EPCO ปั้น EP โกยความมั่งคั่ง ระดมทุนรองรับดีมานด์ไฟฟ้า 'CLMV' - Forbes Thailand

EPCO ปั้น EP โกยความมั่งคั่ง ระดมทุนรองรับดีมานด์ไฟฟ้า 'CLMV'

โรงพิมพ์ตะวันออก สบโอกาสดัน อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปีนี้ หวังนำเงินสยายปีกพลังงานทดแทนในกลุ่ม CLMV สู่เป้าหมายกวาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปี พร้อมเสริมทัพให้บริษัทแม่ take off อีกครั้งหลังสิ่งพิมพ์ขาลง

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด หรือ EPCO ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ชั้นนำของประเทศไทยรวมถึงในภูมิภาคเอเชีย ก่อตั้งมาแล้วกว่า 27 ปี ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับทัพองค์กรแห่งนี้ใหม่ หลังเริ่มเห็นธุรกิจสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มเป็น “ขาลง” จากการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น จึงตัดสินใจต้องหารายได้ทางอื่นมาช่วยเสริมรายได้สิ่งพิมพ์ ยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด และผู้ก่อตั้ง บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป หรือ EP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้นใหญ่โดย EPCO สัดส่วน 75% ที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และปัจจุบันกำลังเดินหน้าสร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ด้วยการผลักดัน EP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในเร็วๆ นี้ คาดเสนอขายหุ้น 600 ล้านหุ้น สำหรับแผนการระดมทุนครั้งนี้เพื่อต้องการนำเงินระดมทุนขยายกำลังผลิตพลังงานทดแทนทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีความต้องการไฟฟ้าอีกมหาศาล โดย EP มีเป้าหมายภายใน 3 ปี ข้างหน้า (2561-2563) ต้องมีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันกำลังการผลิต 435 เมกะวัตต์ ซึ่งมีรายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 405 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 30 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาภายในครึ่งแรกของปี 2562 ทั้งหมด “ความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่ม CLMV ยังสูง เช่น เวียดนามผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเศรษฐกิจเติบโตเร็วส่วนเมียนมาตอนนี้ผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอเพราะว่ามีประชากรมากกว่าเมืองไทย แต่ผลิตไฟฟ้าได้แค่ 1 ใน 4 ของเมืองไทย ซึ่งการลงทุนในประเทศเหล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้ทุกอย่าง ทั้งพลังงานโซลาร์ฟาร์มพลังงานความร้อน เป็นต้น” ยุทธ ชินสุภัคกุล เล่าถึงจุดกำเนิดของ EP ให้ฟังว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจของ EPCO อยู่ในช่วงขาลง ตอนนั้นบริษัทจำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่และได้ไปคุยกับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC สมัยที่ยังทำธุรกิจเดิม คือจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารโคนิก้า ยูบิกซ์ “ตอนนั้นเราคิดว่าหากร่วมทุนเป็นพันธมิตรกันก็จะใช้ตลาดลูกค้าของ IFEC มาใช้กำลังการผลิตของโรงพิมพ์เราได้ แต่เมื่อไม่เป็นตามที่คิดเราก็ต้องหาธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแทน” ทว่า หลังจากเข้าไปคุยกับ IFEC แล้ว เขาบอกว่ากำลังหมดสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารกับพันธมิตรญี่ปุ่น แต่มีข้อเสนอใหม่ให้ ด้วยการขายใบอนุญาต (License) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (solar farm) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ จำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยมีการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้วนั่นถือเป็นการก้าวเข้ามาในธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเริ่มต้นลงทุนในโครงการแรกเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน ตอนนั้นใช้เวลาก่อสร้างปีครึ่ง ก่อนจะทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ จากการลงทุนโครงการแรกบริษัทเริ่มเห็นช่องทางธุรกิจพลังงานทดแทนมีการเติบโตที่ดี จึงได้เข้าซื้อไลเซนส์โซลาร์ฟาร์มอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ที่ จ.ลพบุรี และต่อด้วยไลเซนส์โครงการที่ จ.ปราจีนบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน EP มีโครงการพลังงานทดแทนทั้งหมด แบ่งเป็นในประเทศไทย ประกอบด้วย “โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม” จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ กฟภ. แล้ว “โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มเริ่มไม่น่าสนใจแล้ว หลังค่ารับซื้อไฟฟ้ามีทิศทางลดลงต่อเนื่อง เรามีโครงการโซลาร์ฟาร์ม 4 แห่งในเมืองไทยที่ได้ค่าไฟแบบ adder ที่อัตรา 6.50 บาท/หน่วย และเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ (FiT) 1 แห่ง” ฉะนั้น จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่บริษัทเข้ามาพัฒนาใน “โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์” (solar rooftop) จำนวน 8 โครงการ โดยในปัจจุบันดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้ว 3 โครงการโดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 6.55 บาทต่อหน่วย และโครงการให้เช่าระบบผลิตไฟฟ้าแบบ solar rooftop แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคเอกชนที่อยู่ระหว่างพัฒนา 3 โครงการ นอกจากนี้ มีการลงทุนในบริษัทร่วม ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ โดยโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วม (cogeneration) ประกอบด้วย บริษัท เอสเอสยูที (SSUT) กำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 40% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู โดย COD ครบแล้วเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 และบริษัท พีพีทีซี (PPTC) กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ โดยถือหุ้นสัดส่วน 49.5% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ปัจจุบันขายไฟฟ้าทั้งหมดแล้ว “โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งไปได้ด้วยดี มีลูกค้า 75% เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ 25% เป็นผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เรามีรายได้เติบโตทันที” ต่อมาในปี 2558 บริษัทขยายการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นตามคำชักชวนของเพื่อน โดยเข้าไปลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิตทั้งหมด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์จำนวน 1 แห่ง กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ โดยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 ปี และมีโครงการอยู่ระหว่างพัฒนา 3 โครงการ คือ “โครงการ Kurihara 1 และ 2” ทว่า หลังจากลงทุนครบทั้งหมด 45 เมกะวัตต์แล้ว บริษัทคงไม่ลงทุนต่อ เพราะว่าทิศทางราคารับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐของญี่ปุ่นคล้ายๆ กับประเทศไทยตอนนี้ที่มีแนวโน้มการรับซื้อไฟฟ้าในราคาลดลงจากเดิม จากตอนนี้ที่บริษัทมีราคาขายไฟฟ้าตั้งแต่ช่วง 32-40 เยน โดยมีอัตราผลตอบแทนในการลงทุน (IRR) ประมาณ 12-18% ซึ่งอนาคตราคารับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐลดลงเรื่อยๆ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่งผลให้ซับพลายมากแล้ว “โอกาสในการเติบโตธุรกิจพลังงานทดแทนยังมีอีกมาก เพียงแต่ว่าบริษัทต้องออกไปแสวงหาโอกาสโตในประเทศที่ยังมีความต้องการไฟฟ้า ขณะที่เมืองไทยเริ่มลดความน่าสนใจลงจากค่ารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำลงเรื่อยๆ” อย่างไรก็ตาม หากแผนการระดมทุนเป็นตามเป้าหมายที่วางไว้นั้นเชื่อว่าจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรของ EP และ EPCO เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากมีรายได้ประจำจากธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเพิ่มฐานรายได้และกระจายความเสี่ยงธุรกิจให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี เรื่อง: ศนิชา ละครพล ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่าน Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "WEALTH MANANAGEMENT & INVESTING 2018" ในรูปแบบ e-Magazine