การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติติดลบ ไทยจะใช้ ‘เอกลักษณ์ประเทศ’ ส่วนไหนเป็น ‘ข้อได้เปรียบ’ ทางเศรษฐกิจ - Forbes Thailand

การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติติดลบ ไทยจะใช้ ‘เอกลักษณ์ประเทศ’ ส่วนไหนเป็น ‘ข้อได้เปรียบ’ ทางเศรษฐกิจ

หลายๆ ประเทศมีเอกลักษณ์พิเศษที่สร้างความได้เปรียบในการพัฒนาเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย เอกลักษณ์ของประเทศหลายด้านนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ทว่าบางด้านจะเป็นเพียงความได้เปรียบชั่วคราว อาทิ ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงในภาคอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อประเทศมีรายได้และต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ประเทศอื่นก็อาจจะชิงความได้เปรียบทางด้านนี้ไป

ภายในกลุ่มอาเซียนปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงได้มากที่สุด โดยมีการลงทุนโดยตรงสุทธิประมาณร้อยละ 4.8 ต่อปีของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ระหว่างปี 2554-2559 เทียบกับการลงทุนโดยตรงสุทธิของไทยที่ติดลบร้อยละ 0.4 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน  จากข้อมูลของ UN Comtrade การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มคงที่อยู่ในระดับ 2.9-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2553 ส่วนเวียดนามได้แซงหน้าไทยไปตั้งแต่ปี 2556 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคาดว่าได้แซงหน้ามาเลเซียเป็นที่ 1 ของอาเซียนในปี 2560 การส่งออกของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มาจากสินค้ากลุ่มเดียว และบริษัทเดียวเป็นหลัก คือการผลิตและส่งออกโทรศัพท์มือถือของบริษัท ซัมซุง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5.4 หมื่นล้านเหรียญในปี 2560 คิดเป็นเกือบสองเท่าตัวของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยทั้งหมด ในส่วนจุดแข็งของไทย เรายังทิ้งห่างประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสำหรับการผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ หลายค่ายรถยนต์ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนเพื่อส่งออกไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคและสู่ตลาดโลก  อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมีประชากรมากกว่าไทยประมาณ 3.8 เท่า และเศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็ขยายตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ ดังนั้นภายในเวลาไม่นานตลาดรถยนต์ในอินโดนีเซียก็จะใหญ่กว่าในไทยหลายเท่าตัว ถ้าถึงจุดนั้น ไทยจะยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่หรือไม่ การดึงดูดการลงทุนโดยตรงในภาคอุตสาหกรรมจากต่างชาติไม่ใช่อะไรที่ไทยจะกำหนดได้โดยลำพัง เพราะขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การแข่งขันของบริษัทข้ามชาติต่างๆ และขึ้นกับว่าบริษัทของประเทศใดจะสามารถผลิตสินค้ายอดนิยมในอนาคต ถ้าบริษัทญี่ปุ่นครองตลาดได้ การกำหนดฐานการผลิตและการลงทุนโดยตรงไปสู่ประเทศต่างๆ ก็จะเป็นรูปแบบหนึ่ง ถ้าเป็นบริษัทเกาหลีใต้ก็อีกรูปแบบหนึ่ง และถ้าเป็นบริษัทจีนก็จะแตกต่างไปอีก ถ้าหันมาดูภาคเศรษฐกิจที่ประเทศไทยน่าจะมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนในระยะยาว ภาคเกษตรและอาหาร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็น่าจะอยู่ในแนวหน้า (ยกเว้นผลที่คาดไม่ถึงจากภาวะโลกร้อน)เพราะแม้ว่าไทยจะพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีระดับรายได้สูงในอนาคต สาขาเกษตรและอาหารก็สามารถเป็นสาขาหลักสาขาหนึ่งของเศรษฐกิจไทยได้ ไม่แตกต่างอะไรกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ยังอยู่ในแนวหน้าทางด้านการเกษตรและอาหาร เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ  สิ่งที่ต้องเน้นคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการตลาดเพื่อเพิ่มค่านิยมและราคาให้แก่สินค้าไทยในตลาดโลก ด้านการท่องเที่ยวนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 14.1 ล้านคนในปี 2552 มาเป็น 35.4 ล้านคนในปี 2560 รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.0 ของ GDP มาเป็นร้อยละ 13.6 และมีมูลค่าสูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้  การที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาประเทศไทยคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เสริมกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย เอกลักษณ์ของอาหารไทย ความเป็นมิตรของคนไทยกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะการที่ไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจใด และความเป็นสังคมสายกลาง มีความอะลุ่มอล่วย ไม่แข็งกร้าว ซึ่งถ้าไทยสามารถดูแลให้เอกลักษณ์และความได้เปรียบเหล่านี้อยู่ได้ตลอดไป รวมถึงดูแลความยั่งยืนของสถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวจะไปได้อีกไกล และเป็นสาขานำในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป ในบางช่วงที่ผ่านมา ปัญหาสังคมแยกสี และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ท้าทายการเป็นสังคมสายกลาง รวมทั้งสังคมรอยยิ้มของไทย ในช่วงต่อไปประเทศไทยต้องรักษาเอกลักษณ์ทางด้านสังคมสายกลางไว้ให้ได้ มิฉะนั้นจุดเด่นของสังคมไทยจะหมดไป และจะกระทบการพัฒนาประเทศในวงกว้าง
ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย