จากประสบการณ์การทำงานของผมในแวดวงสถาบันการเงินกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยต้อง ‘ปฏิรูป’ ตนเองครั้งใหญ่แล้ว เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงมีผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยหลีกหนีเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงไปไม่พ้นด้วยสถานะที่ไร้พรมแดนของเทคโนโลยี อีกทั้งบริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศที่มีความพร้อมขององค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพและความเพียงพอของทรัพยากรบุคคลด้านไอทีและวิทยาศาสตร์ และปัจจัยด้านเงินทุน จึงสามารถคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการใช้งานนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นๆ เช่นกัน
ซึ่งในกรณีของไทย คงต้องยอมรับว่าการแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านของเจเนอเรชั่นเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเช่นยุคของเจนวายหรือมิลเลนเนียลนั้น ทำให้ผู้บริโภคไทยรุ่นใหม่มีความไวต่อการใช้เทคโนโลยีออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้นกว่าเดิมมาก จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบัน ไทยมีผู้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์พกพา (m-Commerce) และสื่อสังคมออนไลน์ ติดอันดับ 5 และ 11 ของโลก (จัดโดย Global Web Index และ wearesocialsg เมื่อมกราคม 2559) นอกจากนี้ ผู้ให้บริการหรือคู่แข่งในบริการด้านการเงิน ก็มีความหลากหลายมากขึ้นและไม่จำกัดเพียงแค่ระหว่างสถาบันการเงินเหมือนแต่ก่อน คู่แข่งที่ควรจับตากลับไม่ได้อยู่ที่ขนาด หากแต่อยู่ที่ระดับความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี
เมื่อหลีกหนีสภาวะแวดล้อมที่ต่างออกไปจากผลของเทคโนโลยีทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ได้ ก็ต้องตั้งรับและปรับกลยุทธ์ โดย สมาคมธนาคารไทยได้บรรจุแนวทางการปรับตัวและร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในห้าพันธกิจหลักของสมาคมธนาคารไทยในระยะ 5 ปี ด้วยการส่งเสริมการธนาคารในรูปแบบดิจิทัลและวางโครงสร้างระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digitalization & Next Generation Payments Infrastructure) ที่มีความเชื่อมโยงกับโครงการ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของภาครัฐ ซึ่งผลกระทบท้ายสุดที่ปรากฏมายังระบบธนาคารพาณิชย์ คือ การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม และรูปแบบช่องทางบริการต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับต้นทุนและรูปแบบการใช้งานของผู้บริโภคภายใต้พลวัตทางเทคโนโลยีมากขึ้น
นอกจากนี้ รูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวม คงพลิกโฉมไปเช่นกัน โดยแนวทางที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งเดินคู่ขนานกัน คือ การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่โดยมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดูแลงานด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะเพราะการทำงานด้านดิจิทัลที่แท้จริง ต้องปรับตั้งแต่วิธีคิดวัฒนธรรมการทำงาน กระบวนการทำงาน และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อให้กลายเป็นองค์กรแห่งดิจิทัลอย่างแท้จริงจึงจะสามารถดึงดูดทีมงานที่มีความสามารถและสนับสนุนให้ทีมงานสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ได้
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไทยยังเลือกเดินกลยุทธ์การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (tech giants) เพื่ออาศัยจุดแข็งระหว่างกันในการเติมเต็มประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้า รวมถึงการลงทุนใน บริษัทฟินเทค สตาร์ทอัพ (fintech startup) ที่มีความคล่องตัวในการทำงานสูง มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีเฉพาะด้านที่สามารถนำมาเพิ่มแต้มต่อให้กับบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้ซึ่งการลงทุนดังกล่าว ก็จะช่วยเกื้อกูลฟินเทคสตาร์ทอัพเหล่านั้นเช่นกัน ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์ อาศัยโครงสร้างพื้นฐาน หรือเครือข่ายธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เพื่อขยายขนาดธุรกิจ (scaling) เป็นต้น
ท่ามกลางยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่มีผลต่อธุรกิจของลูกค้าไปพร้อมๆ กันนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยคงต้องสานต่อบทบาทในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถคิดค้นและใช้เทคโนโลยีให้เกิดนวัตกรรมจนสามารถ ‘แข่งขันได้’ เพราะถ้าธุรกิจและเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ระบบธนาคารพาณิชย์ก็จะเข้มแข็งเช่นกัน ดังนั้น การรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยี จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
ขณะเดียวกันการสร้างกลไกรับมือที่ยั่งยืนอาจหมายถึงความจำเป็นที่ไทยต้องปฏิรูปลึกลงไปในหลายด้าน อาทิ ด้านระดับการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยทรัพยากรบุคคลของไทย ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ไทยสามารถผ่าทางตันของปัญหาศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศ และปัญหาภาวะกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ไปได้อย่างแท้จริงธนาคารพาณิชย์ไทยกับเทคโนโลยี
ปรีดี ดาวฉาย
ประธานสมาคมธนาคารไทย
คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมบทความทรงคุณค่า ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine