ธีรพงศ์ จันศิริ ไทยยูเนี่ยนสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารสู่ความยั่งยืน - Forbes Thailand

ธีรพงศ์ จันศิริ ไทยยูเนี่ยนสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารสู่ความยั่งยืน

ฟ้าหลังฝนที่สร้างจุดพลิกผันให้ธุรกิจอาหารคว้าโอกาสจากวิกฤตที่ช่วยรีเซตทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์พร้อมถอดบทเรียนเสริมความแข็งแกร่งด้านซัพพลายเชน และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ดีมานด์ผู้บริโภค สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน นำโดย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหารทะเลของโลก

กระแสความเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงทั่วโลก ได้สะท้อนชัดในธุรกิจอาหารที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของการขับเคลื่อนธุรกิจภาคต่อให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในมุมมองของ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องระดับโลก ที่มียอดขายในปีที่ผ่านมากว่า 1.29 แสนล้านบาท และพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 49,000 คน “เรามีความชำนาญด้านอาหารทะเล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่เราเป็นผู้นำในตลาดและเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรม ทำให้เรามีจุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบในการแข่งขันเรื่องขนาดธุรกิจ ต้นทุน ช่องทางการจัดจำหน่าย ฐานการตลาด และการมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม หรือความยั่งยืนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้” ธีรพงศ์ย้ำถึงอาวุธธุรกิจที่สำคัญในน่านน้ำการแข่งขัน และการเตรียมพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ไทยยูเนี่ยน
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
สำหรับวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทด้านช่องทางการจำหน่าย เพราะร้านอาหาร หรือภัตตาคารในหลายประเทศได้ปิดตัวลง แต่ยอดขายส่วนใหญ่ยังคงเติบโตได้ดีจากความต้องการสำรองอาหารไว้รับประทานภายในบ้านมากขึ้น พร้อมทั้งยังส่งผลดีต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบคุณภาพได้อย่างยั่งยืนต่อไป ขณะเดียวกันในวิกฤตก็ยังมีโอกาสให้ธีรพงศ์เล็งเห็นช่องว่างการเสริมศักยภาพทางธุรกิจ ตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ และการจัดส่งสินค้าในลักษณะ home delivery รวมถึงการวางแผนการผลิตให้เครื่องจักรสามารถทำงานอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงระบบซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น “ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ด้านออนไลน์ และ home delivery มากขึ้น รวมถึงเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์จะมีความสำคัญมาก ซึ่งเราโชคดีที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีความจำเป็นในการบริโภค โดยในช่วงครึ่งปีแรกเรายังเติบโตได้ดี และภาพรวมในปีนี้ยังไม่น่าห่วง แต่ต้องดูแลเรื่องการดำเนินการไม่ให้ซัพพลายเชนมีผลกระทบ และกระบวนการผลิตต้องต่อเนื่อง” นอกจากนั้นธีรพงศ์มั่นใจในทิศทางความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ที่จะได้รับการขับเคลื่อนจากการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค และการบริหารสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ภายใต้แผนกลยุทธ์ 5 ปี (2563-2567) ซึ่งวางเป้าหมายไว้ที่การมีสุขภาพที่ดี และท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ทั่วโลก “บนความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรม ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการค้นหาโอกาสเหล่านั้น จากเทรนด์ใหม่หรือพฤติกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแผน 5 ปีของเรายังคงมุ่งเน้นเรื่อง healthy living, healthy ocean หรือ health and well being ของผู้บริโภคและมหาสมุทร ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก จึงถือเป็นพันธกิจสำคัญในการเป็นต้นแบบพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน เพื่อพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี รวมถึงสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหารผ่านโครงการสเปซ-เอฟ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย “ศูนย์นวัตกรรมของเราอยู่ในแผน 5 ปี มุ่งเน้นสุขภาพของผู้บริโภคและท้องทะเลโดยให้น้ำหนักกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต กระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา รวมทั้งร่วมมือเริ่มโครงการสเปซ-เอฟ ซึ่งมีสตาร์ทอัพจากทั่วโลก เช่น อเมริกา เยอรมนี อิสราเอล สิงคโปร์กว่า 20 บริษัทในโครงการแรกโดยเป็น FoodTech Accelerator แรกที่เป็นรูปธรรมของประเทศไทย ซึ่งน่าจะเริ่มคัดเลือกบริษัทเข้าโครงการแมตช์ 2 ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้” ขณะเดียวกันธีรพงศ์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืนทั่วโลก SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) รวมถึงได้รับการจัดอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในปี 2561 และปี 2562 นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) อันดับ 1 ซึ่งได้มีการเผยแพร่รายงานความโปร่งใสในการจัดหาวัตถุดิบ และการดำเนินงานในโครงการพัฒนาการประมงเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำประมงที่ดีและตรงตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (MSC) “เรายึดมั่นในเป้าหมายตามแผน 5 ปีที่วางไว้ และเดินหน้าในทิศทางเดิม ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามในด้านสภาวะแวดล้อมอาจจะต้องมีการประเมินกันอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านไปแล้ว โดยการล็อกดาวน์พร้อมกันทั่วโลกเป็นเวลาหลายเดือนจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติได้มีเวลาพักฟื้นและสมบูรณ์ขึ้นอีกมากในอนาคต”  
คลิกอ่านฉบับเต็ม Special Report – 7 ผู้นำธุรกิจ 7 เทรนด์เซตเตอร์ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine