ญี่ปุ่นในชั่วโมงวิกฤตปะทุจากภายใน - Forbes Thailand

ญี่ปุ่นในชั่วโมงวิกฤตปะทุจากภายใน

ช่วงหลังมานี้มีรายงานข่าวด้านลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย Abenomics หนาหูมากขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เข้าเป้าตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวอย่างอ่อนแอ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและขวัญกำลังใจของคนในประเทศที่ตกต่ำ (ซึ่งยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้) อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Abenomics ไม่ใช่เครื่องมือที่จะสามารถแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรกแล้วเพราะมันเป็นเพียงยารักษาอาการที่ต้นเหตุวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมากกว่า สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนญี่ปุ่นเลยอาจเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงญี่ปุ่นในยุคปี 1960 ภาพของประเทศที่เต็มไปด้วยพลังและความมุ่งมั่น ชาวญี่ปุ่นทุกระดับชั้นเปิดกว้างต่อโลกภายนอก สนใจใคร่รู้เรื่องราวในต่างประเทศและกระตือรือร้นอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในช่วงทศวรรษ 1970 ค่อนข้างเป็นปีที่ท้าทายเนื่องจากญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันหลังจากกลุ่มโอเปคปรับราคาน้ำมันขึ้นอย่างรุนแรง ตามมาด้วยเหตุการณ์ “Nixon Shock” ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นประกาศยกเลิกการผูกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กับทองคำ ซึ่งส่งผลกระทบมากมาย รวมถึงทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นดีดตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก อนาคตของญี่ปุ่นในช่วงนั้นดูอึมครึมไม่สดใส แต่ผลปรากฏว่ายุคนั้นกลายเป็นยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเนื่องจากทั้งภาครัฐและกิจการภาคเอกชนดำเนินการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ปริมาณการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงอย่างมาก และอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังมีการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานและบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันในด้านการผลิตชิ้นส่วน ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นดูเหมือนจะล่มสลายเมื่อปี 1991 ผมเขียนบทความโดยจั่วหัวขึ้นต้นด้วยคำพูดของ Mark Twain ว่า “ข่าวเรื่องการตายของผมพูดเกินจริงไปมาก” ในตอนนั้นผมมองว่าญี่ปุ่นน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้งดังเช่นในอดีต แต่เมื่อญี่ปุ่นเผชิญภาวะซบเซายาวนานต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษครึ่งหรือที่เรียกกันว่าทศวรรษที่หายไปจึงเป็นที่แน่ชัดว่าผมคิดผิดอย่างมหันต์ เพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมอธิบายว่าญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งรวมถึงการพ่ายแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและผลกระทบจากเหตุการณ์ Nixon Shock แต่วิกฤตปี 1990 ครั้งนี้เกิดจากปัญหาอ่อนแอภายในและนโยบายที่ขาดความยืดหยุ่น เมื่อเทียบกับจิตวิญญาณอันมุ่งมั่นในยุค 1960 ประเทศญี่ปุ่นในยุค 1980 เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในประเทศจนถือว่าตนเองมีความสำคัญ และเข้าข่ายเก็บตัวไม่สนใจต่อโลกภายนอกในช่วงยุคปี 1990 ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงหนึ่งเดียวจากโลกตะวันออกที่สามารถยกระดับตัวเองเป็นมหาอำนาจเทียบเคียงกับประเทศตะวันตก และที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็คือญี่ปุ่นไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองให้ทันกระแสโลกเมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีข้อบ่งชี้หลายอย่างในเรื่องนี้ แต่ผมจะเน้นไปที่ 2 ประเด็นสำคัญได้แก่ ภาษาอังกฤษและการก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญของจีน เป็นที่ชัดเจนว่าภาษาอังกฤษจะยังคงมีความสำคัญในฐานะภาษาสากลไปอีกหลายทศวรรษ ประเทศญี่ปุ่นมีผลคะแนนเฉลี่ย TOEFL อยู่ในระดับต่ำโดยรั้งอันดับเกือบท้ายสุด ซึ่งมีคะแนนมากกว่าเกาหลีเหนือเพียงประเทศเดียวเท่านั้น คนญี่ปุ่นที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศมีจำนวนลดลง ขณะที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นไม่เปิดกว้างและมีมุมมองแคบกว่าเดิม ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นครองตำแหน่งประเทศอันดับหนึ่งของเอเชียและนำหน้าจีนอยู่ไกลทั้งในด้านการทหารและเศรษฐกิจ และจากประสบการณ์ตรงของผมระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวในช่วงทศวรรษที่ 1980 คนญี่ปุ่นในตำแหน่งระดับสูงชั้นแนวหน้าจากทั้งภาคธุรกิจ การเมือง สื่อ หรือวงการการศึกษาต่างมองข้ามไม่เห็นว่าจีนกำลังเร่งเครื่องตามมาอย่างกระชั้นชิด และในไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้นก็ปรากฏชัดเจนว่าญี่ปุ่นไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริงว่าจีนกำลังก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกโดยเป็นรองแค่เพียงสหรัฐฯ สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันก็คือการ “พัฒนาตนเองสู่ประเทศมหาอำนาจในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจีน” ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือนอกจากสหรัฐฯ และแคนาดา ญี่ปุ่นยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank ที่รัฐบาลจีนเป็นตัวตั้งตัวตี แรงกดดันและความท้าทายจากจีนส่งผลให้ภาครัฐผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่นมีนโยบายที่สับสนและไร้ทิศทาง ญี่ปุ่นจะฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งหากสามารถรวบรวมพลังความมุ่งมั่นที่จะเปิดรับโลกภายนอกดังเช่นในอดีต เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Abenomics เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบขัดตาทัพ JEAN-PIERE LEHMANN ผู้เขียนบทความให้กับ Forbes.com และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของสถาบัน IMD ณ เมือง Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์; ศาสตราจารย์รับเชิญของ Hong Kong University และ NIIT University ณ เมือง Rajasthan ประเทศอินเดีย
คลิกอ่านบทความด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine