ภารกิจกสทช. ดันไทยสู่ยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

ภารกิจกสทช. ดันไทยสู่ยุคดิจิทัล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่หรือ mobile broadband เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนสังคมทั่วทุกมุมโลกให้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลนอกจากอินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโลกให้ไร้ซึ่งพรมแดนแล้ว ยังส่งอิทธิพลไปถึงพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับในประเทศไทยทุกวันนี้คนไทยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงถึง 130% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ในทุกๆ ช่วงเวลามีประชากรไทยเกือบครึ่งของประเทศใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อสื่อสารระหว่างกันและแอพพลิเคชั่นที่เป็นที่นิยมคือแอพพลิเคชั่นแชท คนไทยใช้แอพพลิเคชั่น LINE สูงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โดยสถิติล่าสุดมีผู้ใช้ LINE กว่า 33 ล้านบัญชี สติกเกอร์ไลน์กลายมาเป็นอีกหนึ่งวิธีการสื่อสารความรู้สึกระหว่างบุคคลที่มีประสิทธิภาพที่สุดของคนไทย

นอกจากนี้ คนไทยยังเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook โดยมียูสเซอร์เปิดใช้ในไทยกว่า 30 ล้านบัญชี และเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ Facebook ได้เปิดตัวบริการ Facebook Live ให้ได้เริ่มใช้งานเป็นครั้งแรก ซึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์ สถิติการใช้ฟีเจอร์ตัวใหม่นี้บนโซเชียลเน็ตเวิร์คของประเทศไทย วิ่งแซงหน้าขึ้นติดอันดับประเทศที่มีผู้ใช้งาน Facebook Live สูงที่สุดในโลก ปัจจุบันคนไทยนิยมพูดคุยกันผ่านทางโลกเสมือน มักอัพโหลดรูปภาพและวิดีโอออนไลน์ ทุกคนมีช่องทางของตัวเองในการแสดงออกในแบบต่างๆ ไปถึงกระทั่งมีพื้นที่ออนไลน์ในการขายของและการเลือกซื้อของ เล่นเกม โอนเงิน ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจประเภทอี-คอมเมิร์ซและธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังกสทช. เปิดประมูลคลื่น 3G เมื่อปี 2555 โดยการประมูลในครั้งนั้นทำรายได้เข้ารัฐถึงกว่า 4.2 หมื่นล้านบาทหรือ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปลายปี 2558 กสทช.ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz หรือคลื่น 4G เป็นการประมูลที่สร้างรายได้เข้าประเทศสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 2.3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กล่าวได้ว่ากสทช. มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) มีการจัดอันดับการพัฒนาด้านไอซีที หรือ ICT Development Index โดยประเทศไทยไต่อันดับสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเพิ่มจากอันดับ 92 มาอยู่ที่อันดับ 74 ในปี 2558 ทั้งนี้ กสทช. ยังมีอีกหลายเป้าหมายที่ต้องดำเนินการในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหมายความรวมถึงแผนการในปีนี้และภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่กสทช.จะเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz 850 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เพื่อรองรับการให้บริการคลื่น 4G อย่างพอเพียง อีกเป้าหมายหนึ่งคือ การเร่งขยายโครงข่ายให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และที่สำคัญยิ่งกว่า คือการคุ้มครองผู้บริโภค และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ชนบทประเทศไทยมีหมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 75,000 หมู่บ้านในจำนวนนี้มีเพียง 40% หรือประมาณ 30,000 หมู่บ้านเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่เหลือ 60% หรือประมาณ 45,000 หมู่บ้านจะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต ซึ่งกสทช.จะรับผิดชอบการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ประมาณ 4,000 หมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านที่เหลือนั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงไอซีที ภายในสิ้นปี 2560 เราคาดว่าจะสามารถทำให้บริการอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศได้ กสทช.ยังร่วมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการริเริ่มโครงการ Thailand Telecommunication Relay Service (TTRS) เพื่อช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน ให้สามารถใช้โทรศัพท์แบบพิเศษในการติดต่อสื่อสารและสนับสนุนการขยายบริการห้องสมุดทางโทรศัพท์ (Daisy) ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยเพื่อจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลที่ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ กสทช.ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการมีโปรโมชั่นในอัตราพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมของกลุ่มคนเหล่านี้ในภารกิจด้านคุ้มครองผู้บริโภค กสทช.จัดตั้ง Call Center เพื่อรับเรื่องร้องเรียนการใช้บริการโทรคมนาคม อีกทั้งยังกำหนดอัตราค่าบริการทางเสียงเฉลี่ยต้องต่ำกว่า 69 สตางค์ต่อนาที และค่าบริการข้อมูลหรือดาต้าเฉลี่ยต้องต่ำกว่า 26 สตางค์ต่อเมกะไบต์ผมมีความมั่นใจว่าด้วยแผนการดำเนินการในระยะ 5 ปีข้างหน้าของกสทช.ที่กล่าวมานี้ จะนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา
โดยฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมบทความทรงคุณค่า ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine