ฟ้าหลังฝนในปี 2016 - Forbes Thailand

ฟ้าหลังฝนในปี 2016

เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และทั่วโลกเปิดทำการสัปดาห์แรกของปีได้เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ George Soros พ่อมดทางการเงินกล่าวว่า “นี่เตือนให้ผมนึกถึงวิกฤตการณ์ที่เกิดกับเราเมื่อปี 2008” ภาวนาว่าเขาคิดผิด บริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์อันดับหนึ่งของอเมริกาและของโลกอย่าง Apple ผ่านพ้นสัปดาห์แรกอันแสนทุลักทุเลด้วยยอดขายต่ำกว่าที่เคยสุดสูงสุดในปี 2015 ถึง 28% Apple เข้าสู่ภาวะตลาดซบเซาเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์โลก ข่าวก็ไม่สู้ดีนัก การเผชิญหน้าระหว่างซาอุดิอาระเบีย (พันธมิตรสำคัญคือสหรัฐฯ) และอิหร่าน (พันธมิตรสำคัญคือรัสเซีย) กำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ เกาหลีเหนืออ้างว่าได้ทำการทดลองระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งเป็นไปเพื่อความยุติธรรมทางสังคม ยุโรปกำลังรับมือกับผู้อพยพนับล้านจากซีเรียอย่างยากลำบาก ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่า ISIS เป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯ และสุดท้าย การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ก็ชวนให้หวั่นใจไปล่วงหน้า การทำนายผลของผู้รู้ประจำทำเนียบขาวเมื่อปีกลายดูจะไร้ประโยชน์ เมื่อต้องเผชิญกำแพงแห่งความไม่แน่นอนและมัวหม่น ในปี 2016 เราจะยังมีความโชคดีในความโชคร้ายเหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือมีสิ อย่างน้อยก็ห้าประการต่อไปนี้ • เศรษฐกิจจีนจะไม่พัง ถ้าเรามองแค่ความตกต่ำของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ คำทำนายว่าด้วยความเลวร้ายของเศรษฐกิจจีนของ James Chanos และ Gordon Chang สองนักวิจารณ์ขาประจำของจีน ก็ดูจะถูกต้อง แต่เศรษฐกิจจีนไม่ได้มีแค่ตลาดหุ้น เพราะหุ้นจีนส่วนใหญ่ก็ถือโดยพลเมืองชาวจีน สิ่งที่คุณเห็นที่จีนตอนนี้เป็นแค่ความตื่นตระหนก ฟองสบู่ถูกทำให้พองโตโดยบรรดานักเล่นหุ้นตกขบวนที่ลงทุนแค่หวังเสี่ยงโชคแบบการพนัน ในทุกวัฒนธรรม ทุกยุคสมัย นักพนันล้วนแต่พ่ายแพ้ นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ภาคเศรษฐกิจแท้จริงของจีนเติบโตช้าลงจาก 8-10% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเหลือ 6% ภาคอุตสาหกรรมยิ่งซึมหนัก ซึ่งอย่างไรก็ตาม ที่ยังไปได้สวยก็คือ ธุรกิจซอฟต์แวร์ ภาคบริการ รวมถึงเศรษฐกิจฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภคภายในประเทศ นับว่าความเลวร้ายครั้งนี้ของเศรษฐกิจจีนได้รับการวิเคราะห์ผิดไปอีกประเด็น • หุ้นสหรัฐฯ จะไม่ล่มสลาย เป็นไปได้หรือที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนถึง 20% เป็นไปแล้ว กลายเป็นตลาดหมีชัดๆ แต่นั่นเทียบไม่ได้สักนิดกับเมื่อครั้งตลาดหุ้นดิ่งเหว 57% ในช่วงปี 2007-2009 แม้บรรดาบล็อกเกอร์การเงินผู้กระหายยอดวิวจะพากันร้องแรกแหกกระเชอว่าตลาดล่มแล้ว ตั้งสติกันหน่อย หลังจากตลาดหุ้นตกลงถึงจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2009 เราผ่านพ้นวิกฤตตลาดหมี (ที่ดัชนีลดลง 20% จากจุดสูงสุดก่อนหน้า) มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2011 จะเจออีกครั้งก็ไม่เห็นต้องตกใจ • ตลาดงานจะยังเติบโตต่อไป ค่าจ้างก็เช่นกัน เชื่อได้ว่าหนึ่งปีนับจากนี้ การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตำแหน่ง หนังสือพิมพ์พากันประโคมข่าวค่าจ้างคงที่ในปี 2015 แต่ที่จริงแล้ว ข้อมูลของ Brian Wesbury and Bob Stein แห่ง First Trust Advisors บอกว่าเพิ่มขึ้น 2.5% (ถ้าคุณสงสัยว่า Wesbury and Stein อาจจะเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล Obama คุณก็คิดไม่ผิดจากความจริงเท่าไหร่) ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อภิปรายเรื่องภาษีและกฎหมาย ปาหี่ที่เห็นกันในปี 2015 จะเริ่มเข้มข้นมากขึ้น ไฮไลต์จะอยู่ที่นโยบายเศรษฐกิจ เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดรหัสภาษีอย่างง่าย เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกสวัสดิการด้านสุขภาพ ObamaCare พระราชบัญญัติปฏิรูปการบัญชีบริษัทมหาชนและนักลงทุน และกฎระเบียบกำกับดูแลการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เห็นด้วยกับการควบคุมสรรพากรและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการฟื้นฟูกฎหมายหรือไม่ ผลกระทบของกฎหมายสุดโต่งและความซับซ้อนของภาษีที่มีต่อธุรกิจขนาดเล็ก ถูกนำมาอภิปรายในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี อันที่จริง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเองก็เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ชนชั้นกลางหัวรุนแรง” ที่กำลังโกรธขึ้ง พวกเขาอาจเป็นผู้ชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้ ดิจิทัลจะไม่ใช่แค่ดิจิทัลอีกต่อไป สุดท้ายนี้ สำหรับเมฆดำทึบที่ปกคลุมเหนือเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก โปรดรับรู้การมาถึงของประดิษฐกรรมและความพยายามอันบ้าบิ่นทั้งหลาย เริ่มจากบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านอวกาศสัญชาติอเมริกัน ทั้ง Jeff Bezos (Blue Origin) และ Elon Musk (SpaceX) ต่างก็เปิดตัวกระสวยอวกาศแบบใช้ซ้ำ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็น Bezos และ Musk หัวหอกแห่งวงการเทคโนโลยี พร้อมใจกันลงทุนสร้างสิ่งที่จับต้องได้ (สำหรับ Musk เคยทำมาสองครั้งแล้วกับ Tesla Motors) ดิจิทัลกำลังมีตัวตน น่าตื่นเต้นดีแท้ ที่ดิจิทัลจะไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อสังคมออนไลน์หรือแอพฯ อันชาญฉลาดบนโทรศัพท์อีกต่อไป แต่กำลังแหกคอกที่ถูกโปรแกรมไว้ ตอนนี้ดิจิทัลคือรถยนต์ไร้คนขับที่จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในสหรัฐฯ ได้ถึงปีละ 30,000 ราย โดรนเพื่อการพาณิชย์จะช่วยเกษตรกรรมเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตอาหารเลี้ยงคนมากขึ้น หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานอันตรายแทนมนุษย์ หรือนาฬิกาและสายรัดข้อมือจะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ internet of things จะหมายความตรงตามนั้น อินเทอร์เน็ตเพื่อสิ่งต่างๆ ไม่ใช่แค่จำนวน bits bytes หรือ pixels สลัดความอึมครึมซึมเศร้าเสียเถอะ จงมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแสนดีนี้ RICH KARLGAARD ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ Forbes กับผลงานหนังสือเล่มล่าสุด TEAM GENIUS: THE NEW SCIENCE OF HIGH-PERFORMING ORGANIZATIONS
คลิ๊กอ่านบทความเพื่อจุดประกายไฟฝันทางด้านธุรกิจ จาก Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine