อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การระงับการส่งออกสินค้าอาหารทั่วโลก และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับความพยายามควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางในหลายประเทศ ด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าปกติ
จากปัญหาข้างต้นทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยุโรปที่อาจเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงมากกว่าภูมิภาคอื่น จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.ความไม่แน่นอนด้านพลังงาน จากแผน REPowerEU เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยตั้งเป้าลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ในปีนี้ และยุติพลังงานฟอสซิลทั้งหมดจากรัสเซียภายในปี 2027 แต่ล่าสุดแผนดังกล่าวมีความเข้มงวดมากขึ้น หลังจาก EU ได้ประกาศต้องการระงับการนำเข้าจากรัสเซียในปีนี้ด้วย ซึ่งมติของสหภาพยุโรปที่คว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียที่รุนแรงมากขึ้น
กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาสหภาพยุโรปมีการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากรัสเซียวันละ 155 ล้านคิวบิกเมตร หรือคิดเป็น 40% ของความต้องการการใช้งาน รวมถึงน้ำมันที่นำเข้าจากรัสเซียกว่าวันละ 2.8 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นกว่า 25% ของความต้องการการใช้งาน
โดยหากรัสเซียระงับการส่งออกพลังงานมาให้หรือเกิดการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียทั้งหมด และหาพลังงานมาชดเชยส่วนของรัสเซียได้ไม่เพียงพอ ภาคการผลิตของยุโรปก็จะหยุดชะงัก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก (Energy-intensive) อาทิ เคมีภัณฑ์ เหล็ก กระดาษ อาหาร และรถยนต์
ซึ่งต่างกับสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันใช้ในการบริโภคในประเทศกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือจีนที่มีความใกล้ชิดกับรัสเซียสามารถสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มได้ ทำให้ 2 ประเทศมหาอำนาจไม่มีปัญหาในด้านอุปทานน้ำมันจากสงครามระหว่างรัสเซียยูเครนที่เป็นปัญหากับสหภาพยุโรปมากกว่า
2.ปัญหาด้านอัตราเงินเฟ้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของยุโรปพุ่งแตะระดับ 8.1%YoY จากปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นกระจายไปหลายภาคส่วน นอกจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นแล้วราคาสินค้าอย่างอาหารและภาคบริการก็ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นกันเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำโดยรวมของกลุ่มยูโรโซน (Gross Statutory Minimum Wage in Eurozone) ที่ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงประมาณ 3%YoY ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัว
สะท้อนภาพความกังวลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวตัวลดลง -21.1 จุด เป็นระดับต่ำใกล้เคียงกับช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2020 และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลให้ทาง ECB ได้ปรับประมาณการ GDP ในปี 2022 - 2023 ลดลงมาจากเมื่อเดือน มี.ค. โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัว 2.8% (vs. เดิมคาด 3.7%) และคาดจะขยายตัว 2.1% (vs. เดิมคาด 2.8%) ในปี 2023
3.นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปเข้มงวดมากขึ้นจากยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติหรือ APP ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. และจะปรับขึ้นดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ครั้งแรกในวันที่ 21 ก.ค. 0.25% และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. และ 0.25% ในเดือน ต.ค. และ ธ.ค. ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยกลับมาเป็นบวกที่ระดับ 0.75% ณ สิ้นปีนี้ เทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ -0.50%
ซึ่งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความเปราะบาง มีหนี้เป็นจำนวนมาก และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำ อย่างเช่น ประเทศอิตาลีที่เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน) ที่มีปัญหาหนี้สาธารณะอยู่ระดับสูงถึง 150% จึงมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น
3 ปัจจัยที่กล่าวมา ต่างก็เป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจของยุโรปอาจจะชะลอลงจนเข้าสู่ภาวะ Recession ในระยะข้างหน้า จึงแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นยุโรป และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนเนื่องจากมองว่าราคาน่าจะลงมาใกล้จุดต่ำสุด เพราะรับรู้ประเด็นลบจากปัจจัยกดดันทั้งจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศไปหมดแล้ว
อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายจากทางการจีนมากขึ้น เช่น การคลาย Lockdown เมืองเซี่ยงไฮ้ที่ปลดล็อกอย่างเต็มรูปแบบ และการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำให้เศรษฐกิจจีนโตในระดับ 5.5% ในปี 2565
จึงมองว่า ในช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้น ‘เมกะเทรนด์ของจีน’ ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะยาว หลังจากราคาหุ้นกลุ่มนี้ย้อนหลัง 1 ปี ปรับตัวลงมาราว 40% และยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากทางภาครัฐจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 - 2568 โดยมี 4 ธีมเมกะเทรนด์ของหุ้นจีนที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว ดังนี้ 1. กลุ่มการบริโภค (Consumption) 2. กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) 3. กลุ่มเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) และ 4. กลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) เป็นต้น
บทความโดย
ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP
®
Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้