ความขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียนกับความสำเร็จของ AEC - Forbes Thailand

ความขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียนกับความสำเร็จของ AEC

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของอาเซียน อันได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน รวมถึงประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือการพัฒนาศักยภาพในด้านการค้าและขนาดตลาดของกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะด้วยการเปิดการค้าเสรีภายในภูมิภาค หรือว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี เมื่อได้ชื่อว่าเป็นเสาหลัก ย่อมหมายความว่าทั้งสามเสาหลักต้องทำหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน ยึดโยงกัน และมีเสถียรภาพในการค้ำยันโครงสร้าง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียน หากเสาใดเสาหนึ่งนั้นถูกกระทบ ย่อมอาจส่งผลถึงเสาหลักอื่นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการอพยพของมุสลิมชาวโรฮิงญาสู่ประเทศทางตอนใต้ของเมียนมา อาทิ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้หมายความรวมถึงประเทศไทยที่ประสบปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ กับปัญหาการปักปันเขตแดนในพื้นที่พิพาทรอบปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชา รวมถึงปัญหาการก่อการร้ายในภูมิภาค อีกทั้งความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่เห็นได้ชัดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ที่สร้างความตึงเครียดจากสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งมี 5 ประเทศที่มีสิทธิเรียกร้องในอธิปไตยทับซ้อนกันคือจีน มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ในช่วงที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุง Hague และได้มีคำตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะโดยจีนปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วมต่อสู้คดีมาตั้งแต่ต้น ตามที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนนั้น เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียนมาเป็นระยะเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน หากข้อพิพาทดังกล่าวไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ หรือทางออกที่มีนั้นไม่สามารถทำให้เกิด comfort level ระหว่างทั้งสองประเทศคู่พิพาทได้ การลงทุนและการค้าขายที่อาเซียนเคยได้รับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากจีนก็อาจจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ การพิพาทกันในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นทางเดินเรือสินค้าสำคัญของทวีปเอเชียนี้ หากเกิดความขัดแย้งถึงระดับที่นำไปสู่ความไม่สงบ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างเสรี อีกทั้งยังจะกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนแถบอาเซียนที่มีฐานประชากร 610 ล้านคน ทั้งนี้ ปัญหาระดับภูมิภาค อาทิ แรงงานต่างด้าวของชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของไทยและชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมานั้น รากฐานปัญหามักเกิดจากชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ปัญหาดังกล่าวมักจะปรากฏเด่นชัดในภาคประชาชนมากกว่าระดับรัฐบาลซึ่งปัญหาที่เกิดจากภาคประชาชนนั้นมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะประชาชนทุกคนใน 10 ประเทศอาเซียนเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนอาเซียนให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น หากฟันเฟืองไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น การขับเคลื่อนอาเซียนไปข้างหน้าก็จะดำเนินไปอย่างล่าช้าและมีอุปสรรค เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หากต้องการให้เสาหลักทางเศรษฐกิจของอาเซียน (AEC) ดำเนินการไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็จำต้องรักษาเสถียรภาพของสองเสาหลักที่เหลือไว้เช่นกันโดยหนทางที่คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชียซึ่งผมเป็นประธานอยู่นั้น มีมติเห็นพ้องกันมาโดยตลอดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือการแก้ไขปัญหาผ่านความร่วมมือและการประนีประนอม แทนที่จะเผชิญหน้ากันเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้ (zero-sum game) เราจึงต้องสร้างกรอบความร่วมมือขึ้นเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย (win-win game) อันเป็นการเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงเวลานี้ก็คือการร่วมมือกันระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งเริ่มมีการหารือในการดำเนินการเพื่อกำหนดกรอบในการจัดสรรทรัพยากรทางทะเลภายในทะเลจีนใต้ นอกจากการแก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น เราจำเป็นต้องมีความอดทนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งบางปัญหาอาจใช้ระยะเวลานาน ปัญหาใดที่ระดับรัฐบาลไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติกันได้ก็ควรจะพักการเจรจาไว้ และจัดตั้ง คณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ (eminent persons group) ขึ้น โดยอาจจะระดมผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ หรือบุคคลผู้มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดีเพื่อมาร่วมกันสร้างกลไกในการยุติข้อพิพาท นอกจากนั้นควรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อกลไกดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อกลไกดังกล่าวจะได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมปัญหาในมุมมองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560