ระบบดูแลสุขภาพ "สหรัฐฯ VS สิงคโปร์" - Forbes Thailand

ระบบดูแลสุขภาพ "สหรัฐฯ VS สิงคโปร์"

"ระบบดูแลสุขภาพ" ที่ดีกว่าในราคาที่ไม่แพง! คุณพอจะจินตนาการออกไหมว่าจะเป็นอย่างไรถ้าประเทศสหรัฐฯ สามารถจัดให้มีระบบการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีกว่าทุกวันนี้

ระบบดูแลสุขภาพ ที่ดีกว่าทุกวันนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลงถึงร้อยละ 75 ใช่ครับตัวเลขนี้ไม่ใช่การพิมพ์ผิด หรือเป็นแค่ความฝันเฟื่อง แต่มันเป็นความจริง ในปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีระบบการดูแลสุขภาพพลเมืองของประเทศอย่างครบวงจร อายุขัยเฉลี่ยของคนสิงคโปร์อยู่ที่ 85 ปี สูงกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนอเมริกันถึงกว่า 5 ปี ทั้งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนสิงคโปร์ยังตามหลังอเมริกาอยู่ไกลลิบลับ แต่ทุกวันนี้ อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดที่สิงคโปร์ต่ำกว่าอเมริกาแล้ว หรือแม้แต่ตัวชี้วัดทางการแพทย์อื่นๆ ต่างก็ฉายให้เห็นภาพไปในทิศทางเดียวกันว่า อเมริกาด้อยกว่าสิงคโปร์ ถ้าเราลองเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลในสิงคโปร์กับที่สหรัฐฯ อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจที่ผู้ป่วย (และบริษัทประกันที่ผู้ป่วยทำประกันเอาไว้) ต้องจ่ายสูงถึง 130,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ในสิงคโปร์ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแบบเดียวกันอยู่ที่ 18,000 เหรียญเท่านั้น ทางด้านของราคายาที่สิงคโปร์ก็ถูกกว่าที่สหรัฐฯ มากเช่นกัน ดังนั้นค่าเบี้ยประกันในสิงคโปร์จึงไม่แพง โดยคนที่อายุไม่ถึง 20 ปี จะเสียเบี้ยประกันแค่ปีละ 50 เหรียญเท่านั้น ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อายุ 80 ปลายๆ จะเสียเบี้ยประกันแค่กว่า 1,000 เหรียญเพียงเล็กน้อยต่อปีเท่านั้น ส่วนสำคัญที่แตกต่างจากในสหรัฐฯ ก็คือคนแต่ละคนจะต้องจ่ายค่าประกันของตัวเอง ดังนั้นการครอบคลุมของประกันจึงติดตัวไปด้วยทุกที่โดยไม่ผูกโยงกับงานที่ทำ แล้วสิงคโปร์ทำแบบนี้ได้อย่างไร ด้วยการกดค่าตอบแทนของหมอให้ต่ำๆ เข้าไว้อย่างนั้นหรือ? เปล่าเลย รายได้หลังหักภาษี (อัตราภาษีเงินได้ของสิงคโปร์คิดเป็นแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เท่านั้น) ของแพทย์รักษาโรคทั่วไป กับแพทย์เฉพาะทางแทบจะเท่ากันเลย นอกจากนี้แพทย์ในประเทศสิงคโปร์ก็ยังไม่ต้องวุ่นวายกับปัญหาการทุจริต หรือการใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงไปกับการกรอกแบบฟอร์มเพื่อทำเรื่องเบิกประกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ เชื่อว่าประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชาชนต้องมีการนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ประเด็นการถกเถียงคงจะจำกัดอยู่แค่การเปรียบเทียบระบบที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ในปัจจุบันกับระบบประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียว (singlepayer system) แบบในยุโรป แต่ทั้งสองแบบนี้ก็ยังต่างจากที่สิงคโปร์ทำอยู่ดี ถ้าอย่างนั้นสิงคโปร์ใช้วิธีแบบไหนกัน?   หลักการประกันสุขภาพของสิงคโปร์ Sean Masaki Flynn ได้เขียนหนังสือที่ดีมากออกมาเล่มหนึ่งซึ่งยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก เรื่อง The Cure That Works (Regnery ราคา 28.99 เหรียญ) หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามข้างต้นอย่างตรงไปตรงมา จนอาจทำให้คุณต้องขยี้ตาเพราะไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง มันทำให้เห็นว่า ระบบการดูแลสุขภาพที่ดีเยี่ยมระดับแนวหน้า และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพงยังมีอยู่จริงในโลกนี้ หากจะพูดสั้นๆ ก็คือ ทุนนิยมแบบที่มีโครงข่ายรองรับทางสังคมเป็นระบบที่ใช้การได้จริงๆ! สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยให้ระบบการรักษาพยาบาลเป็นไปตามกลไกตลาดโดยเสรีมากที่สุดในโลก ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ใช้ระบบที่เปิดให้บุคคลที่สามเข้ามามีบทบาทร่วมกัน ได้แก่ ผู้ให้บริการ ผู้ป่วย และบริษัทประกัน/รัฐบาล โดยในที่นี้บุคคลที่สามคือ ตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบให้เดินไปได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ ในระบบนี้โรงพยาบาลทราบดีว่า การต่อรองผลประโยชน์กับบริษัทประกันมีผลกับรายได้ของโรงพยาบาลมากกว่าความพึงพอใจของผู้ป่วย ดังนั้นจึงทำให้เกิดสถานการณ์แปลกประหลาดที่ทำให้แทบไม่เคยมีการเปิดเผยราคาของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อสาธารณะเลย! ในประเทศสิงคโปร์ใช้ระบบที่ขับเคลื่อนโดยบุคคลเพียง 2 กลุ่ม ซึ่งในที่นี้ ผู้ป่วยเป็นผู้รับผิดชอบตัวเองในทำนองเดียวกับผู้บริโภคในตลาดประเภทอื่นๆ เกือบทุกตลาด หลักการสำคัญก็คือ คนทุกคนที่ทำงานจะต้องตัดเงินค่าจ้างที่ได้รับส่วนหนึ่งออกมาแล้วเอาไปใส่ในบัญชีเงินออมเพื่อสุขภาพแต่บัญชีนี้ถือเป็นสินทรัพย์ของพวกเขาเอง ไม่ใช่ของรัฐบาล เงินจากบัญชีนี้ของลูกจ้างจะถูกนำไปจ่ายเบี้ยประกันเพื่อให้ครอบคลุมกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่มีค่ารักษาพยาบาลแพงมากๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคทั่วไปด้วย ส่วนที่ยังไม่ได้นำไปจ่ายเบี้ยประกันจะยังคงอยู่ในบัญชีและงอกเงยขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญมากในระบบของสิงคโปร์ก็คือ ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพทุกราย รวมถึงร้านขายยา จะต้องแจ้งราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า เงินที่จ่ายออกไปเป็นค่าอะไรบ้าง นอกจากนี้ทั้งโรงพยาบาล และคลินิกต่างก็แข่งขันกันเพื่อให้ผู้ป่วยมาใช้บริการ ดังนั้นจึงให้บริการที่ดีด้วยต้นทุนที่ต่ำ นอกจากนี้ การแข่งขันยังช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการลงด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ Flynn อธิบายว่า การใช้ระบบที่มีบุคคลที่สามทำให้ต้นทุนส่วนนี้ของสหรัฐฯ พุ่งพรวด โดยเขายกตัวอย่างว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง เขาพบว่า คลินิกแห่งนั้นมีแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่แค่คนเดียวเท่านั้นในขณะที่มีพนักงาน 1 คนคอยทำนัด และจัดการเกี่ยวกับงานเอกสารทั่วไป และมีพนักงานอีก 2 คนที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการยื่นเบิกเงินจากบริษัทประกันสำหรับกรณีการรักษาที่มีความซับซ้อน คอยตามเรื่องและโต้แย้งกับบริษัทประกันในกรณีที่ปฏิเสธที่จะจ่ายค่ารักษาทั้งหมดตามยอดที่ส่งไปเคลม ซึ่งจากสิ่งที่เขาพบนี้ก็เข้าใจได้ว่าทางฝั่งของบริษัทประกันก็ต้องจ้างคนอีกอย่างน้อย 2 คนมาทำหน้าที่ตรวจสอบใบเคลม และนั่นก็หมายความว่า เมื่อมีนายแพทย์ 1 คน จะมีการจ้างคนอื่นๆ มาทำงานเพิ่มอีกถึง 5 คน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ต้นทุนในการบริหารจัดการจึงมีแต่จะเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือกำไรของบริษัทประกันขึ้นอยู่กับจำนวนเคสที่มีการยื่นเคลม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่แรงจูงใจให้คุมค่าใช้จ่ายเลย อีกหนึ่งบทเรียนที่น่าสนใจจากสิงคโปร์ก็คือ เรื่องของการอนุญาตให้ใช้ยา โดยหลักก็คือ สิงคโปร์ถือว่า ยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ใดๆ ที่ผ่านการอนุมัติโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่สำคัญในต่างประเทศ เช่น FDA ของสหรัฐฯ และอื่นๆ เข้าข่ายให้ใช้ได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ต่างจาก FDA ก็คือสิงคโปร์กำหนดเกณฑ์เพียงว่า ยาตัวนั้นต้องผ่านการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย โดยไม่สนใจเรื่องประสิทธิภาพในการรักษา เพราะสิงคโปร์แสดงให้เห็นแล้วว่า ยาที่ใช้ไม่ได้ผลจะขายไม่ออกภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ เหมือนกัน จนกระทั่ง FDA มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการพิจารณาอนุมัติยาเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยเริ่มนำเรื่องประสิทธิภาพการรักษาเข้ามาเป็นเกณฑ์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ทั้งนี้ แนวทางแบบที่สิงคโปร์ใช้ถือว่ามีประสิทธิภาพไม่ต่างกับ FDA แต่ว่าต้นทุนต่ำกว่าอย่างมาก ทั้งนี้ กระบวนการที่เข้มงวด ละเอียดยิบ ใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูงมากของ FDA ทำให้ราคายาพุ่งกระฉูด โดยไม่มีผลในแง่บวกใดๆ เลย แถมยังทำให้ชีวิตของผู้ป่วยจำนวนนับไม่ถ้วนต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายและตั้งตารอคอยกระบวนการที่อืดอาดยืดยาดของ FDA กว่าจะอนุมัติยาที่จะช่วยชีวิตพวกเขาออกมาได้   แนวทางระบบตลาดเสรีจะใช้ได้ผลกับสหรัฐฯ ไหม? หนึ่งตัวอย่างก็คือ รัฐ Indiana ซึ่งเมื่อปี 2007 ได้เสนอทางเลือกให้ลูกจ้างของรัฐสามารถซื้อกรมธรรม์โดยมีค่าเสียหายส่วนแรกสูง และผูกกับบัญชีเงินออมเพื่อสุขภาพ HSA (health savings account) โดยค่าเสียหายส่วนแรกอยู่ที่ 2,750 เหรียญ ซึ่งทางรัฐจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใส่ไว้ใน HSA ของลูกจ้างเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะกลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกจ้างรัฐโดยลูกจ้างจะต้องจ่ายค่าบริการร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินกว่านั้น แต่ไม่เกิน 8,000 เหรียญ โดยค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินกว่านั้นทางรัฐจะจ่ายให้จนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ยอดค่าใช้จ่ายที่ต้องควักกระเป๋าจริงในแต่ละปีจึงถูกจำกัดไว้แค่ 1,000 กว่าเหรียญเท่านั้น ผลก็คือ ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ร้อยละ 35 เพราะพวกเขามีแรงจูงใจในการที่จะใช้งบการดูแลสุขภาพอย่างคุ้มค่า อย่างเช่นเลือกใช้ยาสามัญประจำบ้านแทนที่จะใช้ยาแพงๆ หรือไปใช้บริการคลินิกทั่วไป แทนการไปใช้บริการห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่มีราคาแพงกว่า บทสรุปที่ปฏิเสธไม่ได้ของ Flynn ก็คือเราน่าจะหันมาสนับสนุนการทำกรมธรรม์ประกันสุขภาพแบบที่กำหนดค่าความเสียหายส่วนแรกสูง แบบมี HSA ซึ่งจะครอบคลุมค่าความเสียหายส่วนแรก และมีนายจ้างช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายด้วย บวกกับการเปิดเผยราคาค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดอย่างโปร่งใส สภาวะอาจจะสุกงอมเพียงพอแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะในปัจจุบันนายจ้างต่างก็ใช้นโยบายการหักรายได้ในวงเงินสูงอยู่แล้ว เพียงแต่หลายรายยังไม่ได้ผูกเข้ากับ HSAs นอกจากนี้ HSAs ก็ยังมีอุปสรรคจากข้อกำหนดที่เกินความจำเป็นเช่น ห้ามใช้ซื้อยาที่สามารถหาซื้อได้เอง ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลที่ Washington สามารถเริ่มทำได้เลยในเรื่องนี้ก็คือ การกำหนดให้บริษัทประกันเสนอกรมธรรม์แบบนี้เพิ่มเติมจากกรมธรรม์แบบดั้งเดิม และน่าจะยกเลิกข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคกับ HSA ไป ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว Indiana พอจะถือได้ว่า เป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากการทดลองใช้แนวทางการดำเนินโครงการ Medicaid ในรูปแบบของประเทศสิงคโปร์ บทความโดย Steve Forbes Editor-In-Chief แห่ง Forbes  
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine