จับชีพจรธุรกิจโรงพยาบาลฝ่าวิกฤตศึกสุขภาพ - Forbes Thailand

จับชีพจรธุรกิจโรงพยาบาลฝ่าวิกฤตศึกสุขภาพ

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้สะท้อนถึงรายได้การเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล ตรงกันข้ามยังส่งผลกระทบและสร้างแรงกดดันการทำกำไรให้กลุ่มบริการทางการแพทย์ต้องปรับตัวรับความท้าทายจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และการแข่งขันชิงส่วนแบ่งคนไข้ พร้อมความเปลี่ยนแปลงเทรนด์สุขภาพ

ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดหลายระลอกได้สร้างแรงกดดันให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัว แม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่การเติบโตสวนทางกับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จาก medical tourism และคนไข้เงินสดเป็นหลัก เนื่องจากปัจจัยลบและความท้าทายที่ต้องเผชิญรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว และคนไข้ต่างชาติยังไม่กลับมาเป็นปกติ รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการ และความเปลี่ยนแปลงยุคเทคโนโลยีที่ทำให้ทางเลือกสุขภาพมีความหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ทิศทางการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปีนี้ยังคงเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในขั้นรุนแรงและส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากตัวเลขรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่หดตัวลงประมาณ 12.5% ในปี 2563 และ 11.9% ในปี 2564 โดยการบริหารจัดการโควิด-19 ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2564) สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในกลุ่ม medical tourism หรือโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนสูงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ทำให้คนไข้ต่างชาติยังไม่สามารถกลับเข้ามาใช้บริการได้ตามปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้สหรัฐอเมริกายุโรป และเมียนมา แม้จะมีกลุ่ม expat ในประเทศและ medical tourism บางประเทศ เช่น ตะวันออกกลางและจีน แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการกักตัวอย่างเข้มงวด ซึ่งคาดการณ์การฟื้นตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัดในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไทยเป็นหลักมีแนวโน้มต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากผู้เล่นในตลาดโรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อรองรับตลาดคนไข้ต่างชาติที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่เน้นตลาดคนไข้ต่างชาติต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อชิงตลาดคนไข้ในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันคนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค และภาวะตกงานสะสมจำนวนมาก รวมถึงความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การขยายตลาดเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้เงินสดที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองอาจจะเปลี่ยนไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่มีค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า หรือเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ คลินิกทั่วไป หรือหาซื้อยารับประทานเอง นอกจากนั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังเผชิญกับปัจจัยท้าทายอื่นๆ รอบด้านไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพของการให้บริการ ประกอบกับพฤติกรรมของคนไข้ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้คนไข้มีตัวเลือกในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่หลากหลายขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนของลูกค้าประกันสุขภาพในสัดส่วนสูงน่าจะสามารถประคับประคองรายได้ และได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลที่จับกลุ่มลูกค้าเซกเมนต์อื่น

- ส่องเทรนด์ธุรกิจหลังโควิด-19 -

ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวและสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะกลยุทธ์การปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ เช่น ลดราคาค่าห้องการจัดโปรแกรมค่ารักษาพยาบาลในราคาพิเศษ การชูจุดขายความเฉพาะทางของโรคในแต่ละกลุ่มลูกค้าการผ่อนชำระค่ารักษาพยาบาลที่ยาวนานขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลยังสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับคนไข้ต่างชาติ ซึ่งเริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย (กลุ่ม Special Tourism Visa: STV และกลุ่มอื่นๆ ที่ภาครัฐอาจจะพิจารณาเพิ่มเติมในอนาคต) เช่น การเตรียมเอกสารทางการแพทย์ให้กับคนไข้ การจัดเตรียมห้องพักสำหรับผู้ติดตามผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนั้น ในความเปลี่ยนแปลงที่เต็มไปด้วยความท้าทายยังคงมีโอกาสสร้างการเติบโตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นในการช่วยลดความเสี่ยงและยกระดับการบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ health tech ซึ่งที่ผ่านมายังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมาก และส่วนใหญ่เป็นการนำมาใช้กับภาคธุรกิจ (B2B) มากกว่าการใช้งานกับผู้บริโภคโดยตรง (B2C) พร้อมประเมินเม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับ health tech ในไทยปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท และคาดการณ์การเติบโตได้ในช่วง 10-12% (CAGR) ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับการใช้ health tech ของภาคธุรกิจ (B2B) ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สำหรับการจัดการภายในองค์กรและยกระดับการบริการ เช่น ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วย ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์บริการดูแลผู้ป่วย โดยการลงทุนของภาคธุรกิจใน health tech ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในการลงทุน รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้งานในระยะยาวมากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพ SME อาจไม่ได้ลงทุนในระบบ health tech ของตนเอง แต่อาศัยการใช้งานแพลตฟอร์มตัวกลางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเชื่อมโยงร้านขายยา ร้านสินค้าสุขภาพในเครือข่ายเพื่อสั่งจ่ายยาให้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยพบแพทย์ทางไกลได้ ส่วนตลาดผู้ใช้งาน health tech ถึงผู้บริโภคโดยตรง (B2C) มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำกิจกรรมสุขภาพมากขึ้น และมีการใช้แอปพลิเคชันเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน พร้อมกับอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลสุขภาพต่างๆ เช่น สมาร์ทวอทช์ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมากขึ้น โดยเฉพาะวัย 30-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความถี่และค่าใช้จ่ายในการใช้งาน health tech มากที่สุด เช่น คลาสออกกำลังกายออนไลน์ และปรึกษาแพทย์ทางไกล โดยที่ผ่านมาการใช้งาน health tech อาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ในช่วงโควิด-19 ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการแพร่ระบาดประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงลงทะเบียนรับวัคซีน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความคุ้นเคยการใช้งานแอปพลิเคชันและระบบสุขภาพออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนอาจใช้กลยุทธ์การปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลคนไข้ ทั้งในลักษณะของการดูแลเชิงป้องกันและการรักษา เช่น การใช้แอปพลิเคชัน Health Check-Up หรืออาจจะใช้ AI หรือ Chatbot ในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงบริการให้คำปรึกษาสุขภาพและออกกำลังกายผ่าน online-platform แบบเรียลไทม์ โดยมีการตรวจวัดอัตราการเต้นหัวใจและการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ โปรแกรมบริหารสุขภาพจิตหรือบริหารสมองผ่านออนไลน์ ด้านการรักษาก็อาจจะใช้เทคโนโลยี telemedicine หรือ medical device with IoT หรือใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนหรือมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยี virtual reality ซึ่งในช่วงแรกของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการอาจจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจสูงขึ้น และการใช้บริการจริงของผู้ป่วยอาจจะยังจำกัด เนื่องจากคนไข้คุ้นเคยกับการรับบริการทางการแพทย์แบบดั้งเดิม แต่ในระยะยาวก็อาจจะช่วยลดปัญหาในด้านบริหารจัดการและช่วยลดภาระต้นทุนลงได้ และทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบมากขึ้นผ่านการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางและสะดวกขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนยังสามารถหาแหล่งรายได้ใหม่เข้ามาเสริมนอกเหนือจากรายได้หลักที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์น้ำยาหรือชุดตรวจโรค วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ขณะที่การใช้งานในภาคธุรกิจจะขยายจากการใช้งานในโรงพยาบาลไปสู่บริการสุขภาพอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจ nursing home และ retirement community ที่มีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 2,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสังคมผู้สูงอายุที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ซึ่งการให้บริการ health tech ของไทยจะอยู่ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมในธุรกิจสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายย่อยหรือสตาร์ทอัพในการขยายตลาด health tech ในไทย โดยเฉพาะการขยายการใช้งานในธุรกิจบริการสุขภาพนอกสถานพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ที่บ้าน นอกจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุหรือ nursing home โรงพยาบาลเอกชนยังมีโอกาสสร้างการเติบโตด้านสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น เครื่องมือการแพทย์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อาทิ รถเข็น เครื่องตรวจวัดความดันน้ำตาลในเลือด หรือแม้แต่การร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการดูแลโภชนาการด้านอาหารภายในโรงพยาบาล ทั้งอาหารที่เหมาะสำหรับคนไข้แต่ละกลุ่ม รวมถึงโอกาสที่จะขยายตลาดรองรับญาติหรือผู้ติดตาม ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย ความแม่นยำและบุคลากรที่ได้รับการรับรอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกกลยุทธ์ใดผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงการวางตำแหน่งทางการตลาด (positioning) หรือภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปรับตัวดังกล่าวให้เหมาะสม   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine