งาน Startup Thailand เมื่อวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยภาครัฐและเอกชนร่วมกับธุรกิจสตาร์ทอัพมีผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามทั้งสี่วันเกินความคาดหมายของผู้จัดงาน เทียบได้กับงานลดราคาสินค้าแบรนด์ยอดนิยมแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการตื่นตัวอย่างมากเรื่องสตาร์ทอัพ
สตาร์ทอัพ โดยความเป็นจริงแล้วก็คือ SMEs ประเภทหนึ่ง ที่เริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ต้องมีคนและเงินทุนมากนัก แต่มี business model ที่น่าสนใจ ที่ตอบโจทย์ของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย มีโอกาสที่จะสร้างให้เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตได้อย่างมาก เป็นสิบเท่าร้อยเท่า ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีและ social media ทำให้เข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงสนใจอยากเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ
ตลาด mai ซึ่งตั้งเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของธุรกิจ SMEs หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทย ตลอด 17 ปีที่ผ่านมานอกจากจะทำหน้าที่ระดมทุนแล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจและลักษณะการทำธุรกิจของ SMEs ทั้งขยายธุรกิจ การสร้างความเติบโต การมีระบบการบริหารที่เป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใสและบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งปัจจุบันมี 124 บริษัทระดมทุนผ่านตลาด mai แล้วกว่า 80,000 ล้านบาท เพื่อไปขยายกิจการสร้างความเข็มแข็งทางการเงิน โดยทั้ง 124 บริษัทนี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 330,000 ล้านบาท และมีอีก 21 บริษัทที่เติบโตย้ายไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อีกกว่า 100,000 ล้านบาทเรื่องราวความสำเร็จและการเติบโตของบริษัทที่จดทะเบียนใน mai ทำให้ขณะนี้มีธุรกิจอีกหลายร้อยราย คิดเรื่องการเข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แต่ความจริงแล้วในเศรษฐกิจของไทยเรายังมีธุรกิจอีกมากมายที่ต้องการเงินทุนแต่ไม่อาจระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้
อีกภารกิจที่สำคัญของ mai คือ การเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจไทยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืนทั้งงานด้านการเตรียมความพร้อมให้กับ potential listing หรือบริษัทที่มีศักยภาพให้สามารถเข้ามาจดทะเบียนใน mai อย่างราบรื่นที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยบ่มเพาะศักยภาพให้ธุรกิจเล็กๆ มีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนสร้างโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดธุรกิจต่อให้เติบโตยั่งยืนต่อไป ภายใต้กลยุทธ์ CDEF (Connecting-Developing-Educating-Funding)
Connecting คือกลยุทธ์การเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ของการทำธุรกิจ (ecosystem) ของสตาร์ทอัพเพื่อให้ทุกส่วนเข้าถึงกัน ดังโครงข่ายใยแมงมุมที่มีข้อมูลและการสนับสนุนกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ผ่านทาง web portal ชื่อ New Economic Worrior Platform (NEW Platform) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานพันธมิตรอาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) และสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ใน NEW Platform แบ่ง Ecosystem ของสตาร์ทอัพเป็นสามกลุ่มหลักคือ
• สตาร์ทอัพที่มีหลากหลายอุตสาหกรรมเช่น Fintech, e-Commerce, HealthTECH, IndustryTECH, AgriTECH, Edtech, PropertyTECH, LifestyleTECH
• ผู้ลงทุน (investors) ซึ่งหลักๆ ประกอบด้วย angle investors, ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) และ crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ผ่านทางเว็บไซต์
• หน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน (supporting organization) อาทิ incubator/accelerator, coworking space, หน่วยงานภาครัฐ, ธุรกิจหรือองค์กรที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ, หน่วยงานการศึกษา, สื่อและอื่นๆ
วัตถุประสงค์ของ web portal คือ เป็นช่องทางให้สตาร์ทอัพที่ต้องการระดมทุนติดต่อกับผู้ลงทุนทั้งสามกลุ่ม ที่เหมาะกับstage หรือความพร้อมของธุรกิจ นอกจากนี้ยังเชื่อมการสนับสนุนต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐบาลที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ เช่น การจดทะเบียนตั้งธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ การขอรับสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับสตาร์ทอัพ การขอรับการสนับสนุนต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เช่น ซอฟต์แวร์ดี คูปองนวัตกรรม และโครงการ Startup Voucher ที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Startup Thailand รวมถึง web portal ยังเป็นช่องทางในการติดตามกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่มากมายสำหรับสตาร์ทอัพ ที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และการอัพเดทข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการสตาร์ทอัพ และยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เป็นช่องทางประกาศหางานหรือผู้ที่จะมาร่วมสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นต้น
ในขั้นต่อไป web portal จะเป็นที่รวมองค์ความรู้ต่างๆ ของสตาร์ทอัพ โดยแบ่งตาม stage ต่างๆ เช่น idea stage, prototype stage, growth stage ในที่สุด platform นี้จะเป็นเหมือนเมืองของสตาร์ทอัพที่จะเติบโตขึ้นทั้งจำนวนและคุณภาพของประชากรสตาร์ทอัพ รวมถึงการบริการการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Developing คือ กลยุทธ์ที่ช่วยสร้างและพัฒนาธุรกิจ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น โครงการเร่งสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง mai และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจุดประกายความคิดด้านการสร้างนวัตกรรมให้กับนักเรียนนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ การช่วยสร้างธุรกิจประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่และเร่งขยายธุรกิจช่วยการขับเคลื่อนธุรกิจให้กับ 18 ธุรกิจดาวรุ่ง เพราะการเติบโตด้วยนวัตกรรมจะเป็นคันเร่งที่ช่วยให้บริษัทขนาดย่อยเติบโตได้ดีขึ้น หรือโครงการที่ mai ช่วยสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ในด้านการศึกษา กลยุทธ์ Educating ที่ mai ร่วมกับ TSI และหน่วยงานต่างๆ
ให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ เจาะกลุ่มสตาร์ทอัพรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ โดยเปิดหลักสูตรแรก“STARTUP Fundamental Course” เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเป้าหมายที่จะพัฒนาความรู้แก่ผู้สนใจประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนกระบวนการในการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้เรียนรู้ผ่านผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและแนวทางในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง อย่างเป็นมืออาชีพตลอดจนมีแผนงานจัดอบรมให้ความรู้เรื่องธุรกิจสตาร์ทอัพให้กับกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย เพื่อความเข้าใจในเรื่องของแหล่งระดมทุนต่างๆ อาทิ venture capital หรือการระดมทุนด้วยการร่วมทุน private fund หรือกองทุนส่วนบุคคล angel fund หรือเครือข่ายนักลงทุนส่วนบุคคล crowdfunding หรือการระดมทุนจากประชาชนหรือองค์กรจำนวนมากผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ในเรื่องสนับสนุนด้านการระดมทุน หรือกลยุทธ์ Funding นั้นตลาดหลักทรัพย์ฯร่วมมือกับธนาคารออมสินในการจัดตั้ง SMEs Private Equity Trust Fund เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโต ธุรกิจ SMEs ที่เป็นคู่ค้ากับธุรกิจภาครัฐหรือภาคเอกชนขนาดใหญ่และโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการสิ่งๆ ต่างๆ เหล่านี้คือความพยายามของ mai ที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจขนาดย่อมของไทยให้เติบโตแข็งแรงเมื่อภาคธุรกิจขนาดย่อมแข็งแรง ธุรกิจที่อยู่ใน ecosystem ก็จะเติบโตไปด้วยทำให้เกิดการลงทุน เกิดจ้างงาน เงินภาษีต่างๆ ถูกนำไปพัฒนาประเทศ เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ประพันธ์ เจริญประวัติ
ผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)