ถนนไทยและความปลอดภัย ก่อน-หลัง "โควิด-19" - Forbes Thailand

ถนนไทยและความปลอดภัย ก่อน-หลัง "โควิด-19"

การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด- 19 ในช่วงเดือนมกราคม 2563 ผมและคณะทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนของไทย ซึ่งเป็นผู้แทนจากหลายหน่วยงานราชการกำลังเตรียมตัวกันอย่างหนัก

เพื่อนำความคืบหน้าของปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับประชาคมโลก ดำเนินการตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ปี 2544-2563 ไปรายงานในการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องความปลอดภัยทางถนน ที่ Stockholm ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวลานั้นโควิด-19 ยังไม่ทำให้พวกเราหวั่นวิตกมากไปกว่ายอดผู้เสียชีวิตบนท้องถนนไทยจาก “อุบัติเหตุ” ที่มีถึง 45-60 คนต่อวัน กระทั่งต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในประเทศไทยเพราะโควิด-19 ยังไม่เกินกว่า 60 คน ทั้งที่เวลาผ่านมากว่า 3 เดือน แต่ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนในแต่ละวันยังสูงเหมือนเดิม องค์การอนามัยโลกทบทวนเป้าหมายยามสิ้นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2544-2563 ให้ผู้บริหารประเทศและผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมว่า ต้องทำให้การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนของโลกลดลงครึ่งหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงแม้จะสิ้นทศวรรษองค์การอนามัยโลกประเมินแล้วว่า เราไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ ความสูญเสียบนท้องถนนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 1.35 ล้านคนในแต่ละปี จดหมายเหตุในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 3 และการประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 จึงได้กำหนดเป้าหมายใหม่เพื่อความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้าว่า ต้องลดการเสียชีวิต และการบาดเจ็บสาหัสจากการชนบนถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 เป็นเป้าหมายอ้างอิงของโลกที่ท้าทายอย่างยิ่ง และเราจะต้องนำมาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์วางแผนการดำเนินงานของประเทศไทย เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ลากยาวมานานกว่า 30-40 ปีของประเทศไทย คล้ายกับหลายประเทศที่ล้มเหลวในการแก้ไข ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้เพราะ “การขาดเจตจำนงทางการเมืองอย่างแท้จริง” (lack of political will) ของรัฐบาล เจตจำนงทางการเมืองต้องไม่ใช่เพียงแค่การประกาศเป็นนโยบาย แต่ต้องมีการลงทุน มีการให้อำนาจมอบหมายหน่วยงานสนับสนุน หน่วยงานหลักที่เป็นมืออาชีพให้รับผิดชอบมีการกำกับติดตามอย่างจริงจังใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในการตั้งเป้าหมายใหม่ขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก เพราะต้องการสื่อสารถึงทุกประเทศให้เห็นความสำคัญของความสูญเสียจากการชนบนถนนกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเพิ่มความรับผิดชอบต่อปัญหานี้มากขึ้นหากต้องการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลให้ยกระดับความสำคัญของปัญหาและการแก้ปัญหานี้ หน่วยงานทุกแห่งต้องรับเป็นเจ้าของในการวางแผนและลงมือทำอย่างจริงจัง ถามว่า เรื่องนี้สำคัญแค่ไหน? ขนาดว่าสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน มีพระราชดำรัสในพิธีเปิดว่า “อุบัติเหตุทางถนนสามารถป้องกันได้ การเสียชีวิตจำนวนมากจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกๆ คน และพวกเราต้องช่วยกันสร้างโลกที่ปลอดภัยสำหรับคนรุ่นต่อไป” สิ่งที่พวกเราทั้งหมดหวั่นๆ กันขณะนี้คือ หลังโรคระบาดโควิด-19 ถ้าคนกลับมาใช้ยานพาหนะส่วนตัวมากขึ้น รถจักรยานยนต์จะเป็นอันดับ 1 ของการใช้งาน และน่าจะครองแชมป์ตายสูงสุดบนถนนเช่นเคย...   นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะที่ปรึกษาด้านการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บแห่งองค์การอนามัยโลก   อ่านเพิ่มเติม:  เปิดทางรอด ธุรกิจอสังหาฯ ฝ่าโควิด-19
คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine