สมการรูปแบบธุรกิจของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เพียงแค่ “รายได้ - รายจ่าย = กำไร” แต่สมการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจที่นำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนจะต้องบวก สังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (environmental, social and governance: ESG) รวมเข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจด้วย เพราะสังคมต้องอยู่ได้ ธุรกิจจึงจะอยู่รอดและเติบโตด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมแบบจริงจัง สร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม (social impact) และสร้างการเติบโตที่ไม่เป็นภาระกับคนรุ่นต่อไป
ปัญหาสังคมไทยนับวันจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นและบั่นทอนการเติบโตในระดับประเทศระยะยาว ดังเช่น ปัจจุบันตัวเลขเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาพุ่งขึ้นถึง 5 ล้านคน หรือในอีกเพียง 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ด้วยจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 การจัดการปัญหาเหล่านี้ ลำพังภาครัฐและการบริจาคผ่านมูลนิธิต่างๆ อาจจะไม่เพียงพอ และไม่มีประสิทธิผลเท่ากับการบริหารจัดการด้วยวิธีคิดแบบภาคเอกชนโดยการชักชวนให้นักธุรกิจหันมาลงทุนด้านสังคม โดยพิจารณามิติด้านผลกระทบเพิ่มอกเหนือจากแค่ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน เพราะภาคธุรกิจเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพและมีพลังที่จะก่อให้เกิด social impact ได้ ตั้งแต่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และ การดูแลรับผิดชอบชุมชนและสังคม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือเป็นเสาหลักในการพัฒนาตลาดทุนไทยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา โดยนอกจากจะทำหน้าที่ในฐานะองค์กรกลาง (matching) ในการเชื่อมโยงความต้องการเงินทุนของธุรกิจกับอุปทานเงินออมของผู้ลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดการเสนอขายหลักทรัพย์ และการเปลี่ยนมือซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรองแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างตลาดทุน “คุณภาพ” อันเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และร่วมมือในการพัฒนาภาคธุรกิจ ทั้งนี้มีภาคธุรกิจจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และต้องการแบ่งปันทรัพยากรที่มี เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมเชิงบวก แต่ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคมโดยมีจำนวนไม่น้อยที่พบอุปสรรคในการดำเนินงาน เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุน อาทิ เงินทุน ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดด้านกฎหมาย ด้านการบริหารบุคคล ช่องทางการจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์หรือบริการเครือข่ายเพื่อการขยายการตลาด เป็นต้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้ความสำคัญในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ลงทุนส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนให้คำนึงถึง ESG ตลอดจนส่งเสริมให้มีการลงทุนด้วยความรับผิดชอบ (responsible investment) ผลที่เกิดขึ้นคือ บริษัทจดทะเบียนไทยได้ติดอันดับ “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์” (DJSI) ถึง 13 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3
หนึ่งในแผนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ให้ได้ประโยชน์จากตลาดทุน และสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล ก็คือการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและองค์กรภาคสังคมตลอดจนกิจการเพื่อสังคมเข้าด้วยกัน จึงดำเนินการสร้างเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า “social impact platform” เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคมและถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งโครงการ “SET Social Impact” ในการประสานพลังทุกภาคส่วนในตลาดทุนเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและขยายผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมโดยนำทุกศักยภาพมาสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ซึ่งในปัจจุบันมี 56 องค์กรที่ขอรับความช่วยเหลือ เพราะการมุ่งสร้าง social impact ไม่ได้เป็นเพียงการลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งสร้างผลเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเมื่อทั้งสองภาคส่วนได้มาพบและร่วมมือกันโดยภาคธุรกิจสามารถมีช่องทางในการแบ่งปันทรัพยากรสู่ภาคสังคมไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหรือทรัพยากรที่ไม่ใช่ตัวเงินอันเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อสังคมที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมไม่ว่าจะเป็นการลดผลเชิงลบ หรือเพิ่มผลเชิงบวก การทำให้ทั้งสองภาคส่วนได้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน โดยมีช่องทางหลักที่ดำเนินการผ่านเว็บไซต์ www.setsocialimpact.com ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่นำเสนอทั้งข้อมูลของภาคธุรกิจและภาคสังคม โดยภาคธุรกิจจะมีพื้นที่สำหรับนำเสนอข้อมูล การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล ทั้งที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ และนอกกระบวนการธุรกิจ ที่สำคัญสามารถนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่พร้อมแบ่งปัน ทั้งที่เป็นเงินทุนและที่ไม่ใช่เงินทุน อาทิ การซื้อสินค้าหรือบริการของกิจการเพื่อสังคม การสนับสนุนสถานที่ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือสนับสนุนโดยให้ความเชี่ยวชาญจากบุคลากรขององค์กรด้านต่างๆ เช่น ด้านการตลาด กฎหมาย บริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ยังเป็นพื้นที่ให้องค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคม ได้นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมพร้อมทั้งสามารถระบุความต้องการด้านทรัพยากรที่จะมาเสริมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังมีศูนย์รวมข้อมูลการแบ่งปันทั้งในระดับองค์กรและบุคคลรวมถึงข้อมูลความรู้ และข่าวสารต่างๆ อันเป็นประโยชน์ SET Social Impact จึงบเป็นการเติมเต็มการทำงานซึ่งกันและกัน ที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อภาคธุรกิจเอง ในการสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมควบคู่กัน และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน
โดย
นพเก้า สุจริตกุล
ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คลิ๊กอ่านบทความทรงคุณค่าทางด้านธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559