หลงใหลและลงทุน...ใน "นาฬิกาหรู" - Forbes Thailand

หลงใหลและลงทุน...ใน "นาฬิกาหรู"

“นาฬิกาหรู” ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่จัดอยู่ในพอร์ตการลงทุนประเภทของรักของสะสม หรือ Passion Investment ที่น่าจับตามองไม่แพ้สินทรัพย์ที่เกิดจากความหลงใหลอื่นอย่าง เพชร งานศิลปะ รถคลาสสิก หรือแสตมป์ ฯลฯ

เนื่องจากนาฬิกาหรูเป็นสินทรัพย์ที่มีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง สะท้อนถึงสถานะและรสนิยมของผู้สวมใส่โดยเฉพาะสุภาพบุรุษมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว ก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับเจ้าของเรือนเวลา ข้อมูลล่าสุดจาก The Wealth Report 2019 โดย Knight Frank แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนการลงทุนนาฬิกาหรูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ว่า มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 73% นับเป็นการตอกย้ำถึงกระแสความนิยมในการสะสมนาฬิกาหรูเพื่อการลงทุนที่นับวันความต้องการครอบครองยิ่งเพิ่มขึ้นสวนทางกับปริมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จนทำให้ราคาของนาฬิกาหรูปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กลายเป็นสินทรัพย์ที่เนื้อหอมในหมู่นักลงทุนตลอดกาล นักลงทุนทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพหลงใหลในนาฬิกาหรู ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดีไซน์ รูปลักษณ์ที่สวยสะกดภายใต้หน้าปัดเล็กๆ แต่แฝงไปด้วยกลไกอันน่าทึ่งของจักรกลที่เต็มไปด้วยคุณค่าแห่งหัตถศิลป์ เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ศิลปะขั้นสูง จึงทำให้นาฬิกาหรู มีความทนทาน มีอายุการใช้งานเป็นร้อยปี สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นพร้อมผลตอบแทนที่เพิ่มพูน อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ใช่ว่านักลงทุนทุกคนจะสุขสมหวังกับการแปลงของรักของสะสมเป็นการลงทุน เพราะถ้าไม่ศึกษาให้ดี ไม่เข้าใจตลาด ไม่รู้ข้อมูลภายในของแบรนด์ เข้าใจความพิเศษของนาฬิกาหรูแต่ละรุ่น ตลอดจนความละเอียดรอบคอบและทักษะในการเลือกแหล่งซื้อที่ไว้ใจได้ สำหรับใครจะเลือกสะสม นาฬิกาหรู แบรนด์ไหน หรือรุ่นใด ขึ้นอยู่กับความชอบเป็นที่ตั้ง แต่ถ้ามองถึงการลงทุนเป็นหลัก อาจแนะนำให้เลือกสะสมหรือลงทุนในรุ่นยอดนิยมของแบรนด์ชั้นนำที่เป็นที่รู้จัก เพราะยิ่งแบรนด์มีการทำการตลาดมากเท่าไร ยิ่งเป็นที่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิดความต้องการในหมู่นักสะสม ทำให้ราคามีแนวโน้มขึ้นมากกว่า ที่สำคัญคือต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ พร้อมกับเก็บรักษาใบเสร็จ ใบรับประกัน และกล่องใส่นาฬิกาไว้ให้ครบ อย่างน้อยเวลานำนาฬิกาหรูออกมาขายจะได้ไม่เสียราคา ผู้ซื้อก็อุ่นใจว่าไม่ได้ถูกย้อมแมว จากนี้ลองไปเปิดมุมมองการลงทุนในเรือนเวลาผ่านสายตาสองนักสะสมนาฬิกา ซึ่งมีแนวคิดในการลงทุนที่ตั้งต้นจากความชอบอย่างน่าสนใจ  

สะสมจากความรัก ต่อยอดสู่การลงทุนที่ใช่

เชษฐา ส่งทวีผล นาฬิกาหรู

นักสะสมนาฬิกาในเมืองไทยมีไม่น้อย แต่หนึ่งในตัวจริงที่เชื่อว่าคนในวงการนาฬิกาให้การยอมรับและไม่มีใครไม่รู้จัก ต้องมีชื่อของ ดร.เชษฐา ส่งทวีผล นักธุรกิจวัย 40 ปี เจ้าของนิตยสาร Robb Report, Car Report, QP และสื่อออนไลน์หลายช่องทาง นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของบริษัท You & I Group ซึ่งทำธุรกิจด้านอาหาร รวมถึงร้าน You & I Premium Suki 11 สาขา ที่จะเปิดอีก 3 สาขาเร็วๆ นี้ รวมทั้งเป็นเจ้าของบริษัท Thailand Energy Flex ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์เครื่องฟอกอากาศ ecoRobot เขาคือนักสะสมผู้มีความรักที่แน่วแน่ให้กับเรือนเวลามานานกว่า 30 ปี “นาฬิกาที่มีมูลค่าเรือนแรกของผมคือ Seiko คุณพ่อคุณแม่ซื้อให้เป็นของขวัญเมื่อเรียนชั้นประถม หลังจากนั้นก็เริ่มขยับมาเป็น Tag Heuer และเป็นเจ้าของ Rolex ตั้งแต่เรียนมัธยมต้น แต่ใส่เฉพาะเวลาออกงานเท่านั้น” ดร.เชษฐา และเสริมว่า “ตอนนั้นผมเล็ง AP Royal Oak Foundation Limited Edition ตั้งใจจะนำเงินเก็บบวกกับเงินที่ขายนาฬิกาได้ ซึ่งมีอยู่ 1.5 แสนบาทไปซื้อ ปรากฏว่าเงินไม่พอ เพราะราคาในร้านอยู่ที่ 2.2 แสนบาท ผมเลยเปลี่ยนใจคิดว่าจะกลับไปซื้อที่อังกฤษ ราคาน่าจะดีกว่า พอไปถึงนอกจากราคาจะไม่ต่าง ของยังหมด เพราะเป็นรุ่น Limited Edition มีแค่ 850 เรือนทั่วโลก ตอนนั้นผิดหวังนิดๆ แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าคงไม่ใช่ของของเรา จนกระทั่งกลับไทยอีกครั้ง เลยลองกลับไปที่ร้านเดิมเพื่อถามหานาฬิกาเรือนนี้ ปรากฏว่าขายไปแล้ว แต่คนขายก็บอกว่ายังมีอีกเรือนที่อีกสาขา ตอนนั้นผมยังสองจิตสองใจ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไปดู แล้วก็ตกลงใจซื้อ โดยยืมเงินแฟน (ภรรยาในปัจจุบัน)” ทุกวันนี้ราคาของนาฬิกาเรือนนี้ทะลุหลักล้านแล้ว แต่เขายังเก็บไว้ไม่ได้ขาย เพราะเป็นเรือนที่มีคุณค่าทางจิตใจ เคยใส่ไปดูพิพิธภัณฑ์ของ Audemars Piguet หรือ AP เขาก็ยังประหลาดใจเพราะรุ่นนี้ไม่ผลิตแล้ว แต่กลับซื้อได้ในราคาดีมากเนื่องจากถ้าย้อนไป 20 ปีที่แล้ว AP ยังไม่เป็นที่นิยมในไทย จนวันนี้มีในพอร์ตแตะร้อยเรือน แต่ละเรือนผู้บริหารคนเก่งกล้าพูดว่า “ไม่มีเรือนไหน ไม่มีกำไร” ดร.เชษฐา เผยถึงเคล็ดลับสะสมนาฬิกาหรูสำหรับนักลงทุนมือใหม่ว่า ก่อนอื่น ต้องเข้าใจกลไกของตลาดนาฬิกาหรูว่าขับเคลื่อนด้วยความต้องการซื้อและความต้องการขาย ในขณะที่ความต้องการซื้อในนาฬิกาหรูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากฐานนักสะสมและนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตนาฬิกากลับจำกัด และ เขาเชื่อว่าของดีไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป  

จัดพอร์ตการลงทุนจากความชอบ

ชนกพล ไชยศุภรากุล นาฬิกาหรู

ชนกพล ไชยศุภรากุล กรรมการบริษัท Memphis Belle Thailand และ บริษัท มาร์เก็ต แอสเซส จำกัด หลงใหลในเรือนเวลาถึงขั้นต่อยอดสู่ธุรกิจซื้อ-ขาย-แลก นาฬิกาไฮเอนด์ทั้งมือสองและมือหนึ่งของแท้ 100% แบรนด์ดังจากยุโรป ภายใต้ชื่อ Luxetime จุดเริ่มต้นของเขาในการสะสมนาฬิกาเกิดขึ้นมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เป็นความชอบที่ถักทอขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนถลำลึกเข้ามาในโลกของเรือนเวลาจนถอนตัวไม่ขึ้น “จนช่วงที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย คิดว่าอยากมีนาฬิกาดีๆ สักเรือนที่ข้อมือ เลยเริ่มมาศึกษา ปรากฏว่ายิ่งศึกษาเหมือนยิ่งซึมลึก ในตอนนั้นด้วยความที่ผมมีงบจำกัด จะเปลี่ยนแต่ละครั้งก็ต้องขายเรือนเก่าออกไป ทุกครั้งที่ซื้อเรือนใหม่ก็ต้องเจ็บตัวจากค่าส่วนต่างครั้งหนึ่งไม่ใช่น้อยๆ จากจุดนั้นเลยทำให้เริ่มมองหาไอเดียอื่นๆ ผมเริ่มหันมาสนใจตลาดนาฬิกามือสอง ช่วงแรกก็ยังกล้าๆ กลัวๆ เพราะได้ยินมาเยอะ แต่ก็อยากลอง ซึ่งพอเข้ามาลองจริงๆ ก็เสียค่าครูไปหลายแสน เจอทั้งของไม่ดี ของปลอม แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือของยำ” ชนกพลบอกเล่าถึงเทคนิคการซื้อนาฬิกามือสองให้อุ่นใจว่า แค่ซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้ไม่พอ แต่ยังต้องทำการบ้าน อ่านข้อมูลให้เยอะ เพื่อลองเปรียบเทียบราคา อย่างน้อยซื้อมาในราคาดี ได้ความสุขทางใจได้เป็นเจ้าของนาฬิกาหรูในราคาที่จ่ายไว้ ใส่แล้วเบื่ออยากเปลี่ยนก็เจ็บตัวไม่มาก จากนาฬิกาออกช็อปมือหนึ่ง 1 ล้านบาท พอซื้อมือสองมา ลดประตูความเจ็บตัว จากที่ต้องขาดทุน 3-4 แสน เหลือ 3-4 หมื่น “ผมเชื่อว่านาฬิกาหรูสามารถสร้างเป็นพอร์ตเหมือนหุ้นได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ นาฬิกาแต่ละเรือนก็เปรียบเหมือนหุ้นแต่ละตัว อยู่ที่เลือกซื้อถูกตัวหรือไม่ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อนาฬิกาหรูแต่ละเรือนต้องมีความเข้าใจ ศึกษาให้ดี ส่วนผลตอบแทนเป็นเรื่องความพอใจส่วนบุคคล บางคนผลตอบแทนอาจมาในรูปแบบความสุขทางใจ ได้เป็นเจ้าของนาฬิกาหรู แต่ในผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินอาจไม่ได้เยอะเท่ากับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นก็ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่านาฬิกาหรูเป็นหนึ่งใน Passion Investment” เรื่อง: พุสดี สิริวัชระเมตตา
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine