระหน่ำด้วยพายุของกฎเกณฑ์และระเบียบหยุมหยิมที่ไม่รู้จักจบสิ้นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และผลที่ตามมาในทางการเมืองนั้นร้ายแรง เมื่อผู้คนกำลังรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าพวกเขาสูญเสียการควบคุมชีวิตตัวเอง

Howard กล่าวว่า วิกฤตการณ์นี้เริ่มต้นในปลายทศวรรษที่ 60 เมื่อตามโรงเรียนกฎหมายเริ่มมีการแพร่หลายของความเชื่อที่ว่าเราจะอยู่ในสังคมที่ดีกว่าและมีความเที่ยงธรรมกว่า ถ้ามีกฎเกณฑ์ที่จะช่วยลดการใช้ดุลยพินิจส่วนตัว ซึ่งจะช่วยป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อมีการถือกำเนิดของสหภาพรัฐบาล ซึ่งทำให้การปลดบุคลากรที่ทำงานไม่ได้ตามเป้ากลายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

หนังสือเรื่องนี้สั้นแต่อ่านแล้วความดันขึ้นของ Howard ได้โต้แย้งว่า พรรคการเมืองในปัจจุบัน (ที่มักแถลงในสิ่งที่ตรงกันข้าม) ยอมโอนอ่อนให้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่มากเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้อเมริกากลับคืนสู่ความเป็นวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงอย่างที่เคยเป็นมา

จริงอยู่ที่ว่า ฝ่ายบริหารของ Trump กำลังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการขจัดตัวบทกฎหมายที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความพยายามที่สำคัญยิ่งยวดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2017 แต่ความสำเร็จที่ได้รับนั้นยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับถ้อยคำ 150 ล้านคำ (นี่เป็นแค่ตัวเลขประมาณการเพราะไม่มีใครรู้ตัวเลขจริงๆ) ของกฎระเบียบจากฝ่ายบริหารใน Washington ที่ได้ทำให้ชีวิตของอเมริกันชนเป็นอะไรที่แสนจะจำเจมากว่าครึ่งศตวรรษ

หนังสือ Try Common Sense Replacing the Failed Ideologies of Right and Left

ความสำเร็จของ Trump จะยืนยาวแค่ไหน เมื่อพิจารณาจากความพยายามของหลายๆ รัฐบาลก่อนหน้านี้ที่จะขจัดกฎระเบียบส่วนเกินจะพบว่า ความยุ่งยากด้านการแก้ไขกฎหมายจะกลับมาทันทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มันเหมือนกับต้นถั่วคุดสึ (วัชพืชที่สร้างปัญหาให้กับสหรัฐฯ มาก) ที่ดูจะไม่มีอะไรหยุดยั้งได้

เป็นต้นว่าคองเกรสได้แต่ทำท่าออกแถลงการณ์ จัดให้มีการไต่สวนพิจารณาและระดมทุน แต่ขณะเดียวกันก็โยนความรับผิดชอบที่แท้จริงให้ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานด้านบริหาร นี่คือการเมืองแบบข่าวแจก

ความคิดเห็นอิสระจากเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนทำงานจริงๆ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานกลับถูกวัฒนธรรมของการเล่นตามกฎเค้นคอเจ้าหน้าที่รัฐ ครู และผู้รับเหมาที่เลวร้ายยังมีงานทำอยู่ต่อไปเพราะพวกเขากรอกแบบฟอร์มถูกต้อง...รัฐบาลทำงานบนความเฉื่อยแฉะ ไม่มีใครต้องการรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง

ผลที่ตามมาจากการโถมกระหน่ำของกฎเกณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรัฐบาล ธุรกิจห้างร้านต้องใช้จ่ายเงินและเสียพลังงานสมอง ตลอดจนทรัพยากรมากขึ้นในการพยายามปฏิบัติตามการบังคับควบคุมที่ไร้สมอง Howard อ้างถึงกรณีสวนแอปเปิลทางเหนือของรัฐ New York ที่ต้องปฏิบัติตามกฎ 5,000 ข้อ ที่มาจากโครงการและหน่วยงาน 17 แห่งว่า กฎข้อหนึ่งที่หาสาระไม่ได้ก็คือ เมื่อเก็บแอปเปิลจากต้นแล้ว ต้องใช้ผ้าพลาสติกคลุมรถเข็นที่ใช้ใส่แอปเปิล ไม่เช่นนั้นนกจะมาถ่ายใส่ อย่าลืมว่าแอปเปิลพวกนี้อยู่บนต้นที่ไม่มีอะไรคลุมมานาน 5 เดือนก่อนจะถูกเก็บลงจากต้น และนำไปล้างทำความสะอาดอย่างดีก่อนนำไปเก็บในโรงเรือน!

Alexis de Tocqueville ผู้เขียนหนังสือ Democracy in America ที่ยังร่วมสมัยอย่างมาก ได้คาดการณ์ถึงอันตรายจากการโถมทับของกฎระเบียบหยุมหยิมที่บีบคั้นในระบอบประชาธิปไตยที่กำลังค่อยๆ เสื่อมถอยลงในช่วงทศวรรษของปี 1830 โดยเตือนว่าเครือข่ายแห่งกฎเล็กกฎน้อยที่ซับซ้อน ระเบียบวาระและข้อกำหนดที่คนธรรมดาที่สุดและคนที่กระตือรือร้นที่สุดไม่อาจเข้าถึงได้...ธรรมชาติของอำนาจเผด็จการในยุคแห่งประชาธิปไตยนั้นไม่ดุร้ายหรือโหดเหี้ยม แต่ระแวดระวังและแทรกแซง

แล้วต้องทำอย่างไร ต่อไปนี้คือแนวทางบางประการ

  • กำหนดกฎเกณฑ์ด้วยหลักการ ไม่ใช่ด้วยกฎเล่มโต
  • ย้ายหน่วยงานของรัฐบาลส่วนใหญ่ออกนอก Washington ไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ วิธีนี้จะทำาให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ลงพื้นที่และทำงานกับคนจริงๆ แทนการหลบเลี่ยงอยู่แต่ในออฟฟิศ นอกจากนี้การกระจายอำานาจของรัฐบาลกลางย่อมทำให้บรรดานักล็อบบี้ทำงานได้ยากขึ้น เพราะการเดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถทำได้ด้วยการโบกแท็กซี่อีกต่อไป
  • ยื่นฟ้องคดีแห่งศตวรรษ สหภาพทั้งหลายและกฎหมายที่ร่างขึ้นอย่างไร้ประสิทธิภาพ ทำให้การไล่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกเป็นเรื่องที่แทบจะทำไม่ได้ กลายเป็นเรื่องที่บั่นทอนขวัญกำลังใจของคนที่ทำงานอย่างทุ่มเท อีกทั้งยังก่อปัญหาข้าราชการล้นระบบ

อาจไม่มีอะไรยับยั้งต้นถั่วคุดสึ แต่การแพร่หลายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาของกฎระเบียบที่เบาปัญญาและบีบคั้น รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลที่เฉยชาเฉื่อยแฉะและอยู่เหนือการตรวจสอบ ซึ่งเปรียบได้กับพืชพันธุ์พิษนั้นสามารถยุติและขุดรากรากถอนโคนออกไปได้ แต่ก็อย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้บอกชัดเจนว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประชาชนอย่างพวกเราต้องลงมือทำ

 
คลิกอ่านบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกันยายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine