มนุษย์ หุ่นยนต์ และ AI - Forbes Thailand

มนุษย์ หุ่นยนต์ และ AI

คนคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ผ่านตัวละครต่างๆ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีให้ดูมานานต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น R2-D2 จากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ที่เข้าฉายในปี 1977 หรือหุ่นยนต์จากโลกอนาคต T-800 ที่แสดงโดย Arnold Schwarzenegger ในเรื่อง The Terminator เมื่อปี 1984 และ Transformers ที่เข้าฉายภาคแรกในปี 2007 ซึ่งเกือบทุกเรื่องหุ่นยนต์มักถูกสร้างให้มีความชาญฉลาดหรือมีพลังเหนือมนุษย์

ภาพของหุ่นยนต์ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ถูกจินตนาการต่างกันไป แต่ที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากหุ่นยนต์อาจมาจากแนวคิดเรื่อง “Singularity” ที่เทคโนโลยีด้าน Artificial Intelligence (AI) ได้พัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดดจนถึงจุดที่หุ่นยนต์และ AI มีความชาญฉลาดเหนือกว่ามนุษย์และเข้าควบคุมมนุษย์ ดังนั้นเมื่อ Ray Kurzweil ผู้ประพันธ์เรื่อง The Singularity Is Near ที่โด่งดังในปี 2005 ได้กล่าวในงาน South by Southwest (SXSW) ปี 2017 ว่า หุ่นยนต์จะมีความฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ในปี 2029 และยังคาดการณ์ว่า Singularity จะเกิดขึ้นในปี 2045 จึงตอกย้ำข้อคิดของการใช้ AI ในทุกภาคส่วนของธุรกิจและเป็นแกนสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนี้  

ใส่สมองให้หุ่นยนต์ด้วย AI

ในความเป็นจริงความสามารถของหุ่นยนต์ยังห่างไกลจากตัวละครในภาพยนตร์อีกมาก โดย Astro Teller ผู้บริหารของ Google X ได้ให้คำนิยามในบทความของ Quartz ว่า หุ่นยนต์ต้องรู้สึกหรือวัดข้อมูลได้ทางใดทางหนึ่งเพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลสำหรับปฏิบัติงานตามที่ได้รับออกแบบมา ด้วยความสามารถที่จำกัดจึงทำให้หุ่นยนต์เหมาะกับการนำมาใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมและทำงานพื้นฐานในภาคการผลิตแทนมนุษย์ (Industrial Robot) โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำและทำตามขั้นตอนที่ไม่ต้องใช้การตัดสินใจ เช่น การตัดเชื่อม การพ่นสี การบรรจุ และการเคลื่อนย้ายสิ่งของ หุ่นยนต์จึงมักถูกใช้ในสายการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียส่วนใหญ่
(Photo Credit: Rajeev Sharma/Linked In)
แต่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้ช่วยใส่สมองให้หุ่นยนต์เพื่อให้สามารถทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ (Advanced Robotics) และ AI ที่เปิดโอกาสให้โรงงานอุตสาหกรรมในจีน สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในลักษณะ Smart Factory ให้มีกระบวนการผลิตที่ชาญฉลาดมากขึ้น มีประสิทธิภาพรวดเร็วและปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวมากกว่าการผลิตแบบเดิม และลดจำนวนแรงงานลง รายงานจาก International Federation of Robotics (IFR) คาดว่าในปี 2019 จะมีหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1.4 ล้านยูนิต ทั้งนี้จีนจัดเป็นประเทศที่มีการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานมากที่สุด โดยในปี 2016 จีนติดตั้งหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นกว่า 87,000 ยูนิตและคาดว่าในปี 2018 ถึง 2020 จีนจะใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีก 15-20% โดยหุ่นยนต์ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน จีนยังได้พัฒนาตัวเองเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับโรงงาน โดยสามารถส่งขายหุ่นยนต์ให้กับญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และอเมริกาเหนืออีกด้วย
Smart Factory มีการพัฒนาใช้หุ่นยนต์ที่เป็นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตปรับเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น มีการบริหารจัดการแบบเชื่อมต่อถึงกัน (Photo Credit: longshortreport.com)
 

AI นวัตกรรมเขย่าโลก

AI เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาจาก Neural Network ที่เกิดขึ้นมาในช่วงปี 1950 โดยคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และเลียนแบบการตัดสินใจของมนุษย์ผ่านตรรกะหรือกฎที่กำหนดขึ้น และมีส่วนที่ถูกนำไปพัฒนาต่อเป็น Machine Learning ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถศึกษาและจดจำแบบ (Pattern Recognition) และทำนายหรือประเมินผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่นวัตกรรมที่กำลังจะพลิกโฉมทุกอุตสาหกรรมและควรจับตามองในขณะนี้ก็คือ Deep Learning ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Machine Learning ที่คอมพิวเตอร์สามารถฝึกฝนตัวเองได้ เช่น เทคโนโลยีใน Speech Recognition หรือ Image Recognition รวมถึง Alpha Go ซึ่งค้นคว้าโดยบริษัท DeepMind ที่อยู่ภายใต้กลุ่ม Google ที่สามารถเอาชนะแชมป์โกะระดับโลกมาแล้วในทุกสนาม AI ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการที่ Facebook ใช้ AI ในการแท็กรูปภาพ การเลือก news feed และการทำ Targeted Ads ตลอดจนการที่ Apple และ Microsoft ใช้ AI กับแพลตฟอร์ม Digital Assistant เช่น Siri และ Cortana รวมถึงการที่ Google ประกาศตัวในงาน Google I/O 2017 ว่า Google ได้เปลี่ยนกลยุทธ์จาก Mobile First มาเป็น AI First อีกด้วย
Alpha GO ระบบ Deep Learning ที่สามารถฝึกฝนตนเองได้ จนสามารถเอาชนะแชมป์โกะระดับโลกมาแล้วทุกสนาม (photo credit: theneweconomy.com)
การแพร่หลายอย่างรวดเร็วและโอกาสของการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัดของ AI ได้สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารชั้นนำในกลุ่มดิจิทัลอย่าง Elon Musk ซีอีโอชื่อดังของ Tesla และ Space X ที่ได้ออกมาเตือนและให้จับตาการใช้ AI ในอุตสาหกรรม โดยล่าสุดได้ร่วมกับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ 116 รายเพื่อขอให้สหประชาชาติขัดขวางหรือแบนการผลิตและการใช้อาวุธประเภท Autonomous Weapon อีกทั้ง Musk ยังได้ร่วมก่อตั้ง OpenAI เพื่อเป็นบริษัทวิจัยที่ไม่หวังผลกำไรในการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเปิดให้นักพัฒนาสามารถนำเทคโนโลยีไปสร้างประโยชน์กับผู้คนทั่วไป นอกจากนี้ค่ายสำคัญอย่าง Amazon, Facebook, Google, IBM, Microsoft และ Apple ยังได้ร่วมจับมือเป็นพันธมิตรทางด้าน AI ในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรม และการปฏิบัติที่ถูกต้อง ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ AI ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะอีกด้วย  

จีนขับเคี่ยวเข้มข้น

ขณะเดียวกัน จีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเพียงที่ 2 รองจากอเมริกาในการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลได้ผลักดัน AI อย่างหนักภายใต้การนำของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ อันได้แก่ Baidu, Alibaba Group และ Tencent (หรือที่เรียกว่า “BAT”) โดยเร่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและแอพพลิเคชั่นด้าน AI ไม่ว่าจะเป็น Facial Recognition จนถึงรถยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนความพยายามช่วงชิงผู้เชี่ยวชาญ AI ชั้นนำจากทั่วโลกมาร่วมงานด้วย
Robin Li ซีอีโอของ Baidu กำลังผลักดันให้รัฐบาลจีนกำหนดให้ AI เป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ เพื่อให้จีนสร้างผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เพิ่มขึ้น รวมถึงดึงตัวผู้เชี่ยวชาญ AI จากทั่วโลกมาร่วมงานกับบริษัทจีน (Photo Credit: Gilles Sabrie/wired.com)
หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้กล่าวถึงรายงานการวิจัยของ PwC ซึ่งคาดว่าภายในปี 2030 AI จะช่วยเพิ่มจีดีพีทั่วโลกขึ้นอีก 14% หรือคิดเป็นมูลค่า 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะมีผลให้จีนมีจีดีพีเพิ่มขึ้น 26% และทำให้จีดีพีของอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 14.5% ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนซึ่งนำโดย Baidu, Xiaomi และ Geely Automobile ได้ขอให้รัฐบาลจีนกำหนดให้ AI เป็นแผนยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ 10 ปีอย่าง Made in China 2025 ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว พร้อมทั้งขอให้ทางรัฐบาลวางกรอบข้อกำหนดระดับประเทศในการใช้ AI สำหรับธุรกิจเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับอุตสาหกรรม โดยเชื่อมั่นว่านวัตกรรม AI จะช่วยเปิดโอกาสให้กับจีนในการขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีอย่างแท้จริงและเอาชนะคู่แข่งอย่างอเมริกา ทุกสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีควรได้รับการนำไปใช้เพื่อประโยชน์และความสุขของผู้คนทั่วโลก นวัตกรรมหุ่นยนต์และ AI จึงควรถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดและจริยธรรมที่ดีในการนำไปใช้ เป็นความรับผิดชอบที่นักบริหารและผู้เชี่ยวชาญควรคอยปกป้อง ขับเคลื่อน และปรับปรุง ให้นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด   อุไรพร (พอลลี่) ชลสิริรุ่งสกุล ที่ปรึกษาด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็มของ "มนุษย์ หุ่นยนต์ และ AI" ได้ในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magaizne