มิติใหม่มาตรการปราบโกง : ภาระหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ
มีการออกกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว คือกฎหมาย ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่เป็นยาแรงเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันจนผู้ประกอบการเล็กใหญ่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทัน เพื่อความอยู่รอดและหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทั้งจำและปรับ ขณะเดียวกันก็มีมาตรการภาคความสมัครใจที่แสดงถึงความใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเกิดขึ้นมากอีกด้วย
เรื่องแรก กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ได้กำหนดให้มีโทษจำคุกและโทษปรับกับนิติบุคคลรวมถึงกรรมการผู้มีอำนาจ หากพบว่ามีคนขององค์กรนั้นไปติดสินบนเจ้าหน้าของรัฐหรือรัฐต่างประเทศ (ม. 176) ไม่ว่ากรรมการจะร่วมรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม โดยโทษปรับนี้กำหนดไว้มากถึงสองเท่าของ “ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐหรือประโยชน์ที่นิติบุคคลได้รับ” ซึ่งหมายความว่าค่าปรับจะสูงมากอย่างคาดไม่ถึง เพราะคำว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ” อาจรวมถึงต้นทุนความล่าช้า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายในการสืบสวนดำเนินคดีด้วยก็ได้
โทษและค่าปรับแบบนี้มีอยู่ในหลายประเทศเช่น กรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ต้องจ่ายเงินค่าปรับมากราว 2.8 หมื่นล้านบาท จากการติดสินบนเพื่อขายสินค้าใน 7 ประเทศ และกรณีสองนักธุรกิจชาวอเมริกันที่ต้องติดคุกนาน6 เดือน ตามด้วยกักบริเวณอีก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าปรับกว่า 8 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหรัฐฯ ฐานติดสินบนอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวของไทย
แต่โทษดังกล่าวอาจได้รับการยกเว้นหากพิสูจน์ได้ว่านิติบุคคลนั้นได้จัดให้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพียงพอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดเช่นนั้นแล้ว ตามแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลของ ป.ป.ช.
กฎหมายยังเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. ในการกำหนดมาตรการกลไกเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาคเอกชนอย่างเข้มงวดได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากแต่รายละเอียดยังไม่ได้กำหนดออกมาขณะนี้
พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่คนทำธุรกิจกับรัฐต้องเรียนรู้ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขใหม่ให้ผู้ที่เข้าประมูลโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มี “นโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตโดยชัดแจ้ง” เช่น ต้องมีนโยบาย วิธีการ หรือมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง มีการกำหนดหลักจรรยาบรรณธุรกิจเข้มงวดกับระบบตรวจสอบภายในและมีกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนรวมถึงจัดให้มีการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์นโยบายและแนวทางการป้องกันให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทราบ เป็นต้น
สำหรับมาตรการภาคสมัครใจที่ควรกล่าวถึงคือ โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC เพราะนอกจากจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้เป็นอย่างดีแล้ว โครงการนี้ยังเป็นประโยชน์โดยตรงต่อองค์กรธุรกิจเอง คือทำให้ระบบงานมีระบบบริหารจัดการและการตรวจสอบที่ชัดเจน และเมื่อปรับปรุงเพียงเล็กน้อยก็นำไปใช้กับกติกาใหม่ของ ป.ป.ช. และกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯตามที่กล่าวข้างต้นได้ทันที
CAC เป็นการรวมตัวของบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก มีพันธะที่จะต้องดำเนินการให้มีการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ รวมถึงระบบควบคุมภายในองค์กรเพื่อป้องกันการทุจริตให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายนอกเข้าทำการสอบทานว่ามีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจริง พร้อมทั้งยื่นหลักฐานเพื่อขอรับการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ให้ได้ภายในระยะเวลา 18 เดือน จึงจะถือว่าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์
ยังมีความพยายามของภาคเอกชนทั้งเล็กและใหญ่ที่จะก้าวไปพร้อมๆ กัน และเห็นความจำเป็นในการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เร่งยกระดับธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกันอีกมาก เช่น โครงการ “ข้อตกลงคุณธรรม”, “ฮั้วไม่จ่ายใต้โต๊ะ”, “ฉลากต้านโกง”, “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย”, “หลักสูตรสุจริตไทย” และการส่งเสริมให้บรรดาสมาคมวิชาชีพต่างๆ ได้ออกมาร่วมลงมือต้านโกงในบทบาทที่ตัวเองทำได้ เป็นต้น
ถึงเวลาที่เราต้องมาทำธุรกิจด้วยวิธีคิดใหม่ ที่ช่วยลดภาระในการวิ่งเต้นเส้นสาย ติดสินบน เพื่อทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับของสังคมและลูกค้า เป็นที่ชื่นชมของพนักงานและผู้เกี่ยวข้อง ให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนแทนการสร้างกำไรมากๆ แล้วในวันนี้
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)