นักวิเคราะห์สะท้อนมุมมองเศรษฐกิจไทยในอนาคต พร้อมภาพความเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤต และโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจโลกถึงเศรษฐกิจไทยยุคหลัง โควิด-19 สิ้นสุดลง
การคิดค้นวัคซีนเพื่อต้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สำเร็จ และเริ่มแผนการฉีดวัคซีนแล้วในหลายประเทศ ประกอบกับมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี Joe Biden ที่ออกมาตรการฟื้นฟู (American Rescue Plan) มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และตามมาด้วยแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Build Back Better Plan) อีกราว 2 ล้านล้านเหรียญ ส่งผลให้ทิศทางของเศรษฐกิจโลกปี 2564 กลับด้านอย่างชัดเจนจากปีก่อนที่ติดลบกันถ้วนหน้า มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแรง จากตัวเลขล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยประเมินว่า GDP โลกปีนี้จะขยายตัวที่ 6.0% และ GDP สหรัฐอเมริกาเติบโตที่ร้อยละ 6.4 นั่นสะท้อนถึงความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและโลกได้อย่างชัดเจน ด้าน ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบัน วิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ไตรมาส 3 จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกาคึกคักมากที่สุด โดยทาง Bank of America Merrill Lynch ประเมิน GDP ไตรมาส 3 คาดการณ์การเติบโตได้ถึงระดับร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ชาวอเมริกันที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และคาดว่าเดือนมิถุนายน ชาวอเมริกันเกินกว่า 100 ล้านคนจะได้รับวัคซีนแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนกว่าร้อยละ 70 (ของจำนวนประชากรกว่า 320 ล้านคน) น่าจะได้รับ วัคซีนไม่ 1 ก็ 2 เข็มต่อคน นั่นหมายถึง การเข้าใกล้ Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) เข้าไปทุกที นอกจากนี้ ภายใต้แผนฟื้นฟู 1.9 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการแจกเงินแบบให้เปล่าแก่ประชาชนจำนวน 1,400 เหรียญต่อคน รวมกับก่อนหน้ารัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump แจก 900 เหรียญต่อคน ทำให้ชาวอเมริกันมีเงินตุนอยู่ในกระเป๋าพร้อมที่จะจับจ่ายมากกว่า 2,000 เหรียญ ผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากต้องอัดอั้นมานาน และอีกปัจจัยที่จะผลักดัน ให้เกิดการใช้จ่ายมากคือ อยู่ในช่วงของวันชาติ (4 กรกฎาคม) “ความต้องการทั้งสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปริมาณสินค้าที่มีอยู่จำกัดจะ ผลักดันให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ในจุดนี้จึงต้องติดตามว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว หรือจะติดลบบนไตรมาส 4 จึงจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าทิศทางเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะ Over Heat หรือไม่ ซึ่งต้องดูด้วยว่า ในวันนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะมีปฏิกิริยาอย่างไร” อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเร็วเกินกว่าคาด ทั้ง Fed และ IMF มองว่า มีน้อยมาก เพราะในระยะสั้น แม้เศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นตัวแรง แต่เศรษฐกิจโลกไม่ได้ ฟื้นตัวตาม ซึ่งจากการคำนวณประมาณการ คร่าวๆ พบว่า Global Output Gap อยู่ที่ ประมาณร้อยละ 5 หมายความว่า การผลิตจริงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพการผลิต หรือมีศักยภาพส่วนเกินอยู่ร้อยละ 5 ดังนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะร้อนแรงมากตามความเห็นของ Fed และ IMF จึงคิดว่ามีน้อย รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่า อเมริกาจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ห่วงไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ หากย้อนกลับมามองในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเน้นใช้เม็ดเงินไปกับมาตรการเยียวยา แต่ยังมีเรื่องสำคัญอื่นที่ต้องทำด้วย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการไม่มีทิศทาง ชัดเจนทำให้ประเมินเศรษฐกิจค่อนข้างยาก แต่คาดการณ์ได้ว่า Output Gap ของไทยยัง มีอยู่มหาศาล ซึ่งประมาณการคร่าวๆ หาก GDP ปีนี้เติบโตได้จริงที่ร้อยละ 4 Output Gap จะยังมีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งเท่ากับปีก่อน นั่นหมายถึง ยังไม่ได้มีการลดส่วนต่างการผลิตตรงนี้ลง และหากเป็นอยู่เช่นนี้เศรษฐกิจ ไทยก็น่าจะยังซึมไปในลักษณะนี้อีกนาน “หากยิ่งปล่อยไว้ ไม่ได้ผลิตเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ เมื่อหมดแล้วก็หมดเลย จะเป็นการสูญเสียโอกาสอย่างมาก” ดร.ศุภวุฒิขยายความถึงปัญหาของประเทศไทยที่นอกจากการท่องในปัจจุบันยังมีอีก 4 เรื่องใหญ่คือ ก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังจะถูกดิสรัปต์ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะกลายเป็นภาระในอนาคตและแรงงานวัยทำงานลดลงไป และ สุดท้ายคือ ภาคการเกษตรกำลังจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน และด้วยโจทย์ทั้ง 5 ข้อนี้ รัฐบาลควรมีโซลูชันที่เป็นรูปธรรมออกมาชัดเจน “ก่อนวิกฤตโควิด-19 เรามีทรัพยากร ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 40 ล้านคนต่อปี เท่ากับ 12% หรืออาจถึง 15% ต่อ GDP แต่ขณะนี้ ทรัพยากรที่ว่าไม่ได้ใช้งานเลย และกำลังจะเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ หากไม่ต้องการให้เสื่อมสภาพ อาจต้องมีการปรับโครงสร้างประเทศใหม่ทั้งหมด และสามารถชี้ทิศทางได้ว่าประเทศจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร จะ Redeploy คนในส่วนนี้ ให้เขาไปทำอะไร แต่ปัญหาตอนนี้คือ พวกเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไร”แนะปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจใหม่
ด้านบทวิจัย KKP Research โดย เกียรตินาคินภัทรได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แม้ในปีนี้จะคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ไว้ที่ร้อยละ 2 หลังจากหดตัวรุนแรงติดลบร้อยละ 6.1 เมื่อปี 2563 แต่เมื่อมองไปในระยะยาวถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่มีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้น โครงสร้างของไทยกลับยังไม่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในระยะยาว KKP Research ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละรอบ เศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับมาเติบโตได้เท่าเดิมอีก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย Return on Equity (ROE) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลง ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตปี 2551 จากที่เคยเติบโตได้ร้อยละ 17.4 ในปี 2546-2550 เหลือร้อยละ 12.1 ในปี 2551-2556 และร้อยละ 9.5 ในปี 2557-2562 สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้และทำกำไรของบริษัทไทยเริ่มมีโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนวิกฤตโควิด-19 ในรอบนี้ ทั้งตลาดหุ้นไทย และเศรษฐกิจไทย อาจไม่กลับไปเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 อย่างถาวร หากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลัง โควิด-19 โดยพบว่า เทรนด์ของเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เริ่มมีพัฒนาการมาแล้ว และ โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้นกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมนั้นมีอย่างน้อย 3 เรื่อง ดังนี้ การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ โควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำงานและการดำเนินชีวิต โลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ โควิด-19 ส่งผลให้ความเชื่อมโยงทางด้านการค้าและการผลิตรูปแบบเดิมเปลี่ยนไป นโยบายการเงินรูปแบบใหม่ โควิด-19เร่งให้มีการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ๆ อย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยในโลกหลัง โควิด-19 กำลังจะถูกกระทบจาก 3 เทรนด์ ใหญ่ของโลก ประกอบด้วย Knowledge Economy อุตสาหกรรมเก่าของไทยกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเศรษฐกิจแห่งความรู้ มูลค่าของธุรกิจจะถูกกำหนดด้วยความรู้ใหม่ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา อัลกอริทึม มากกว่าแรงงานและทุน ซึ่งธุรกิจ 4 ด้านหลักของไทยกำลังมีความเสี่ยงถูกกระทบจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาพรวมที่จะทำให้ไม่สามารถกลับไปเติบโตในระดับเดิมได้อีก ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์แบบเก่าอาจถูกแทนที่ด้วยรถยนต์แบบไฟฟ้า การท่องเที่ยว และการเดินทางอาจไม่กลับมาเติบโตได้เหมือนเก่า ธุรกิจค้าปลีกอาจถูกแทนที่ด้วย E-commerce และรายได้ของภาคการเงิน โดยเฉพาะธนาคารจะถูกกดดันจากผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งมีขนาดรวมกันประมาณีร้อยละ 42 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมด อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว แม้ผลกระทบอาจจะไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะถูกแทนที่ แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง ส่วนเทรนด์ต่อมาที่สำคัญ ได้แก่ กระแสโลกาภิวัตน์แบบเก่า ซึ่งเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ทำให้การพึ่งพาต่างประเทศไม่ใช่คำตอบสำหรับประเทศไทยอีกต่อไป รวมถึงเทรนด์สุดท้ายคือ สงครามค่าเงิน (Currency War) อันเกิดจากการอัดฉีดเงินอย่างมหาศาลจากธนาคารกลางทั่วโลก อาจทำให้ท้ายที่สุด โลกจะเข้าสู่ยุคของสงครามค่าเงินโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งยังอาจจะกดดันค่าเงินบาทรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าผ่านรายได้ที่ลดลง และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน นอกจาก 3 เทรนด์เศรษฐกิจดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ธุรกิจยังอยู่ในรูปแบบเก่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงค่อนข้างชัดเจนว่าโอกาสที่จะเห็น เศรษฐกิจไทยกลับไปโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนหลัง โควิด-19 คงเป็นไปได้ยากหากนโยบายเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้นโยบายเศรษฐกิจหลายอย่างยังสนใจเฉพาะในประเด็นการฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตได้แบบเดิม โดยหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวให้กลับมาเติบโตเท่าเดิม หรือหวังพึ่งพาการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว รวมถึงหวังให้อุตสาหกรรมแบบเดิมเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อในอนาคต KKP Research ประเมินว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การปฏิรูประเบียบ การกำหนดแนวทาง และการทบทวนบทบาทนโยบายการเงิน ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้ สำหรับการปฏิรูประเบียบ ควรครอบคลุมถึง การส่งเสริมการแข่งขัน และพัฒนาแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ด้วยการพัฒนากฎระเบียบให้เอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการกีดกันที่ไม่จำเป็น จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งสตาร์ทอัพ และยังช่วยให้ธุรกิจเดิมนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพตามแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรกำหนดแนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ (Restructure) ที่ชัดเจนและใช้ได้จริง ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การปรับโครงสร้างให้เกิดการเติบโตจากภายในประเทศตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งทบทวนบทบาทนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพียงพอให้เศรษฐกิจในประเทศสามารถเติบโตได้ เพื่อทดแทนการกระจุกตัวจากการพึ่งพาต่างประเทศที่มากเกินไป และจะเป็นการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาวได้จริงผ่านการเร่งให้เกิดการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศ และการนำเข้า ความท้าทายกับแผนพัฒนาฉบับ 13 จากกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย กำลังเป็นโจทย์ท้าทายในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดเป้าหมาย การพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” ด้วยการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และองค์ความรู้ หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง บนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนา ต่อยอด และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาส ไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ หรือการสร้าง สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค โดยทุกกลุ่มคนมีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ และได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาค ด้านการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและ การบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ด้านการเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูงเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน แม้ขณะนี้ ยังไม่อาจบอกได้ว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงจะสิ้นสุดลงที่จุดใด แต่นี่ ก็คือโจทย์ท้าทายของชาติในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เป็นยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างสง่างาม ----- อนัญชนา สาระคู - รายงานอ่านเพิ่มเติม: “โรช ไทยแลนด์” เผยการอนุมัติใช้ยา “แอนติบอดี ค็อกเทล” กับผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษประจำเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine