ครึ่งปีแรกที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกานำโดยประธานาธิบดี Donald Trump เริ่มชัดเจนมากขึ้นและเริ่มสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนทั่วโลก เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปีตลาดจะเริ่มคาดหวังเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปี 2562 ซึ่งไม่มีความแน่นอนมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางขาขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ผ่านมาจะให้น้ำหนักไปที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ และเป้าหมายเงินเฟ้อของสหรัฐฯ
ผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกน่าจะสร้างความไม่แน่นอนต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในปี 2562 ต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 จนถึงต้นปีนี้ที่ปัจจัยทิศทางดอกเบี้ยมีผลกระทบน้อยมากกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนและบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมเพราะแม้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น แต่เป็นการปรับขึ้นแบบชัดเจน ทำให้เงินทุนกลับออกไปลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลกได้แม้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะเป็นแนวโน้มขาขึ้นก็ตาม ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นหลายประเทศปรับตัวขึ้นรวมถึงไทยที่ดัชนี SET ขึ้นไปทำ new high ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้จากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้สร้างความกังวลไม่น้อยแก่นักลงทุนสะท้อนผ่านค่าดัชนี VIX ที่ย่อมาจาก CBOE S&P500 Volatility Index ซึ่งแสดงถึงความกังวลของนักลงทุนบนดัชนี S&P500 ก็ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 15-25 โดยต่างจากปี 2560 ที่ดัชนี VIX อยู่ในระดับต่ำมาตลอดทั้งปี (รูปที่ 1) แม้ในทางทฤษฎีค่าดัชนี VIX ที่ปรับขึ้นมาเป็นการคำนวณค่า Implied Volatility เทียบกับดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ในทางปฏิบัติดัชนี VIX สามารถสะท้อนความกังวลต่อภาพรวมของความกังวลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นค่าที่คำนวณย้อนกลับมาจากการซื้อขาย S&P500 Option บนกระดาน CBOE ด้วยสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก โดยนักลงทุนสถาบันและ professional investors ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องตระหนักว่าค่าดัชนี VIX ที่ปรับตัวขึ้นไม่ใช่สัญญาณว่าตลาดจะปรับตัวลง แต่เป็นแค่ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งโดยปกติความกังวลจะทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น เช่น ถ้าราคาหุ้นปรับขึ้นก็จะมีแรงขายออกมาตามความกังวล นักลงทุนจะมีความลังเล ในการซื้อหุ้นเมื่อราคาปรับตัวขึ้น เป็นต้น ความกังวลดังกล่าวทำให้นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ในต่างประเทศยอมจ่ายต้นทุนที่แพงขึ้นในการประกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนด้วยการซื้อ option บนดัชนี S&P500 จนมีผลให้ดัชนี VIX ปรับตัวสูงขึ้นภาพตลาดในไตรมาส 3 ปีนี้จะเริ่มเห็นความกังวลดังกล่าว และสร้างความผันผวนให้กับการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนอย่างในตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยเองการบริหารจัดการความผันผวนของตลาดตรงนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการเงินในกลุ่มพวกตราสารอนุพันธ์ Derivatives ที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 มาใช้ ซึ่งในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่กลุ่มปิดความเสี่ยงด้วย SET50 Futures และกลุ่มที่เป็นการซื้อประกันความเสี่ยงพอร์ต โดย SET50 Put OptionSET50 Futures ปิดความเสี่ยง
วิธีนี้นักลงทุนสามารถ short สัญญา SET50 Futures ผ่านกระดาน TFEX เพื่อปิดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ถ้าดัชนี SET50 ปรับตัวลง พอร์ตลงทุนของนักลงทุนก็จะมีมูลค่าลดลงตาม กำไรที่ได้จากการ short สัญญา SET50 Futures จะมาชดเชยมูลค่าพอร์ตลงทุนที่ลดลงไป การปิดความเสี่ยงด้วยวิธีนี้ต้นทุนถูก เพราะไม่ต้องจ่ายค่าพรีเมียมในการป้องกันความเสี่ยงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือ ในกรณีที่ตลาดปรับตัวขึ้น มูลค่าของพอร์ตลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะได้รับการหักล้างไปกับผลขาดทุนจากการเปิด Short SET50 Futures ด้วย โดยปกติแล้ววิธีนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการปิดความเสี่ยงระยะยาวอย่างน้อย 1-3 เดือนเพราะต้นทุนที่ต่ำในการถือครอง และต้องมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นลบมากๆ กับตลาดในระยะ 1-3 เดือนซื้อประกันความเสี่ยงพอร์ตลงทุน
นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในตราสารอนุพันธ์กลุ่ม Put Option ซึ่งในประเทศไทยมี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทซื้อขายกันผ่านกระดาน TFEX อ้างอิงกับดัชนี SET50 และประเภทซื้อขายผ่านกระดานหลักทรัพย์ที่เรียกกันว่า Derivative Warrant ชนิด Put เรียกสั้นๆ ว่า SET50 DW Put การใช้ Put Option จัดว่าเป็นการซื้อประกันการลงทุนอย่างหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายคือค่าพรีเมียม ในกรณีที่ตลาดปรับตัวลง นักลงทุนสามารถได้กำไรจากค่าพรีเมียมของ Put Option ที่เพิ่มขึ้นหรือกำไรจากการใช้สิทธิ Put Option มาชดเชยมูลค่าพอร์ตลงทุนที่ลดลง ขณะที่หากตลาดปรับตัวขึ้น นักลงทุนจะยังได้กำไรจากมูลค่าพอร์ตที่เพิ่มขึ้นหักด้วยค่าพรีเมียมของ Put Option ที่จ่ายไปครั้งแรก วิธีการซื้อประกันความเสี่ยงพอร์ตลงทุนจะเหมาะกับการปิดความเสี่ยงระยะไม่นานมาก (ประมาณไม่เกิน 1 เดือน) เพราะค่าพรีเมียมจะผันแปรตามระยะเวลา ทำให้ไม่เหมาะกับการปิดความเสี่ยงที่นานเกินไปเนื่องจากวิธีนี้มีต้นทุนของค่าพรีเมียมทำประกันมาเกี่ยวข้อง นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบเรื่องความคุ้มค่าและความถูกความแพงของค่าพรีเมียมก่อนการตัดสินใจลงทุนเสมอหลักการเลือก Put Option
ข้อที่1: เลือก Put Option ที่มีราคาใช้สิทธิใกล้เคียงกับดัชนี SET50 หรือที่เรียกว่าสถานะ At-the-Money สมมติว่าดัชนี SET50 อยู่ที่ 1150 จุด ราคาใช้สิทธิของ Put Option ที่เลือกควรจะอยู่ช่วง 1125-1175 เป็นต้น ราคาใช้สิทธิที่เลือกมีผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงเมื่อตลาดปรับตัวลงแรง ข้อที่ 2: อายุของสัญญาควรมีระยะเวลายาวกว่าช่วงเวลาที่ต้องการปิดความเสี่ยงพอสมควร ถ้านักลงทุนต้องการซื้อประกันความเสี่ยงนาน 1 เดือน อายุคงเหลือสัญญา Put Option ที่เลือกควรจะยาวอย่างน้อย 2 เดือน การเลือกตามข้อที่ 1 และข้อที่ 2 จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการบริหารความเสี่ยงลงได้ เพราะเมื่อเวลาไปผ่าน 1 เดือนนักลงทุนสามารถขายสัญญา Put Option คืนออกมาและได้รับคืนค่าพรีเมียมที่จ่ายไปตอนแรกบางส่วน ข้อที่ 3: ความถูกความแพงของค่าพรีเมียมที่ต้องจ่ายไป ถึงแม้อายุและราคาใช้สิทธิของ Put Option ถูกใจนักลงทุนแล้วแต่สิ่งที่ต้องตัดสินใจต่อไปคือ ราคาพรีเมียมที่จะซื้อ หากแพงเกินไป การประกันการลงทุนดังกล่าวก็อาจจะไม่คุ้มค่า โดยใช้ค่า Implied Volatility เป็นค่าชี้วัดในการเปรียบเทียบความถูกความแพงของสัญญา Optionระวังสับสนกับการเก็งกำไรบน DW
การนำ Put Option มาใช้ตามหลักการข้างต้นเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนระยะยาวของนักลงทุนในช่วงที่มีความผันผวนจากปัจจัยตลาดภาพใหญ่ สำหรับนักลงทุนระยะสั้นที่ต้องการทำกำไรเมื่อตลาดปรับตัวลงจากความผันผวนหลักการในการเลือกจะแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไป เพราะทางปฏิบัติแล้วช่วงเวลาการถือครองจะมีระยะเวลาที่สั้นมาก (ประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์) ทำให้การเลือกลักษณะของสัญญามีความยืดหยุ่นได้มากกว่า และต้องให้น้ำหนักเพิ่มในความสำคัญของสภาพคล่องในการซื้อขาย ความเหมาะสมในการกำหนดราคาของผู้ดูสภาพคล่อง โดยปกติแล้ว SET50 Put DW (Put Option ประเภทที่ซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์) จะได้รับความนิยมเพราะนักลงทุนสามารถซื้อขายเก็งกำไรได้เหมือนหุ้นทั่วๆ ไป จากตัวอย่างในรูปที่ 2 ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ตลาดปรับตัวลงทั่วโลกจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีผลให้มูลค่าซื้อขาย SET50 Put เพิ่มขึ้นไปเกิน 2 พันล้านบาทต่อวันเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อวันที่ 757 ล้านบาท สำหรับความผันผวนที่เกิดขึ้นนับเป็นความท้าทายของการลงทุนในครึ่งปีหลังการบริหารจัดการความเสี่ยงควบคู่ไปกับการเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน การประยุกต์ใช้ Derivatives เพื่อลดความเสี่ยงจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกลุ่มนักลงทุนทุกประเภท ซึ่งมูลค่าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ทั้งผ่านกระดาน SET และ TFEX ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนถึงสภาพคล่องและความมีประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในตลาดทุนไทยคลิกอ่านบทความทางธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine