ทิศทาง "FDI โลก" หลังการกระจายการลงทุนจากจีน - Forbes Thailand

ทิศทาง "FDI โลก" หลังการกระจายการลงทุนจากจีน

ทิศทาง "FDI โลก" ส่งสัญญาณกระจายการลงทุนจากจีนสู่อาเซียนลดความเสี่ยงธุรกิจ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นจุดหมายการลงทุนสำคัญหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ภาวะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ที่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ได้ประมาณการมูลค่าการหดตัวไว้ติดลบร้อยละ 30-40 ปีต่อปี อยู่ที่จำนวนประมาณ 0.9-1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์และชะลอการลงทุนทั่วโลกจนเศรษฐกิจโลกติดลบถึง 4.1 ปีต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่า FDI ของภูมิภาคเอเชียในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ยังอยู่ในระดับที่หดตัวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เนื่องจากประสิทธิภาพในการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 ภูมิภาคเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีมูลค่า FDI สูงที่สุดในโลกด้วยจำนวนกว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญ หรือ ร้อยละ 34 ของมูลค่า FDI ทั่วโลก รองลงมาเป็นยุโรป ร้อยละ 31 และอเมริกาเหนือ ร้อยละ 19 “UNCTAD วิเคราะห์ภาพรวมของโลกว่า FDI ของโลกน่าจะยังติดลบในปี 2564 แต่อยู่ในอัตราลดลงประมาณ -10% และฟื้นตัวในปี 2565 โดยเราเชื่อว่าในภูมิภาคเอเชียน่าจะได้รับผลกระทบ FDI ไม่รุนแรงเท่าภูมิภาคอื่น ทั้งเรื่องของจีนที่จีดีพีปีที่แล้วไม่หดตัวและน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 8.3% ในปีนี้ ทำให้การลงทุนในภูมิภาคเอเชียได้ประโยชน์จากจีนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และการควบคุมโควิด-19 ในเอเชีย โดยเฉลี่ยทำได้ดี” ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI โลก ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของรัฐบาล Biden ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดภาษีนำเข้าจากจีนลงอย่างช้าๆ โดยสหรัฐอเมริกาและจีนจะยังคงเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ต่อไป แต่สหรัฐอเมริกาจะเน้นไปที่การกดดันในระดับพหุภาคีและมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีแทน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งเป็น 3 ขั้ว ตามภูมิภาคชัดเจนมากขึ้นคือสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ซึ่งส่งผลต่อการค้าและห่วงโซ่อุปทาน มาตรฐานและกฎเกณฑ์ เทคโนโลยีและบทบาทของภาครัฐผ่านช่องทางเครดิตแต่ละประเทศและอุตสาหกรรม โดยแนวโน้มการพึ่งตัวเองของเศรษฐกิจ 3 ขั้วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ของ 3 ประเทศเสาหลักไม่ตรงกันมากขึ้น (divergent interest) และการค้าภายในภูมิภาคจะมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ทดแทนการค้าระหว่างภูมิภาคที่ลดลงได้ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลต่อการลงทุนและการเคลื่อนที่ของเงินทุน “ประเด็นแรกคือ rising geopolitical risk แม้ Biden จะทำให้นโยบายการค้ากับจีนออกมาเชิงบวกมากขึ้น แต่จีนและสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นคู่แข่ง strategic rivalry ที่สำคัญกันอยู่ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมของโลกมีแนวโน้มแบ่งเป็น 3 ขั้วอำนาจทางการค้าและการลงทุนทำให้การลงทุนมีลักษณะ global chain หรือ global trade ลดลง แต่เป็น regional value chain หรือ value trade มากขึ้น” นอกจากนั้น หนึ่งในปัจจัยที่อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศในอนาคตคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของประชากรโลก ร้อยละ 30 ของมูลค่าจีดีพีโลก ร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และ ร้อยละ 25 ของ FDI inflow โลก โดยการเชื่อมโยง value chain ระหว่างประเทศสมาชิกจะทำให้ FDI มีโอกาสขยายตัวในภูมิภาคมากขึ้น ขณะที่ UNCTAD เชื่อว่า ความตกลง RCEP จะสามารถกระตุ้นให้การลงทุนในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นด้วยจุดเด่นของ rules of origins ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันส่งผลให้การค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้น และกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีการเชื่อมโยง value chain อย่างเหนียวแน่นพร้อมทั้งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของโลกเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ถือว่ามีการเติบโตสูง ยรรยง กล่าวถึงปัจจัยกระตุ้นความเปลี่ยนแปลง FDI โลกในระยะยาว ได้แก่ การตั้งกำแพงภาษีและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการดิสรัปชัน ซัพพลายเชน และการตื่นตัวด้านสุขอนามัยและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งความก้าวหน้า และการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความปลอดภัย 3 ด้าน ประกอบด้วย diversification หรือการกระจายความเสี่ยงโดยลดการพึ่งพาสินค้าจากแหล่งผลิตเดียว regionalization หรือ reshoring การย้ายและขยายฐานการผลิตในระดับภูมิภาค digital supply chain การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการซัพพลายเชน ดังนั้น ทิศทางความเปลี่ยนแปลงของ FDI โลกในอนาคตจึงมีแนวโน้มเกิดการกระจายการลงทุนออกจากจีนมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้าหรือฐานการผลิตในจีนเพียงแหล่งเดียว หรือ China +1 strategy การขยายการลงทุนในตลาดระดับภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวและมีความต้องการในระดับสูง การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศเพื่อลดความเสี่ยงกับการพึ่งพาผู้ผลิตต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure) เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อ่านเพิ่มเติม: ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เผยข้อมูลจาก “รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021”
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine