Christopher Davis ยิ้มออกเมื่อดอกเบี้ยขึ้น - Forbes Thailand

Christopher Davis ยิ้มออกเมื่อดอกเบี้ยขึ้น

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Sep 2024 | 09:01 AM
READ 608

ทายาทสายตรงของนักค้าหุ้นใน Wall Street อย่าง Christopher Davis ต้องกัดฟันทนรอมานานถึง 14 ปี ในช่วงที่หุ้นคุณค่าถูกเมินจากการที่ใครๆ ก็กู้เงินได้แบบปลอดความเสี่ยง แต่ตอนนี้ เมื่อเงินกู้มีต้นทุนแพงขึ้นก็ถึงเวลาที่เขาจะเงยหน้าอ้าปากได้แล้วจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “การกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”


    ผนังด้านหนึ่งในออฟฟิศของ Christopher Davis ที่ Fifth Avenue ใน Manhattan เป็นผนังแห่งความผิดพลาด ซึ่งมีใบหุ้น 23 ใบใส่กรอบแขวนเรียงกันในแนวนอนอยู่สี่แถว  โดยแต่ละใบสะท้อนถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ Davis Advisors ธุรกิจครอบครัวที่เขาเข้าไปซื้อกิจการมาเมื่อปี 1998 ซึ่งมีกองทุนรวม และ ETF ที่บริหารอยู่ 17 กอง และมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ใบหุ้นแต่ละใบจะมีประโยคสั้นๆ 2-3 ประโยคที่ใช้ตัวพิมพ์เล็กอธิบายถึงสิ่งที่ Davis เรียกว่า “บทเรียนที่ส่งต่อได้” ซึ่งหมายความว่า ถ้าคอยเอาใจใส่ให้ดีๆ ก็จะไม่ผิดพลาดซ้ำสองแบบเดิมอีก  หนึ่งในหุ้นที่เขาพลาดไปคือ Google ซึ่งสาเหตุที่มันขึ้นมาอยู่บนผนังนี้ก็เพราะ Davis พลาดที่ไม่ได้ซื้อมันตอน IPO เมื่อปี 2004 ส่วนหุ้นอีกตัวที่อยู่บนผนังก็คือ Waste Management เพราะ Davis ดันขายมันออกไปตอนที่เกิดกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทเมื่อปี 2000 โดยไม่ทันเฉลียวใจว่าจริงๆ แล้วธุรกิจของบริษัทกำลังรุ่ง

    “เรามีวัฒนธรรมแบบถ่อมตน” เขากล่าว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Davis ในวัย 58 ปีจะไม่มีอะไรให้อวด New York Venture Fund ซึ่งเป็นกองทุนเรือธงของเขาซึ่งมีมูลค่า 6.2 พันล้านเหรียญให้ผลตอบแทนสูงถึง 30% ในปีที่แล้ว สูงกว่าของดัชนี S&P 500 ที่ 26% ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีของกองทุนดังกล่าวนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1969 อยู่ที่ 11.4% ซึ่งก็สูงกว่าของดัชนี S&P ที่ 10.2%

    อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยศูนย์ระหว่างปี 2008-2022 ทำให้ผลตอบแทนของบรรดานักลงทุนเน้นคุณค่าและไม่ได้ทุ่มเงินลงทุนลงไปในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไปได้ไม่ถึงไหน โดยพวกหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าแท้จริงที่ Davis เข้าไปลงทุนก็ยังคงมีราคาต่ำกว่ามูลค่าแท้จริงอยู่นั่นเอง และนั่นก็ทำให้เขาเสียลูกค้าไป โดยมูลค่าสินทรัพย์ของ Venture Fund ร่วงหนักถึง 88% ซึ่งทำให้ Davis ต้องตั้งคำถามกับแนวทางการลงทุนของเขา

    “ไม่บ่อยนักหรอกที่เราจะคิดว่าเรารู้มากกว่าตลาด และใน 2-3 กรณีที่เป็นเช่นนั้นคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าเราผิด” เขาบอก “ความแตกต่างระหว่างความเชื่อมั่นกับความดื้อดึงมันกั้นด้วยเส้นบางๆ เส้นเดียว” มีคนแค่ไม่กี่คนหรอกที่จะถือเป็นสายพันธุ์แท้ของนักค้าหุ้นในตลาดหุ้น Wall Street เหมือนกับ Davis โดยปู่ของเขา Shelby Cullom Davis เริ่มซื้อขายหุ้นเมื่อปี 1947 และทำให้เงินทุนตั้งต้น 50,000 เหรียญงอกเงยเป็น 900 ล้านเหรียญ ซึ่งทำให้เขาได้เข้ามาอยู่ในทำเนียบ Forbes 400 เป็นเวลา 8 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1994 หลังจากนั้น Shelby M.C. Davis พ่อของ Christopher Davis ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 86 ปี ก็รับช่วงดูแลกิจการและปั้นให้ผลตอบแทนของ New York Venture Fund สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดถึง 16 เท่า และทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนไต่ระดับขึ้นไปจนถึง 3 พันล้านเหรียญภายในปี 1998

    ภาพลักษณ์ภายนอกของ Davis ดูเหมือนศาสตราจารย์ในภาควิชาปรัชญามากกว่าจะเป็นนักลงทุนผู้ทรงอิทธิพลในตลาดหุ้น Wall Street เขามีผมสีทองที่ออกจะยุ่งๆ และเริ่มมีผมหงอกแซมประปราย เขาใส่เสื้อสเวตเตอร์แบบสวมทับเสื้อเชิ้ตผูกไท ในขณะที่ออฟฟิศของเราสุมเต็มไปด้วยกองกระดาษ รูปหล่อแบบครึ่งตัวของ Charlie Munger และที่นอนสุนัขสำหรับ Knick หมา Kooiker สายพันธุ์ดัตช์อายุ 4 ปี ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Knickerbocker ทั้งนี้ Davis Advisors เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยลูกจ้างของบริษัท ซึ่งตัว Davis เองถือหุ้นอยู่ 30% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญ และเขายังถือหุ้นในกองทุนของบริษัทในระดับที่มีนัยสำคัญด้วย แต่ทั้งปู่และพ่อของเขาบริจาคเงินส่วนใหญ่ของพวกเขาให้กับการกุศล ในขณะที่ Davis ยืนยันว่า เขาไม่ได้เป็นเศรษฐีระดับพันล้าน 

    เขาใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบหัวเก่าซึ่งเป็นสิ่งที่เขารับเป็นมรดกตกทอดมา โดยแนวทางของบริษัทเขาคล้ายคลึงกับของ Warren Buffett นั้นคือ จ่ายเงินในราคาที่สมเหตุสมผลเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทที่ไม่สามารถหาบริษัทไหนมาแทนที่ได้ ซึ่งมีผู้นำองค์กรที่มีวินัยและปล่อยให้บริษัททำกำไรไป

    การตัดสินใจซื้อกิจการไหนจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ Davis กับทีมงานของเขาจะคำนวณสิ่งที่เขาเรียกว่า ผลตอบแทนจากกำไรในส่วนของเจ้าของกิจการ หรือเงินสดที่ธุรกิจสร้างขึ้นหลังจากที่หักส่วนที่จะใช้นำกลับเข้าไปลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ แล้วหารด้วยราคาที่เข้าไปซื้อธุรกิจนั้น ซึ่งในการขุดลึกลงไปในงบการเงินของบริษัท ทีมงานของเขาจะให้ความสนใจกับภาระหนี้ และกำหนดเวลาในการชำระคืนหนี้ โอกาสในการรีไฟแนนซ์หนี้ และการใช้ประโยชน์จากสัญญาเช่า รวมถึงรายการที่อาจะทำให้กำไรสุทธิของบริษัทโตเป็นพิเศษ เช่น อัตราภาษีที่ต่ำเกินความคาดหมาย กำหนดการตัดค่าเสื่อมราคาที่นานเป็นพิเศษ หรือ การจ่ายค่าตอบแทนเป็นหุ้น ปัจจัยที่ 2 คือ พวกเขาจะเน้นความสำคัญไปที่โอกาสในการที่บริษัทจะนำกำไรที่ได้กลับเข้ามาลงทุนในบริษัท ซึ่ง Davis บอกว่า บริษัทที่มีโอกาสให้กลับเข้ามาลงทุนอีกอย่างน่าสนใจอาจจะมีค่ามากกว่าบริษัทที่ไม่มีโอกาสแบบนี้อย่างมากก็ได้

    นานกว่า 5 ปีแล้วที่พอร์ตหุ้นของ Venture Fund เน้นหนักไปที่บริษัทในธุรกิจการเงิน อย่างเช่น Berkshire Hathaway และธนาคารอย่าง Capital One และ Bank of New York Mellon ซึ่งหุ้นเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ Fed ทั้งนี้ Davis บอกว่าผลตอบแทนดียังใช้ได้ แต่ว่าช่องว่างระหว่างอัตราการเติบโตของกำไรกับมูลค่าตลาดของหุ้นถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ “สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เม็ดเงินหลั่งไหลไปยังที่ที่ผู้คนพากันตื่นเต้นไปตามกระแส ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่มีคุณค่า” เขากล่าว “ความบิดเบือนอย่างมโหฬารนี้มันเป็นเพราะเราอยู่ในยุคประหลาดที่ได้เงินมาฟรีๆ” 

    Meta กลายมาเป็นหุ้นที่มีน้ำหนักมากที่สุดในพอร์ตของ Davis โดยในปัจจุบันคิดเป็น 8.5% ของ Venture Fund ซึ่งก่อนหน้านี้ Davis Advisors ถือหุ้นอยู่แล้วบางส่วน แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 หุ้น Meta ตกหนักถึง 76% จากระดับสูงสุด รายได้หดลงจากการที่คนหนุ่มสาวพากันเลี่ยงใช้งาน Facebook ในขณะที่ TikTok เข้ามาแย่งผู้ใช้ไปจาก Instagram และ Mark Zuckerberg ซึ่งเป็นซีอีโอก็สูญเงินนับพันล้านเหรียญไปกับการลงทุนในเมตาเวิร์ส

    ระหว่างช่วงเดือนกันยายน และ 3 พฤศจิกายน ปี 2022 Davis บอกว่า เขาได้เข้าไปซื้อหุ้น Meta เกือบ 125 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 113 เหรียญ แต่ปัจจุบันราคาหุ้นวิ่งลิ่วไปอยู่แถวๆ 500 เหรียญ โดยผลตอบแทนของ Davis จากการลงทุนในหุ้น Meta ในปี 2023 อยู่ที่ 194%

    นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการเงินก็ยังช่วยหนุนผลตอบแทนของ Davis ในปี 2023 ด้วยเช่นกัน โดยในปีที่แล้ว Capital One ขึ้นมา 44%, JP Morgan Chase ขึ้นมา 31% และ Wells Fargo ขึ้นมา 23% เขายังคงรักหุ้นกลุ่มการเงิน ซึ่งมีน้ำหนักถึงเกือบ 50% ของกองทุนของเขา แต่เขาบอกว่า เขามองบวกเฉพาะบางตัวเท่านั้น ในขณะที่หุ้นตัวอื่นที่เขาถืออยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ Amazon, Applied Materials และ บริษัทยา Viatris 

    Davis เป็นห่วงไหมว่าสถานการณ์ที่ผลตอบแทนกลับสู่ภาวะปกติซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทของเขาจะสลายหายไปเมื่อมีการลดดอกเบี้ย? “เราเดิมพันว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมาและนั่นคือเรื่องปกติ” เขากล่าว “ยุคของเงินที่ได้มาฟรีๆ ได้จบลงไปแล้ว” 


เรื่อง: Bob Ivry เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา ภาพ: Aleksandr Karnyukhin 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Jorge Mas มิติใหม่แห่งวงการลูกหนัง

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine