ทิศทาง "FDI โลก" ส่งสัญญาณกระจายการลงทุนจากจีนสู่อาเซียนลดความเสี่ยงธุรกิจ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นจุดหมายการลงทุนสำคัญหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ภาวะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ที่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ได้ประมาณการมูลค่าการหดตัวไว้ติดลบร้อยละ 30-40 ปีต่อปี อยู่ที่จำนวนประมาณ 0.9-1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์และชะลอการลงทุนทั่วโลกจนเศรษฐกิจโลกติดลบถึง 4.1 ปีต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่า FDI ของภูมิภาคเอเชียในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ยังอยู่ในระดับที่หดตัวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เนื่องจากประสิทธิภาพในการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 ภูมิภาคเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีมูลค่า FDI สูงที่สุดในโลกด้วยจำนวนกว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญ หรือ ร้อยละ 34 ของมูลค่า FDI ทั่วโลก รองลงมาเป็นยุโรป ร้อยละ 31 และอเมริกาเหนือ ร้อยละ 19 “UNCTAD วิเคราะห์ภาพรวมของโลกว่า FDI ของโลกน่าจะยังติดลบในปี 2564 แต่อยู่ในอัตราลดลงประมาณ -10% และฟื้นตัวในปี 2565 โดยเราเชื่อว่าในภูมิภาคเอเชียน่าจะได้รับผลกระทบ FDI ไม่รุนแรงเท่าภูมิภาคอื่น ทั้งเรื่องของจีนที่จีดีพีปีที่แล้วไม่หดตัวและน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 8.3% ในปีนี้ ทำให้การลงทุนในภูมิภาคเอเชียได้ประโยชน์จากจีนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และการควบคุมโควิด-19 ในเอเชีย โดยเฉลี่ยทำได้ดี” ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI โลก ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของรัฐบาล Biden ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดภาษีนำเข้าจากจีนลงอย่างช้าๆ โดยสหรัฐอเมริกาและจีนจะยังคงเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ต่อไป แต่สหรัฐอเมริกาจะเน้นไปที่การกดดันในระดับพหุภาคีและมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีแทน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งเป็น 3 ขั้ว ตามภูมิภาคชัดเจนมากขึ้นคือสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ซึ่งส่งผลต่อการค้าและห่วงโซ่อุปทาน มาตรฐานและกฎเกณฑ์ เทคโนโลยีและบทบาทของภาครัฐผ่านช่องทางเครดิตแต่ละประเทศและอุตสาหกรรม โดยแนวโน้มการพึ่งตัวเองของเศรษฐกิจ 3 ขั้วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ของ 3 ประเทศเสาหลักไม่ตรงกันมากขึ้น (divergent interest) และการค้าภายในภูมิภาคจะมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ทดแทนการค้าระหว่างภูมิภาคที่ลดลงได้ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลต่อการลงทุนและการเคลื่อนที่ของเงินทุน “ประเด็นแรกคือ rising geopolitical risk แม้ Biden จะทำให้นโยบายการค้ากับจีนออกมาเชิงบวกมากขึ้น แต่จีนและสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นคู่แข่ง strategic rivalry ที่สำคัญกันอยู่ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมของโลกมีแนวโน้มแบ่งเป็น 3 ขั้วอำนาจทางการค้าและการลงทุนทำให้การลงทุนมีลักษณะ global chain หรือ global trade ลดลง แต่เป็น regional value chain หรือ value trade มากขึ้น” นอกจากนั้น หนึ่งในปัจจัยที่อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศในอนาคตคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของประชากรโลก ร้อยละ 30 ของมูลค่าจีดีพีโลก ร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และ ร้อยละ 25 ของ FDI inflow โลก โดยการเชื่อมโยง value chain ระหว่างประเทศสมาชิกจะทำให้ FDI มีโอกาสขยายตัวในภูมิภาคมากขึ้น ขณะที่ UNCTAD เชื่อว่า ความตกลง RCEP จะสามารถกระตุ้นให้การลงทุนในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นด้วยจุดเด่นของ rules of origins ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันส่งผลให้การค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกมีความสะดวกมากขึ้น และกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีการเชื่อมโยง value chain อย่างเหนียวแน่นพร้อมทั้งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของโลกเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ถือว่ามีการเติบโตสูง ยรรยง กล่าวถึงปัจจัยกระตุ้นความเปลี่ยนแปลง FDI โลกในระยะยาว ได้แก่ การตั้งกำแพงภาษีและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการดิสรัปชัน ซัพพลายเชน และการตื่นตัวด้านสุขอนามัยและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งความก้าวหน้า และการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความปลอดภัย 3 ด้าน ประกอบด้วย diversification หรือการกระจายความเสี่ยงโดยลดการพึ่งพาสินค้าจากแหล่งผลิตเดียว regionalization หรือ reshoring การย้ายและขยายฐานการผลิตในระดับภูมิภาค digital supply chain การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการซัพพลายเชน ดังนั้น ทิศทางความเปลี่ยนแปลงของ FDI โลกในอนาคตจึงมีแนวโน้มเกิดการกระจายการลงทุนออกจากจีนมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้าหรือฐานการผลิตในจีนเพียงแหล่งเดียว หรือ China +1 strategy การขยายการลงทุนในตลาดระดับภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวและมีความต้องการในระดับสูง การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศเพื่อลดความเสี่ยงกับการพึ่งพาผู้ผลิตต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure) เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อ่านเพิ่มเติม: ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เผยข้อมูลจาก “รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021”คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine