ซีอีโอสาวเก่งที่คร่ำหวอดในวงการเพชรมานานถึง 17 ปี อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) มีมุมมองว่า เพชรเป็นเพียงทางเลือกในพอร์ตการลงทุน แต่ไม่ใช่สินทรัพย์ที่มาแทนที่การลงทุนประเภทไหน
“เพชรเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตกาลในหมู่เศรษฐี เพราะยิ่งสะสมยิ่งมีมูลค่าเพิ่ม แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการระบุตัวเลขแน่ชัดว่าราคาเพชรเพิ่มขึ้นเท่าไร จนกระทั่ง 5-6 ปีที่ผ่านมา ความนิยมในเพชรเพื่อการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในฐานะการลงทุนทางเลือกเป็นการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหวือหวาน้อยเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้เร็ว มาสู่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มูลค่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงของราคาอาจไม่ได้หวือหวา” เมื่อเพชรขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ของการลงทุนแล้ว ตลาดของเพชรจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร อัญรัตน์อธิบายให้เห็นภาพชัดว่า ปริมาณหลักในตลาดเพชรขณะนี้ถูกควบคุมโดย เดอเบียร์ส (De Beers) ขณะที่ราคาเพชรดิบ (rough diamond) ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คนที่ให้การยอมรับว่าเพชรเป็นสินทรัพย์ที่เลอค่าอมตะ ทำให้ความต้องการเพชรไม่เคยลดลง ในทางกลับกันยังเพิ่มขึ้นตลอด สวนทางกับปริมาณที่ถูกควบคุม ทำให้ราคาเพชรมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง “สำหรับเพชรเพื่อการลงทุนในไทยอาจจะเพิ่งมีการพูดถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และญี่ปุ่น มีความนิยมมาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จะเห็นว่า 3 ใน 4 เป็นประเทศในเอเชีย เพราะเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวเรื่องการลงทุนในเพชร 40-50% เป็นการซื้อเพื่อการลงทุน ขณะที่ในฝั่งสหรัฐอเมริกากับยุโรปยังซื้อด้วยเหตุผลทางความรู้สึก เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก เพราะฉะนั้น การลงทุนในเพชรสำหรับตลาดเอเชียไม่ใช่เรื่องใหม่แต่นักลงทุนไทยเพิ่งเริ่มให้ความสนใจ และหันมาลงทุนในเพชรที่มีคุณภาพมากขึ้นในช่วงไม่ปีที่ผ่านมา” อัญรัตน์ พรประกฤต กล่าวเพชรแบบไหนเลอค่าคู่ควร
ควรเลือกเพชรแบบไหนนักลงทุนถึงจะอุ่นใจและได้ผลตอบแทนดี “ราคาเพชรค่อนข้างละเอียดอ่อน เพชรแต่ละเม็ดมีมูลค่าต่างกัน ขึ้นอยู่กับ 4 คุณลักษณะพื้นฐาน บวกกับความต้องการและปริมาณเพชร โดยปกติราคาเพชรปรับตัวเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของเพชรแต่ละเม็ด เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ลงทุนในเพชรและอยากเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน แนะนำหลักใหญ่ 2 ข้อ คือ เลือกกลุ่มที่ปริมาณมีน้อย แต่มีความต้องการอยู่ในตลาด ยกตัวอย่าง เพชรที่มีสีคุณภาพสูง เช่น น้ำ 100 น้ำ 99 D color หรือ E color เน้นเพชรที่เป็นท็อปเกรด หรืออีกกลุ่มที่เป็น commercial good คือ ปริมาณก็มีอยู่ แต่ความต้องการล้นทะลัก เป็นกลุ่มที่ซื้อง่ายขายคล่อง ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่จ่ายได้ ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ราคาเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5-15% ต่อปี” สำหรับภาพรวมของตลาดเพชร อัญรัตน์เชื่อว่าแนวโน้มยังสดใส เพราะถ้าย้อนกลับไปสมัยที่เข้ามาในวงการเพชรเมื่อ 17 ปีก่อน ความต้องการของเพชรยังไม่สูงเท่าทุกวันนี้ ตอนนี้ตลาดจีนมีความต้องการเติบโตขึ้นมาก สวนทางกับปริมาณที่จำกัด เพราะด้วยความที่เพชรเป็นสายแร่จากธรรมชาติ มีต้นทุนในการทำเหมืองเพชรที่สูงกว่าในอดีต ดังนั้น เมื่อกลไกตลาดยังทำงานได้ดี ราคาเพชรก็ยังคงไต่ระดับต่อไป อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเลือกเพชรที่ตอบรับกับกลไกตลาดแล้ว อีกหัวใจสำคัญในการลงทุนในเพชรที่อัญรัตน์เน้นย้ำคือต้องเลือกซื้อเพชรที่มีใบรับรองจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งปัจจุบันหากซื้อเพชรขนาด 30 สตางค์ขึ้นไปก็มีใบรับรองให้แล้ว “สถาบันที่รับรองใบเซอร์ฯ มีหลายแห่ง แต่อัญแนะนำว่าต้องเป็นของ GIA หรือไม่ก็ HRD ของเบลเยียม เพราะใบเซอร์ฯ เปรียบเหมือนสมุดพกที่รับรองว่าเราเรียนจบจากสถาบันไหนมา ถ้าจบจากสถาบันที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ในอนาคตจะนำเพชรไปขายต่อก็ง่าย ไม่ต้องสงสัยว่าคุณสมบัติที่ระบุว่าน้ำ 100 D color ได้มาตรฐานทั่วโลกหรือไม่” อีกข้อควรระวังคือได้ใบเซอร์ฯ จากสถาบันที่เชื่อมั่นแล้ว อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดให้ถี่ถ้วน และตรวจสอบให้มั่นใจว่าเป็นใบเซอร์ฯ ของแท้ วิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบคือเข้าเว็บไซต์ของสถาบันที่รับรองเพื่อเช็กว่าหมายเลยถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งสังเกตลักษณะของใบเซอร์ฯ ว่ามีสติ๊กเกอร์และปั๊มนูนถูกต้องหรือไม่ “โดยปกติ ถ้าเป็นเพชรที่ผ่านการรับรองจาก GIA จะมีการเลเซอร์รหัสเลขของเพชรที่ขอบเพชรทุกเม็ด ซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษในการดู ส่วนใหญ่ร้านเพชรถึงจะมี เพราะฉะนั้น สำหรับมือใหม่ แนะนำให้ซื้อจากร้านเพชรที่ไว้ใจได้ มีบริการหลังการขายที่ดี เพราะเพชรแต่ละเม็ดมีอายุเป็น 100 ปี อย่างน้อยถ้าเกิดปัญหา หรือใบเซอร์ฯ สูญหาย ยังสามารถให้ทางร้านช่วยประสานงานกับแล็บโดยตรงเพื่อออกใบเซอร์ฯ ใหม่ให้ได้”เหรียญสองด้าน
สำหรับใครที่คิดว่าซื้อเพชรไว้เป็นเครื่องประดับ ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นคือผลพลอยได้ อาจไม่ต้องคิดหนัก แต่สำหรับใครที่คิดจะซื้อเพื่อลงทุนจริงจัง อาจต้องพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงของการลงทุนทางเลือกนี้กันอีกสักนิด อัญรัตน์กล่าวถึงข้อดีของการลงทุนในเพชรว่า เพชรไม่เหมือนทอง ซื้อมาแล้วใส่หรือไม่ใส่มูลค่าก็คงเดิม เพราะด้วยคุณสมบัติของเพชรที่ได้ชื่อว่าเป็นอัญมณีที่แข็งที่สุด ไม่มีอะไรมาตัดได้ นอกจากเพชรตัดเพชร ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าใส่แล้วจะทำให้เพชรหมองเสียมูลค่า ขอเพียงเลือกเพชรเม็ดงาม คุณภาพถูกต้องตามลักษณะ 4Cs ตั้งแต่แรก รับรองมูลค่าไม่ลด “ข้อดีอีกอย่างคือราคาเพชรค่อนข้างคงที่ ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา เคยเจอราคาเพชรตก 2 ครั้ง คือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ซึ่งกระทบต่อความต้องการซื้อและความต้องการขายในตลาดเพชร แต่หลังจากราคาตกไป 2 เดือนก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีแนวโน้มขึ้นต่อไป ซึ่งถ้านำราคาเพชรมาพลอตเป็นกราฟจะเห็นเลยว่า เส้นกราฟจะเป็นเส้นยาว หักลงนิดหน่อย แล้วก็เป็นเส้นขึ้นไปต่อ” ในส่วนของข้อเสียที่ต้องรู้ ตลอดจนความเสี่ยงต้องบริหารให้เป็น คือ แม้เพชรจะมีราคา Rapaport เพื่อใช้อ้างอิงในการซื้อขายเพชรทั่วโลก แต่ไม่ใช่ราคาในการซื้อขายจริงๆ ผู้ที่สนใจต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าไปดูรายงานซึ่งออกเป็นรายสัปดาห์ (เช้าวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย) สำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ควบคู่ไปกับการเปรียบเทียบราคาจากร้านเพชรต่างๆ เพื่อหาราคาในตลาดที่แท้จริง “สำหรับผู้ที่ซื้อเพชรเพื่อลงทุน อัญแนะนำว่าถ้าจะเปลี่ยนมือให้ไปหา third party มากกว่าจะนำกลับมาขายคืนที่หน้าร้าน เพราะราคาอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะต้องยอมรับว่าร้านเองก็ไม่ต้องการ restock กลับมา ถึงได้บอกว่าสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือของเพชรอาจไม่ทันใจเท่าสินทรัพย์บางประเภท แต่ก็ไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะในโลกไร้พรมแดน การซื้อขายเพชรไร้พรมแดน ในต่างประเทศมีแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเพชรผ่านออนไลน์ อารมณ์เหมือนอีเบย์เวอร์ชั่นขายเพชร เพราะด้วยความที่เพชรเป็น universal product ขอเพียงมีใบเซอร์ฯ รับรองคุณภาพ ใครๆ ก็สามารถซื้อขายได้ในราคาและคุณภาพที่พอใจ” อย่างไรก็ตาม อัญรัตน์ยังทิ้งท้ายด้วยแววตาเป็นประกายว่า คุณค่าของเพชรที่เลอค่าอมตะ จะยังคงเป็นเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง และเพชรจะยังเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่อง: พุสดี สิริวัชระเมตตาคลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine