จับตาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ: 'จีน' ประเทศมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21 - Forbes Thailand

จับตาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ: 'จีน' ประเทศมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21

บนพื้นฐานของสถานการณ์ในปัจจุบันดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าโลกกำลังดำเนินมาถึงช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้ง เมื่อจีนผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21 ขณะที่บทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 เริ่มเสื่อมถอยลง

ก่อนหน้าที่จีนจะก้าวเข้าสู่ “ศตวรรษแห่งความอัปยศ” ซึ่งกินเวลานานกว่า 100 ปีนับตั้งแต่เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 จีนเคยเป็นประเทศที่มั่งคั่งและทะนงในฐานะศูนย์กลางอำนาจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเศรษฐกิจจีนดิ่งลงอย่างหนัก สัดส่วนจีดีพีโลกของจีนร่วงลงจากราว 33% ในปี 1920 เหลือเพียง 4% ในปี 1950 แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรคิดเป็น 20% ของโลก เพียงไม่นานก่อนหน้านี้ “ชาวจีน” กับ “ความยากจน” ยังเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก จีนไม่มีพันธมิตรจากโลกตะวันตกแต่มีเพียงประเทศกึ่งๆ พันธมิตรจากเอเชีย ได้แก่ เกาหลีเหนือและปากีสถาน จีนไม่ได้พยายามเอาอย่างระบบแบบแผนของตะวันตกเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อตั้งคำถามว่าจีนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรคำตอบก็คือการใช้ระบบ “สังคมนิยมผสานเอกลักษณ์แบบจีน”
ในอดีต ประเทศจีนเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่งเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ในช่วงราชวงศ์ชิง หลังจากนั้นเศรษฐกิจจีนก็เริ่มดิ่งลงอย่างหนัก และกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้งหลังใช้ระบบสังคมนิยมผสานเอกลักษณ์แบบจีน (Photo Credit: emaze.com)
จีนมีอิทธิพลมากขึ้นทั้งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ หลักปรัชญาและรากฐานความคิดในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 เหล่าประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกจำเป็นต้องเรียนรู้จากมหาอำนาจตะวันตก แต่ปัจจุบันจะต้องหันมามุ่งความสนใจไปที่จีน หนังสือ Everything Under Heavens: How the Past Helps Shape China’s Push for Global Power ซึ่งเขียนโดย Howard French คือคลังข้อมูลอันดีเยี่ยมพร้อมประเด็นเจาะลึกอันน่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองของจีนที่มีต่อทั่วโลกและชะตากรรมที่ผ่านมาของตน รวมทั้งบทบาทความสัมพันธ์ต่อประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ในน่านน้ำทะเลจีนใต้และต่อประเทศญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก โดยเราจะเห็นได้ว่าผู้นำความคิดและนโยบายของจีนค่อนข้างคุ้นเคยกับหลักทฤษฎี Monroe Doctrine ที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถต่อต้านการแทรกแซงอเมริกากลางและเปลี่ยนให้ Caribbean กลายเป็นฐานทัพของสหรัฐฯ หลักทฤษฎี Monroe ฉบับศตวรรษที่ 21 นั้นกำเนิดขึ้นที่จีนและถูกนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศแถบเอเชียตะวันออก การผงาดขึ้นมาของจีนเป็นเพียงภาพแค่ครึ่งเดียวของสถานการณ์โลก ชิ้นส่วนสำคัญอีกครึ่งหนึ่งคือบทบาทความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ และรวมถึงประเทศฝั่งตะวันตกที่กำลังลดทอนลง เรื่องราวนี้คือประเด็นหลักในหนังสือเล่มล่าสุดของ Edward Luce เรื่อง The Retreat of Western Liberalism โดย Luce อธิบายว่าการที่ Donald Trump ก้าวขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยที่นำพาประเทศไปสู่หายนะแต่มันก็เป็นเพียงระเบิดเวลาที่รอวันเกิดขึ้นอยู่แล้ว การเสื่อมถอยอำนาจของสหรัฐฯ และระบอบเสรีนิยมแบบตะวันตกเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าความร่วมมือของพันธมิตรชาติตะวันตกซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลกในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นั้นมาถึงจุดที่ใกล้สิ้นสุด
Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีทิศทางสนับสนุนการเหยียดผิวและมีแนวคิดขวาจัด ซึ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยตะวันตกมืดมน
ทั้งนี้ Luce ระบุว่าขณะที่ทฤษฎีจุดจบของประวัติศาสตร์ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อสู่ยุคใหม่สรุปว่าระบอบประชาธิปไตยคือฝ่ายกำชัยชนะ แต่ที่จริงแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาผลปรากฏว่าการเลือกตั้งทั้ง 25 ครั้งนั้นนับว่าล้มเหลว ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า “วิถีการดำเนินชีวิตแบบตะวันตกและระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะยังคงอยู่รอดหรือไม่เมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งสำคัญของโลก...ชัยชนะของ Donald Trump ทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงความล้มเหลวของประเทศตะวันตกในการเรียนรู้และรับมือกับโลกแห่งความจริงที่ตนต้องเผชิญ” ผมนึกถึงเหตุการณ์ในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เมื่ออ่านถึงบทความตอนหนึ่งในหนังสือของ Luce ที่เขียนไว้ว่า“อนาคตของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกดูมืดมน หากการเมืองสหรัฐฯ มีทิศทางเชิงสนับสนุนการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์ Donald Trump ปลุกกระแสการเหยียดผิวอย่างเปิดเผยและได้ให้การสนับสนุน ‘กลุ่มขวาจัด’ ที่เชิดชูแนวคิดแบบนีโอนาซีเยอรมันและเชื่อว่าคนผิวขาวต้องเป็นใหญ่” ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจและสหรัฐฯเริ่มเสื่อมถอยจึงทำให้สายตาหันมาจับจ้องที่รัฐบาลเยอรมนีและนายกรัฐมนตรี Angela Merkel แต่ชาวเยอรมันซึ่งเคยเป็นผู้นำชั้นแนวหน้าของโลกที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน (และล้มเหลว) คงไม่ค่อยอยากข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก   Jean-Pierre Lehmann ผู้เขียนบทความให้แก่ Forbes.com ศาสตราจารย์กิตติคุณของ IMD ใน Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อาจารย์พิเศษของ Hong Kong University และ NIIT University ใน Rajasthan ประเทศอินเดีย
อ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ ตุลาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine