โอกาสการลงทุนตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนา - Forbes Thailand

โอกาสการลงทุนตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนา

จากแนวโน้มการลงทุนที่มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ทั้งด้านโอกาส ความเสี่ยง และความเข้าใจของนักลงทุน แม้ว่าตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัว และราคาหุ้นที่ยังไม่แพงเกินไปนัก

 

ภาพรวมการลงทุนตั้งแต่ต้นปี

ตั้งแต่ต้นปีเราเห็นภาพการลงทุนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ช่วงต้นปีตลาดมีมุมมองที่เป็นบวกต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trump ที่คาดว่าจะส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตและแนวโน้มเงินเฟ้อ จนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ในช่วงปลายไตรมาสหนึ่งต่อเนื่องต้นไตรมาสสอง แนวโน้มเชิงบวกจาก “Trump Trade” เริ่มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เริ่มถูกตั้งคำถาม เมื่อประธานาธิบดี Trump ไม่สามารถผลักดัน ร่างกฎหมาย healthcare ได้ ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายสำคัญตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ตลาดสงสัยว่าการปฏิรูปภาษี (ซึ่งเป็นความหวังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะเป็นผลดีโดยตรงกับตลาดหุ้น) อาจจะล่าช้าออกไป หรือไม่สามารถถูกผลักดันได้ตามที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ประเด็น ความเสี่ยงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ก็เริ่มปะทุขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เริ่มโจมตีฐานที่มั่นทางการทหารของรัฐบาลซีเรีย หลังจากมีการใช้อาวุธเคมี นอกจากนั้น ความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือก็เพิ่มมากขึ้นด้วย การเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศในยุโรป และกระบวนการเจรจาของสหราชอาณาจักรเพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรปยังเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภูมิภาคยุโรปด้วย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวทำให้ความเสี่ยงด้านลบของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีน้อยลง  

แนวโน้มการลงทุนไตรมาสสาม

การลงทุนในไตรมาสที่สาม และช่วงที่เหลือของปีอาจจะเต็มไปด้วยความผันผวน ทั้งจากปัจจัยเสี่ยงด้านลบและด้านบวกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เศรษฐกิจของประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของประธานาธิบดี Donald Trump หากผลักดันการปฏิรูปภาษีในสหรัฐฯสำเร็จจะเป็นผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียนในอเมริกา ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายการค้าระหว่างประเทศของ Trump ที่มีแนวโน้มกีดกันทางการค้าอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลก
ในด้านบวก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งนำโดยประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่เศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐฯ มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น หากรัฐบาลของประธานาธิบดี Trump สามารถผลักดันการปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ของภาคธุรกิจได้ ก็จะช่วยเพิ่มกำไรหลังหักภาษีของบริษัทจดทะเบียนให้มากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการลงทุนหลายเรื่อง อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางและนโยบายการค้าของประธานาธิบดี Trump ที่มีแนวโน้มไปทางกีดกันการค้าและอาจจะออกมาตรการตอบโต้ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ หรืออาจจะมีการใช้นโยบายภาษีที่กีดกันสินค้านำเข้า ส่งผลให้การค้าโลกและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงได้ นอกจากนี้ แม้ว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์และสภาพคล่องที่มีอยู่มากทั่วโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่หลายประเทศอาจจะกำลังค่อยๆ ลดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ดอกเบี้ยต่ำและการพิมพ์เงิน เช่น ธนาคารกลางสหรัฐกำลัง “ค่อยๆ” ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับปกติ ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นก็อาจจะ “ค่อยๆ” ลดการซื้อพันธบัตรและลดการอัดฉีดสภาพคล่องซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นได้ และอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ดีหากการปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการปรับขึ้นของกำไรก็อาจจะช่วยลดผลกระทบต่อตลาดหุ้นได้
ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก-สงครามซีเรีย  (Photo Credit: AFP Photo)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอีกประการหนึ่งคือความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่ต่อเนื่องจากไตรมาสสอง ทั้งเหตุการณ์ในซีเรียและเกาหลีเนือซึ่งอาจจะลุกลาม และกระแสนโยบายประชานิยม ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในยุโรป  

ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนามีความน่าสนใจมากขึ้น

ในระยะสั้น ผมมองว่าตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนามีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ได้แก่
  • ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศละตินอเมริกา (เช่น บราซิล เม็กซิโก ชิลี) ที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในระยะหลังๆ
  • ตลาดหุ้นกลุ่มยุโรปตะวันออกและแอฟริกา (เช่น รัสเซีย ตุรกี แอฟริกาใต้) ที่พึ่งพาราคาน้ำมันและเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างมาก
  • ตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (เช่น จีน อาเซียน อินเดีย เป็นต้น) ที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น และเสถียรภาพที่ปรับตัวดีขึ้นของภาคการเงินของจีน (แม้ว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ก็ตาม)
การลงทุนในกองทุนหุ้นประเทศกำลังพัฒนานอกจากจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของประเทศเหล่านี้แล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหลายๆ ประเทศที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างกัน และน่าจะช่วยลดความผันผวนได้ในระดับหนึ่ง แต่การลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาก็ยังมี ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้า ความเสี่ยงจากความเปราะบางของภาคการเงินในจีน ความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มักนำไปสู่ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักมีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนา ผมเชื่อว่าในระยะสั้นความเสี่ยงเหล่านี้น่าจะยังมีไม่มากนักสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดีปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตามเพราะจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน แม้ว่าเราจะมีมุมมองที่เป็นบวกกับประเทศกำลังพัฒนา สำหรับนักลงทุนที่เลือกกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ ผมคิดว่าไม่ควรมีกองทุนหุ้นประเทศกำลังพัฒนามากจนเกินไป แต่ควรกระจายการลงทุนไปยังหุ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่น) เพราะผมเชื่อว่าความผันผวนของตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนามีมากกว่า ทั้งนี้ นักลงทุนอาจเลือกกองทุนเฉพาะแต่ละภูมิภาค หรือกองทุนตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อเป็นแกนหลักในพอร์ตและเลือกซื้อกองทุนหุ้นของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติมได้   พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
คลิกอ่าน "โอกาสการลงทุนตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนา" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine