- อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่แพงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ส่งผลให้ส่วนต่างผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปีลดลงต่อเนื่อง และจะส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยเมื่อส่วนต่างติดลบ ล่าสุดส่วนต่างอยู่ที่ 1% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสหรัฐฯ (อัตราดอกเบี้ยที่หักลบด้วยเงินเฟ้อ) ก็กลับมาแตะระดับราวๆ 0% หลังจากอยู่ในแดนลบมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 นั่นหมายถึง ต้นทุนการกู้ยืมในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แพงขึ้นนั่นเอง และ ตลาดอาจจะช็อคได้เมื่อดอกเบี้ยที่แท้จริงพุ่งขึ้นอย่างเร็วและแรงอย่างไรก็ตาม Lombard Odier ยังเชื่อว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงจะไม่ปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแรงเทขายของตลาดหุ้นรอบล่าสุดสะท้อนความตื่นตระหนกของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่ง FED คงไม่สามารถมองข้ามได้ และต้องระมัดระวังมากขึ้นในการสื่อสารในอนาคต
- ทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มอ่อนแรงลง ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมถือว่าผ่านจุดสูงสุดไปในต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หรือ เงินเฟ้อทั่วไป ดังนั้น ด้วยเลขฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2019 ก็จะชะลอตัวลง แต่มองว่าจะยังไม่หดตัวลงจนถึงระดับที่ต้องกังวล อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งปีแรก 2019 เหตุผลหลักที่ส่งผลลบต่อมุมมองเศรษฐกิจโลกคงหนีไม่พ้นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงนโยบายการเงินของสหรัฐฯที่เข้มงวด ทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์มองว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจีนจำกัดแต่ล่าสุด ประมาณการการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนจีนเริ่มชะลอลง เนื่องจากผลกระทบทางอ้อมจากเงินทุนไหลออก และบรรยากาศการลงทุนเริ่มกดดันหนักหน่วงขึ้น รัฐบาลจีนจำเป็นต้องเข้ามาพยุง และรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนอย่างเร่งด่วน
- แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 จะแข็งแกร่ง นำโดยบริษัทสหรัฐฯ ที่กำไรสุทธิโดยรวมสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ถึง 4.3% แต่ตลาดหุ้นกลับเผชิญกับแรงเทขายหนัก ขัดกับปัจจัยพื้นฐานที่ดูดี เพราะ ตลาดให้ความสำคัญกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายของหลายๆประเทศในระยะสั้นมากกว่า ประกอบกับในช่วงประกาศผลประกอบการที่โดยปกติแรงหนุนจากปริมาณการซื้อคืนหุ้นของบริษัทจะอ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี ผลกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งของบริษัทสหรัฐฯ ในปี 2018 มาจากนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลของ ประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีผลบังคับใช้ปลายปี 2017 เป็นหลัก ซึ่งในอนาคต ผลบวกของการลดภาษีนั้นจะเริ่มหายไป
- ความกังวลต่องบประมาณอิตาลี แม้ว่าเป็นเพียงปัญหาเฉพาะประเทศ แต่นักลงทุนกลับให้น้ำหนักและจับตามองประเด็นนี้ ไม่ใช่เพราะมองว่าปัญหางบประมาณอิตาลีปี 2019 ระหว่างรัฐบาลผสมใหม่อิตาลี และคณะกรรมาธิการยุโรปจะตกลงกันไม่ได้ เพราะ ท่าทีการเจรจาของทั้งสองฝ่ายมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมในเร็ววันนี้ แต่ที่น่าจับตามองคืออัตราดอกเบี้ยอิตาลีที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเงินอิตาลีที่แย่ลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นหมายถึงภาระหนี้ที่หนักขึ้นนั่นเอง
4 ปัจจัยเฝ้าระวัง ช่วงตลาดทุนผันผวน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2018 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่โดดเด่นให้ผลตอบแทนบวกสูงสุดท่ามกลางตลาดหุ้นภูมิภาคอื่นที่ปรับตัวลงกันถ้วนหน้า แต่ในเดือนตุลาคมเพียง เดือนเดียว หุ้นสหรัฐฯ กลับลำ ร่วงลงหนัก นำโดยดัชนี NASDAQ -10.5% และ S&P500 -5.4% ส่งผลให้ดัชนีที่ใช้วัดความเสี่ยงอย่าง VIX เด้งขึ้นแตะระดับ 23.3% จากระดับ 11.6% ในเดือนกันยายน นักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มออกมาทำนายว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มาถึงโค้งสุดท้ายของ Late Cycle เรียบร้อยแล้ว
สวนทางกับมุมมองของ Private Banker บางค่ายเช่น Lombard Odier ที่ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงจุดสิ้นสุดของการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่กลับมองว่านักลงทุนกำลังเผชิญหรือเข้าสู่ยุคของ “ความผันผวนสูง” ที่จะสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดทุน และเพียงกำลังเริ่มเข้าสู่ระยะสุดท้ายของวัฎจักรเศรษฐกิจเท่านั้น โดย 4 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวัง และเป็นบ่อเกิดแห่งความผันผวนระลอกใหม่มีดังนี้