กระแส 'ตลาดทุนแบบมีส่วนร่วม' - Forbes Thailand

กระแส 'ตลาดทุนแบบมีส่วนร่วม'

เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือ distributed ledger technology (บล็อกเชนเป็นเชนเป็น DLT ประเภทหนึ่ง) กำลังขับเคลื่อนให้เกิดกระแสความมีส่วนร่วม (democratization) ของตลาดการเงิน ซึ่งจะพลิกโฉมบริบทการประกอบธุรกิจ ส่งผลให้ผู้เล่นเดิมต้องปรับวิธีคิด วิธีการปฏิบัติงาน และการให้บริการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ในอดีต คงเป็นเรื่องแปลก ถ้าจะบอกผู้คนว่าธุรกรรมทางการเงิน เช่น การโอนจ่ายเงิน การซื้อขายหุ้น หรือการทำประกันภัย ไม่จำเป็นต้องทำผ่านตัวกลางทางการเงิน (financial intermediaries) เช่น ธนาคารพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกันภัย

เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้จำนวนผู้เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทำผ่านตัวกลางทางการเงินทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวกลางทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างปัจเจกบุคคล ห้างร้าน และภาคส่วนต่างๆ ด้วยการให้ความเชื่อถือ (trust) ต่อผู้ร่วมตลาดในการให้บริการด้วยต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำ (efficiency) อันเป็นผลจาก economy of scale สภาพคล่องที่สูงจากการรวมศูนย์การซื้อการขายเข้ามาอยู่ที่เดียวกัน และการควบคุมดูแลให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมในการให้บริการ

ยกตัวอย่าง ธนาคารพาณิชย์ที่มีบทบาทที่สำคัญในฐานะตัวกลางทางการเงิน รับฝากเงินจากผู้ฝากเงินจำนวนมากรายทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยรวบเงินฝากเหล่านี้ให้กับผู้กู้เงินซึ่งมักจะมีจำนวนน้อยรายกว่า แต่กู้เงินในปริมาณที่มากและในระยะที่ยาวนานกว่าเงินฝาก ซึ่งธนาคารพาณิชย์และตัวกลางทางการเงินอื่นๆ มีความจำเป็น เพราะเป็นองค์กรที่ผู้ฝากเงินเชื่อถือ สามารถรวมเงินจากหลากหลายบัญชีเงินฝากมาปล่อยกู้ให้บริษัทด้วยต้นทุนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อันส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศโดยรวม

และในส่วนของตลาดทุนมีลักษณะแบบรวมศูนย์ อันประกอบด้วยตลาดหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน ฯลฯ มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ลงทุนและบริษัทที่ต้องการระดมทุน และเป็นตลาดรองที่ผู้ลงทุนสามารถเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ได้

โดยตลาดทุนแบบรวมศูนย์มีความได้เปรียบจากการถูกกำกับดูแล การมีระบบการบริหารความเสี่ยงและมีธรรมาภิบาลที่ดี จึงเป็นที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพที่สูงในการบริหารจัดการการซื้อขายที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของ เทคโนโลยี DLT ได้ท้าทายความจำเป็นที่จะต้องทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตัวกลางทางการเงิน ตัวอย่างเช่น ความแพร่หลายของ cryptocurrency ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกๆ ของการประยุกต์ใช้ DLT ได้ส่งผลให้ปัจเจกบุคคลสามารถโอนเงินระหว่างกัน (peer-to-peer) ทั้งภายในและระหว่างประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารกลาง

เกิดเป็นธุรกรรมที่ปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ และเป็นธุรกรรมที่ตรวจสอบได้ยากโดยธนาคารกลางหรือองค์กรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินใดๆ จนใครหลายคนตั้งคำถามว่าธนาคารพาณิชย์ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่หรือธนาคารกลางต่างๆ จะสามารถบริหารนโยบายการเงินได้อย่างไร หากปริมาณเงินเสมือนสามารถโอนย้ายได้อย่างอิสระข้ามพรมแดนหรือการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในอนาคตจะทำอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น ในตลาดทุน หากบริษัทสามารถระดมทุนได้โดยตรงจากผู้ลงทุน และหากผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกันโดยไม่ผ่านตัวกลางแต่ผ่านเทคโนโลยี DLT ระบบตลาดทุนแบบรวมศูนย์ในปัจจุบันจะต้องปรับตัวอย่างไร

การที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่น DLT จะเข้ามาทดแทนระบบปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์ นอกเหนือจากการปรับระบบการทำงานและการใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังจะต้องมีหลายองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย แนวทางปฏิบัติ การบังคับใช้ที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือ (trust) ในระบบ เพราะท้ายสุดแล้ว ความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความยั่งยืนของตลาดทุน

ผมเชื่อมั่นว่าผู้ร่วมตลาดทุนต่างๆ ในปัจจุบันของไทย ตระหนักถึงความท้าทายและประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี และอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแนวทางการปรับตนเองเพื่อเตรียมพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

แน่นอนที่สุดการบริหารความเสี่ยงจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่เพียงการตอบรับปรับเปลี่ยนจากภัยคุยคามในอนาคต เท่านั้น แต่คือการเป็นผู้นำและกำหนดอนาคตด้วยตนเอง ผมเชื่อว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจที่สุดของตลาดทุนที่จะปรับบทบาทจากตลาดทุนรวมศูนย์เป็นตลาดทุนที่มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

 

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย

กรรมการและผู้จัดการ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


อ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2562 หรือคลิกอ่านแบบ e-Magazine ได้ที่นี่