ทีมแพทย์ เมดพาร์ค บุคลากร-อุปกรณ์พร้อมรับภารกิจสู้โควิด - Forbes Thailand

ทีมแพทย์ เมดพาร์ค บุคลากร-อุปกรณ์พร้อมรับภารกิจสู้โควิด

ความพร้อมในฐานะบุคลากรด่านหน้าในสถานการณ์โรคระบาดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องละเอียด รัดกุม และเข้มงวดตามแนวปฏิบัติ และที่สำคัญต้องมีพลังใจที่มุ่งมั่น พร้อมรับมือกับภาระที่อาจจะหนักขึ้นทุกวันอย่างไม่ย่อท้อ คือบทสรุปของภารกิจรับมือโควิด-19 ของทีมบุคลากรการแพทย์ เมดพาร์ค

นพ.วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาล เมดพาร์ค บอกว่าได้เข้าไปวางแผนเกี่ยวข้องกับการรับมือโควิด-19 มาตั้งแต่การระบาดระลอก 2 ใหม่ๆ ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2563 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดที่มหาชัย “เรารับเคสจากมหาชัย เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้นว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เตรียมห้องรับสถานการณ์อย่างไร ทุกอย่างเปลี่ยนตลอดเวลา หน้าที่หลักที่ผมรับผิดชอบคือ ดูองค์ประกอบการดูแลคนไข้ แพทย์ และภาพรวมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้คำแนะนำ ความปลอดภัยคนไข้ เตรียมรับสถานการณ์” สิ่งที่เมดพาร์คทำเพื่อรับมือเคสโควิด-19 คือ ทำการปรับห้องไอซียูให้เป็นห้องความดันลบ negative pressure จำนวน 8 ห้องจากห้องไอซียูทั้งหมด 35 ห้องหรือประมาณร้อยละ 25 “ประเมินจากการระบาดที่มหาชัยเราคาดว่าการระบาดจะเกิดได้ทั่วไปถ้าจัดการไม่ดี จึงเตรียมความพร้อมรับมือเต็มที่ เตรียมสถานที่ อุปกรณ์ ปรับห้องจาก positive เป็น negative pressure เตรียมชุดคลีนสเปซ อุปกรณ์ หน้ากากดูแลคนไข้โควิด-19 เลือกอุปกรณ์นำเข้าเพื่อป้องกันได้ 100%” นอกจากนี้ ยังเตรียมเหตุการณ์เฉพาะหน้า เตรียมเวลาทำความสะอาดห้อง เครื่องฉายแสงยูวีทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และปรับห้องผู้ป่วยเป็น cohort ward หรือหอผู้ป่วยเฉพาะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และทำระบบอากาศเป็น negative pressure ติดตั้งเครื่องดูดอากาศแต่ละห้องแยกจาก กัน จาก cohort 44 ห้องเพิ่มอีก 20 ห้อง จากนั้นก็ขยายเป็นทั้งชั้น ขณะเดียวกันก็เตรียมบุคลากรให้ปลอดภัยที่สุด ด้วยอุปกรณ์ป้องกันตัวคุณภาพสูงและฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมทั้งหน่วยสนับสนุนการดูแลคนไข้ เข้มงวดดูแลการเข้า-ออกของคนไข้ และจัดทำ hospitel เริ่มแรกมี 2 แห่งแล้วหยุดไป กลับมาทำอีกครั้งที่หัวช้างเฮอริเทจจำนวน 80 ห้อง ซึ่งเต็มหมดหลังเปิดไม่นาน แต่ยังอยู่ในแผนงานที่ต้องดูแลต่อไป “ช่วงที่ผ่านมาเปลี่ยนเยอะ คนไข้โควิด-19 รอบนี้เป็นหนักขึ้น เป็นเร็วและเยอะมาก บริการ hospitel เราเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายคนที่อาการหนักขึ้นเพื่อมาอยู่โรงพยาบาล ยอมรับว่าสถานการณ์แย่ลง แต่หากขยาย hospitel มากไปก็อาจดูแลไม่ทั่วถึง” นพ.วิรัตน์ย้ำและว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ต่างจากสงคราม แต่เป็นสงครามที่เรามองไม่เห็นศัตรู การทำลายล้างได้ทิ้งความสูญเสีย ซากปรักหักพังมากมายที่มองไม่เห็น” ความสูญเสียหลายอย่างโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ คนตกงาน ตึกร้างไม่มีคนอยู่เพราะกิจการต้องปิดตัว สิ่งเหล่านี้คือความสูญเสียที่มองไม่เห็น ไม่ใช่สงครามแบบยิงทำลายกัน แต่เป็นการต่อสู้กับเชื้อโรค ฉะนั้นการจะอยู่รอดได้ทุกคนต้องร่วมมือกันต้องอยู่ฝ่ายเดียวกันไม่แบ่งแยกจึงจะรอดพ้นจากสงครามนี้ไปได้

วางแผนรับมือการแพร่ระบาด

นพ.มัยธัช สามเสน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการโรงพยาบาลเมดพาร์คกล่าวว่า การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นช่วงที่เมดพาร์คกำลังเตรียมบุคลากรพอดี การวางแผนตั้งแต่ช่วงนั้นจึงเผื่อไว้ด้วยว่าหากสถานการณ์ โควิด-19 ขยายผลจะปรับตัวอย่างไร จะเตรียมอย่างไร ให้บุคลากรที่มีขยายความสามารถรองรับได้ ไม่เพียงแพทย์และพยาบาลแต่ยังรวมถึงนักเทคนิคการแพทย์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ การเพาะเชื้อ และการตรวจระดับโมเลกุลระดับยีน รองรับการตรวจด้วย RT-PCR เรื่องเหล่านี้ได้วางแผนตั้งแต่ต้นเพื่อขยายขีดความสามารถรองรับความต้องการได้ “เราเตรียมตัวตั้งแต่แรกสมัยออฟฟิศอยู่ที่สามย่าน เข้มงวด เว้นระยะ สวมหน้ากาก ล้างมือ เราไวกับเรื่องเหล่านี้ เมื่อขยายผลความจำเป็นเข้มข้นเราทำได้ไม่ยากลำบากนัก” นพ.มัยธัชอธิบายและว่า นอกเหนือจากบุคลากรด่านหน้าแล้ว หน่วยซัพพอร์ตเซอร์วิสก็สำคัญ เพราะสิ่งที่คนไข้เห็นจับต้องได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ตั้งแต่หน้าประตู การทำงานของ รปภ. ทีมเปลที่ดูแลคนไข้ ถูกที่ ทันเวลา ปลอดภัย และที่สำคัญป้องกันอย่างไรไม่ให้เสี่ยงแพร่เชื้อติดเชื้อในโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้คือ การจัดการที่อาจมองไม่เห็นแต่รับรู้ได้ด้วยสัมผัสที่สะดวก สะอาด และปลอดภัย เช่น อาคารโรงพยาบาลที่ปลอดฝุ่น PM 2.5 ทั้งอาคาร เพราะออกแบบเป็น positive pres- sure ฟอกอากาศสะอาดก่อนปล่อยเข้าสู่ภายในอาคารโรงพยาบาล แต่เมื่อต้องรับมือกับโควิด-19 ก็ได้มีการปรับปรุงพื้นที่จำเป็น เช่น ห้องไอซียูและวอร์ดคนไข้บางส่วนให้เป็นห้องความดันลบ negative pressure เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยความมั่นใจว่าจะไม่แพร่เชื้อสู่ส่วนอื่นภายในโรงพยาบาล มีการกำหนดเส้นทางเฉพาะพื้นที่ผู้ป่วยโควิด-19 แยกออกไปไม่ปะปนกัน การขนส่งสิ่งของเครื่องใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่สะอาด ระมัดระวังสูงสุดป้องการการติดเชื้อ “เรื่องคุณภาพเราให้ความสำคัญมาก เราวางระบบคุณภาพร้านอาหารระดับ JCI (Joint Commission International)” นพ.มัยธัช กล่าวว่า ส่วนสำคัญต่อมาคือเวชระเบียน ที่เมดพาร์คบันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับคนไข้ รังสีเทคนิค เภสัชกรรม อาหาร และอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ประเมินคนไข้ ติดตามดูแล ระยะใกล้ ระยะไกล และระยะยาว เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนอัตรากำลังพล การลงทุนทรัพยากร และการขยายความต้องการตามความจำเป็น การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในมีการนำความต้องการคนไข้มาวิเคราะห์ ลงลึกถึงด้านจิตใจ เช่น คนไข้มะเร็ง รับยา มาฉายแสง ผิวอาจไม่สวยใสไม่พร้อมเจอใคร ทางโรงพยาบาลก็ออกแบบให้คนไข้เข้าถึง โดยไม่ต้องผ่านพื้นที่อื่นมาก เช่น ทำที่จอดรถให้เข้าถึงพื้นที่รักษาโดยตรงเป็น Park and Treat ไม่ต้องผ่านพื้นที่ส่วนรวมอื่น เป็นต้น และการวางตำแหน่งอุปกรณ์ การแพทย์ที่สำคัญ เช่น เครื่องฉายแสงมีประโยชน์มากแต่ก็อันตราย ทางโรงพยาบาลออกแบบไปไว้ชั้นใต้ดิน ให้คนไข้เข้าถึงได้ง่ายเป็น Park and Treat อีกโซนที่ไม่รบกวนพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ อีกส่วนที่สำคัญคือ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เมดพาร์คคำนึงเรื่องความสะดวก ปลอดภัย ออกแบบให้มีความพร้อมและปลอดภัยมากที่สุด เหล่านี้คือความพร้อมที่จัดเตรียมมาตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากปัจจุบัน อยู่ในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 หลายๆ พื้นที่อาจปรับการเข้าออกบ้างเพื่อแลกกับความปลอดภัย “เราต้องอยู่กับภาวะแบบนี้ไปเป็นปีสถานการณ์โควิด-19 อาจต้องเจอมาตรการเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ความตึงเครียด คนไข้ต้องการการดูแลอย่างยิ่ง เป็นความท้าทายที่จะพาคนไข้ให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ว่าโรคทั่วไป โรคซับซ้อน หรือโรคระบาด” นพ.มัยธัชกล่าวว่า เมดพาร์คพยายามให้บริการผู้ป่วยทุกโรคให้สะดวกและปลอดภัยมากที่สุด

ภารกิจต่อเนื่องไม่มีวันหยุด

ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี อายุรศาสตร์ โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค หัวหน้าทีมแพทย์ที่ต้องรับบทหนักในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยตรงกล่าวว่า หลังโควิด-19 ระบาดโรงพยาบาลได้เพิ่มมาตรการป้องกัน ทำโครงสร้างพื้นฐานให้รับมือกับภาวะโรคระบาด โดยไม่ได้นิ่งนอนใจ “เราวาดภาพถ้าโควิด-19 รุนแรงขึ้นจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง นั่นคือหลังการระบาด wave แรก เราต้องปรับปรุงโรงพยาบาลให้มีสมรรถภาพป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ปรับส่วนต่างๆ ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง มีห้องปราศจากเชื้อ ห้องผู้ป่วยใน ซึ่งทุกห้องมีสภาพอากาศเป็นบวกออกแบบให้ผลักเชื้อออกจากทุกห้อง” นั่นคือก่อนโควิด-19 ระบาด แต่เมื่อสถานการณ์ระบาดรุนแรง เมดพาร์คได้รับผู้ป่วยโควิด-19 รับตรวจหาเชื้อและรักษาผู้ป่วย จึงได้ปรับพื้นที่โรงพยาบาลให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้แพร่เชื้อสู่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ได้ จึงปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเป็นห้องความดันลบ เช่น ห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ปรับมาเป็นห้องความดันลบ negative pressure ขนาดลบ 6-9 ปาสกาล (pascal) เพื่อดูแลผู้ป่วยและดูดเชื้อออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ ห้องไอซียูความดันลบปัจจุบันมี 8 ห้อง และเฟส 2 จะสร้างเพิ่มอีก 8 ห้อง รวมเป็น 16 ห้อง “ทั้ง 8 ห้องขณะนี้ใช้งานหมด ดูแลคนไข้โควิด-19 และยังมีหอผู้ป่วยทั้งชั้น เป็นห้องเดี่ยวขนาดใหญ่ 46 ห้องแยกระบบแรงดันอากาศทุกห้องจริง ปรับความดันลบจริง ตั้งแต่ลบ 3-7 ปาสกาล สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 92 คน ในจำนวนนี้ 6 ห้องรองรับได้ 12 คน เป็นห้องผู้ป่วยที่มอนิเตอร์เหมือน ICU ติดเครื่องหายใจ high flow ได้ และมีการมอนิเตอร์ด้วยภาพไปยังสถานีพยาบาลตลอด 24 ชม. เรียกว่าเป็น Sub ICU “บนชั้น 21 เป็น cohort ward สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้เต็ม นอกจากนี้ ห้องส่องกล้องปอดและหลอดลมห้องเก็บเสมหะ มีความดันลบ 5 ปาสกาล และมีห้องความดันลบ 6 ปาสกาลที่หน่วยฉุกเฉิน มีห้อง Anti Room ความดันลบ 2.5 ปาสกาล 2 ห้องทั้งในอาคารและนอกอาคาร เพื่อเป็นด่านหน้ารับเคสโควิด-19 ป้องกันเชื้อกระจายสู่โรงพยาบาล เพื่อตรวจดูแลคนไข้ด้วยความปลอดภัย นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จะทำในเส้นทางความดันลบที่ไม่ปะปนผู้อื่น อุปกรณ์ป้องกัน PAPR ที่เมดพาร์คใช้คือ คลีนสเปซ นำเข้าจากออสเตรเลีย เป็นชุดที่คล่องตัว สะดวกสบาย และป้องกันได้ 100% ผศ.นพ.มนต์เดชกล่าวว่า “การวางแผนแต่ละวันหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่เราพยายาม เราทำงานไม่มีวันหยุดมาตลอด เรียนรู้ เตรียมการเสมอ ขณะนี้กำลังดูแลผู้ป่วย สีเหลืองที่ไม่อาจเข้าโรงพยาบาลได้ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีแนวทางจากรัฐบาลชัดเจน แต่รัฐรับปากจะดูแลจัดหาสถานที่ ดูแลรักษาผู้ป่วยสีเหลือง แต่สถานการณ์ที่เห็นคิดว่ารัฐไม่สามารถดูแลได้ทุกราย ผู้ป่วยสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เราจึงนิ่งไม่ได้พยายามขออนุญาตกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการรักษาคนไข้สีเหลืองที่บ้าน” ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทีมแพทย์เมดพาร์คดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต้องแก้ปัญหาทุกวันและออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ในการรับมือ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด แต่สิ่งที่ทีมแพทย์ให้ความสำคัญคือ เรื่องวัคซีน เป็นแนวทางที่รัฐต้องพยายามจัดหาและกระจายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยข้อเสนอจากทีมแพทย์เมดพาร์คอ้างอิงผลวิจัยของต่างประเทศ สามารถฉีดวัคซีน mRNA โดยลดขนาดลง ½ หรือ ¼ ยังได้ประสิทธิภาพที่ดี เป็นอีกความหวังในการยับยั้งการแพร่ระบาดที่รุนแรงในปัจจุบัน อ่านเพิ่มเติม: ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ดัน MedPark ทัพหน้าโรงพยาบาลเอกชน ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ MedPark
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine