Market timing หรือจะสู้ Asset allocation - Forbes Thailand

Market timing หรือจะสู้ Asset allocation

ผมเริ่มสนใจลงทุนเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยเรียน M.B.A.จากการสังเกตว่ามหาเศรษฐีของโลกเขาทำอะไรกันบ้าง พบว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจ นักลงทุน หรือ เจ้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ทำให้ผมเริ่มสนใจหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะ หุ้นกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผมวิเคราะห์ดูแล้ว สินทรัพย์ 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ

หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง เราจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นทั้งของไทย และต่างประเทศ จะมีรอบขาขึ้น และขาลงเป็นรอบๆ บางรอบก็ใช้ระยะเวลาไม่นาน บางรอบก็ใช้เวลายาวนานกว่าจะจบรอบ โดยตลาดหุ้นมีการแกว่งตัว บางครั้งสูงมาก อย่างเช่น SET INDEX จาก 127.89 จุด เมื่อเดือนเมษายน 2529  ไต่ระดับขึ้นมาทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 1,789.16 จุด เมื่อเดือนเมษายน 2537 รวมแล้วขึ้นมาถึง 1,661.27 จุดคิดเป็น 1,298.98% ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี 9 เดือน หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 167.61% แต่ถ้าคิดแบบ Compound Average Growth Rate (CAGR) จะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นประมาณ 44.40% ผลตอบแทนขนาดนี้มากกว่าผลตอบแทนที่ Warren Buffet ทำได้เฉลี่ยที่ผ่านมาแค่ประมาณ 20% เท่านั้น แต่อย่างที่ทราบๆ กันว่าตลาดหุ้นไม่ใช่มีขึ้นอย่างเดียว ขาลงก็มี และบ่อยด้วย และบางครั้งลงเหมือนนรกก็มิปาน เรามาดูกันครับว่ามันร้ายแรงแค่ไหน SET INDEX หลังจากสร้างจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 1,789.16 เมื่อเดือน มกราคม 2537 แล้วก็ไหลลงมาตลอด จนไปสร้างจุดต่ำสุดที่ 204.59 เมื่อเดือนกันยายน 2541 รวมเวลาที่ลง 4 ปี 8 เดือน ลงไปทั้งหมด 1,584.57 คิดเป็น 88.57% เปรียบเสมือนว่าลงทุนไป 100 บาท ในช่วงที่ SET INDEX ทำจุดสูงสุดนั้นผ่านไปไม่ถึง 5 ปี มูลค่าเงินลงทุนก้อนนั้นเหลือเพียง 11.43 บาทเท่านั้น นี่เฉพาะกรณีที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนของ SET INDEX แต่ในช่วงนั้นประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย กลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง คนตกงานมากมาย บริษัทห้างร้านปิดกิจการมากมาย สถาบันการเงินเจ๊งกันไประนาว ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการเงินที่เป็นบริษัทในเครือหรือบริษัทย่อยของธนาคารใหญ่ๆ อย่างเช่น บล.ร่วมเสริมกิจ บล.ธนสยาม ฯลฯ ที่ต้องล้มละลายไปในช่วงเวลานั้น แล้วถ้าช่วงนั้นเงินลงทุนบางส่วนมีหุ้น บริษัทเหล่านี้อยู่ นั่นหมายถึงผลตอบแทนก็จะยิ่งแย่กว่านี้อีก นึกถึงช่วงเวลานั้น ผมยังจำได้ว่าค่าเงินบาทที่เคยผูกติดไว้กับเงินดอลล่าร์สหรัฐที่ 27 บาท กลับอ่อนยวบไปสูงสุดที่ประมาณ 58 บาท ธุรกิจที่กู้หนี้จากต่างประเทศในสกุลเงินต่างประเทศในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ จาก 100 ล้านบาทกลายเป็นกว่า 200 ล้านบาท นอกจากเงินต้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย มิหนำซ้ำสถาบันการเงินต่างประเทศที่ธุรกิจเหล่านี้กู้ผ่าน BIBF ก็เร่งรัดขอให้ชำระหนี้ทันที ภาวะเก็งกำไรทุกอย่างหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือแม้แต่สมาชิกสนามกอล์ฟก็ยังเก็งกำไรกัน โครงการอสังหาริมทรัพย์หลายๆ ประเภทไม่ว่าจะเป็นคอนโดที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับ Demand ของนักเก็งกำไร ถูกทิ้งร้างไว้หลายๆ โครงการ นักเก็งกำไรก็หนีตาย แห่กันลดราคา ยอมตัดขาดทุนเพื่อลดหนี้ และรักษาสภาพคล่องไว้กับตัว ราคาของสินทรัพย์ในประเทศไทยเกือบทุกประเภทมีมุลค่าลดลง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่ลงระเนระนาด ราคาที่ดิน บ้านคอนโดตกลงอย่างมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ผมจำได้ว่าราคาคอนโดหลายแห่งในกรุงเทพฯ ตกลงไป 25-50% เลยทีเดียว ในช่วงนั้นเองผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากด้วยเช่นกัน โดยผมเพิ่งเริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นด้วย มิหนำซ้ำผมยังใช้เงินกู้ในการซื้อขายหุ้น และที่แย่ไปกว่านั้น คอนโดที่ผมอยู่ในปัจจุบัน ผมก็เอาเข้าธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ ด้วยความที่ผมเป็นนักเก็งกำไรที่ Aggressive มาก ในสมัยนั้น หุ้นก็ตกลงอย่างมาก สมาชิกสนามกอร์ฟที่เก็งกำไรไว้หลายๆ สนามๆ ละหลายๆ สมาชิก ก็ขายไม่ออก ทั้งๆ ที่ยอมตัดขายขาดทุนอย่างมาก คอนโดที่ซื้อเก็งกำไรไว้ก็ราคาตก ดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหุ้นและคอนโดก็ต้องจ่ายทุกเดือน อัตราแลกเปลี่ยนจากวิกฤตต้มยำกุ้งพุ่งกระโดดเป็นเท่าตัว ผมเริ่มมองเห็นหายนะที่จะเกิดขึ้นกับผมในอนาคตข้างหน้าที่ไม่ไกลนัก ในที่สุดผมก็ยอมกัดฟัน ตัดขายขาดทุนเพื่อจะล้างหนี้หุ้นและคอนโดจนไม่มีหนี้เหลือ และเหลือสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยภายในเวลา 7-8 ปี เผื่อว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวล่าช้า อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นผมมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยต้องฟื้นตัวแน่ เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ยังไงก็คงไม่เกิน 5-6 ปีเป็นแน่ ตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีฟุบก็ต้องมีฟื้นในที่สุด และแล้วเศรษฐกิจไทยก็ฟื้นตัว หุ้นที่ยังคงมีอยู่ในพอร์ตก็มีราคาสูงขึ้น ราคาคอนโดที่ถืออยู่ก็มีราคาสูงขึ้น จากบทเรียนคราวนั้น ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีการลงทุนในหุ้น จากเน้นเก็งกำไร กลายเป็นลงทุนโดยเน้นปัจจัยพื้นฐานในการเลือกหุ้น และผมก็ยังใช้วิธีวิเคราะห์ทางเทคนิคมาช่วยจับ Timing และดูแนวรับแนวต้านประกอบในการซื้อขายหุ้นด้วย โดยเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ผมได้เข้าไปลงทุนหุ้น บริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คประกันชีวิต (SCBNYL) ชื่อในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ บริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) โดยผมใช้เงินลงทุนไม่ถึง 20 ล้านบาท ซื้อหุ้น SCNYL ได้ประมาณ 270,000 หุ้น เฉลี่ยต้นทุนหุ้นละ 70 กว่าบาท หลังจากถือมาประมาณ 7-8 ปี ราคาหุ้นตัวนี้ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนไปทำราคาสูงสุดที่ 1,210 บาท ในช่วงระหว่างที่ถือครองหุ้นตัวนี้ผมได้ปันผล 120 กว่าบาท/หุ้น แค่เงินปันผลอย่างเดียวก็มากกว่าต้นทุนที่ซื้อมาแล้ว ยังมีเงินเหลืออีกประมาณ 50บาท/หุ้น ยังไม่นับรวม Capital Gain อีก 1,100 กว่าบาท/หุ้น คิดรวมเป็นผลตอบแทนประมาณ 1,800% เห็นไหมครับ ถ้าเลือกลงทุนในหุ้นที่ถูกต้อง ผลตอบแทนนั้นมหาศาลจริงๆ เชื่อไหมครับว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหันมาสนใจหุ้นตัวนี้มาจากการอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่งเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ซึ่งมีข่าวสัมภาษณ์นายกสมาคมประกันชีวิตแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงเปอร์เซนต์ของคนไทยที่ทำประกันชีวิตมีเพียง 14% เท่านั้น ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผมมากว่า ทำไมตัวเลขถึงต่ำอย่างนั้น ผมก็เลยเริ่มไปค้นหาข้อมูลว่าคนชาติอื่นเขาทำประกันชีวิตกันมากน้อยอย่างไร ปรากฎว่าคนณี่ปุ่นทำประกันชีวิตมากกว่า 100% เสียอีกด้วยซ้ำ เพราะบางคนทำประกันชีวิตมากกว่า 1 กรมธรรม์ ผมคิดว่าอีกสัก 15-20 ปี ถ้าคนไทยมีรายได้เท่ากับคนญี่ปุ่นในขณะนั้น (สมมติว่ารายได้คนญี่ปุ่นไม่เพิ่มขึ้นเลย) นั่นหมายถึงธุรกิจประกันชีวิตน่าจะโตขึ้นได้อีก 7-8 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่สูงมาก ผมค้นข้อมูลต่อไปอีกว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตของไทยโตเป็น 3-5 เท่าของ GDP มาตลอด อย่าลืมนะครับ GDP เป็นค่าเฉลี่ยของผลผลิตทั้งสินค้าและบริการ การที่ธุรกิจประกันชีวิตโต 3-5 เท่าของ GDP ต้องนับเป็นธุรกิจที่ OUTPERFORM  กว่าธุรกิจอื่นๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคตดูแล้วน่าประทับใจมาก ผมจึงลองเข้าไปค้นดูว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีหุ้นประกันชีวิตบริษัทอะไรบ้างที่จะทะเบียนอยู่ บังเอิญช่วงนั้นมีเพียง SCNYL บริษัทเดียวเท่านั้น และ SCNYL เป็นบริษัทประกันชีวิตบริษัทแรกที่นำ BANCASSURANCE มาใช้ในเมืองไทย ทำให้ MARKET SHARE โตเร็วขึ้นมาก จนช่วงหลังๆ ทุกธนาคารต้องหันมาเลียนแบบ และเมื่อดูผู้ถือหุ้นใหญ่ ปรากฎว่า SCB กับ NEWYORK LIFE (NYL)จากสหรัฐ ถือหุ้นคนละ 47 % กว่า ที่เหลือเป็นรายย่อย SCB เป็นธนาคารที่มีสาขามากที่สุดใปประเทศไทย นั่นหมายถึงมี OUTLET สำหรับทำ BANCASSURANCE ให้ SCNYLได้มาก แถมยังถือหุ้นใหญ่ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนนิวยอร์คไลฟ์ก็เป็นบริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ติด TOP 5 ของสหรัฐ
เหล่า ผู้บริหาร AIG และ Goldman Sachs ร่วมกล่าวคำสาบาน ช่วงวิกฤตสหรัฐอเมริกาอย่างหนักในปี 2010 หรือ “Hambusger Crisis”
เชื่อไหมครับว่าช่วงที่เกิด HAMBERGER CRISIS AIG เกือบล่มสลาย ถ้ารัฐบาลสหรัฐไม่เข้าไปช่วยเหลือในขณะที่ NYL ไม่ได้รับความเสียหายมากมายนัก เพราะนโยบายในการลงทุนที่ CONSERVATIVE ซึ่งทาง NYL ได้นำมาใช้กับ SCNYL ด้วย ด้วยสาขาที่มากมายของ SCB และ KNOWHOW ของ NYL ทำให้ SCNYL เหมือนกับเสือติดปีก และความโปร่งใสในการดำเนินการ จาก CORPORATE GOVERNANCE ของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ยิ่งทำให้สบายใจในการลงทุน ผลกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า SCNYL (SCBLIF) เป็นหุ้นที่ดีที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ แม้ช่วง HAMBERGER CRISIS ผลประกอบการของบริษัทยังโตได้อีก 30-40% ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นบริษัทอื่นๆไม่ว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ MAI และบริษัทนอกตลาดทั้ง 2 ส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่แย่ลง หรือบางบริษัทขาดทุนเสียด้วยซ้ำ ส่วนคอนโดที่ผมอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผมซื้อเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ที่ราคา 7.80 ล้านบาท ปัจจุบันนี้มีคนมาขอซื้อที่ราคา 20 ล้านบาทแล้ว กำไรทั้งอยู่และ CAPITALGAIN ที่งดงาม นั่นคือสาเหตุที่ผมมีการกระจายการลงทุนของผมลงในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากธรรมชาติของสินทรัพย์ทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง แต่มีความหวือหวามาก ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่มีความหวือหวาไม่มากนักโอกาสที่จะเห็นราคาอสังหาริมทรัพย์ตกลงมากๆ ในช่วงชีวิตคนเรา ไม่น่าจะเกิน 2-3 ครั้ง เสียแต่สภาพคล่องต่ำ จึงเป็นสินทรัพย์ที่เมื่ออยู่ในพอร์ตเดียวกัน จะช่วยลดความผันผวน และสร้างสภาพคล่องที่ปานกลางได้ดี ปีนี้เริ่มเล็งทองและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ในอัตราส่วน 60:30 5:5 จากประสบการณ์ของผม การทำ ASSET ALLOCATION ที่ดีจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้มากกว่าการจับ TIMING ในระยะยาว และข้อสำคัญคือ ต้องลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่รู้จักและเข้าใจดีเท่านั้น  
กิติชัย เตชะงามเลิศ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน