ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่า ปี 2561 การลงทุนที่มีโอกาสจะให้ผลตอบแทนที่ดี จะยังคงเป็นการลงทุนใน สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ทว่า นโยบายกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจทำให้ความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจากธนาคารกลางหลัก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจทำให้ความผันผวนจากการลงทุนตราสารหนี้รุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบให้ความผันผวนในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น
จากผลตอบแทนที่สูงและความผันผวนที่ต่ำของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ในปี 2560 ที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการปรับตัว ขึ้นของดัชนี MSCI All Country World Index (MSCI ACWI) ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้น ทั่วโลก ที่ปรับตัวขึ้นถึงกว่า 23% ในขณะที่ระดับความผันผวนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างมีความหวังว่าการลงทุนในปี 2561 นี้ก็น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่หุ้นจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ในปี 2561 นักวิเคราะห์ต่างมองว่าเศรษฐกิจ ทั่วโลกมีการฟื้นตัวและขยายตัวกันถ้วนหน้า (Synchronized Economic Growth) กอปรกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ การปฏิรูปภาษี รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3.9% ต่อปี สูงขึ้นจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ 3.8% ในปีที่ผ่านมา
ด้วยอานิสงส์จากการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกหนุนการเติบโตของการค้าโลก จนปัจจุบันมูลค่าการค้าโลกสูงที่สุดในรอบ 10 ปีส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปีนี้ และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเอกชน มีแนวโน้มที่สดใสและปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน สอดคล้องกับการประมาณการอัตราการเติบโต ของกำไรต่อหุ้นของดัชนีตลาดเกิดใหม่ (MSCI Emerging Market) ที่คาดว่าจะโต 20-23% จากปีก่อน
นอกจากนี้ เมื่อมองถึงความน่าสนใจในการลงทุน พบว่า ดัชนีหุ้นตลาดหุ้นเกิดใหม่มี อัตราส่วนราคาต่อกำไรอนาคต หรือ Forward P/E ratio ที่ 12.4 เท่า ถูกกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ถึง 22% ทำให้ตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจ ในการลงทุนและมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทน ที่โดดเด่นกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ
อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น แม้ว่าจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีในปีนี้ ทว่า ผลตอบแทนอาจไม่ได้หวือหวาและมีความผันผวนน้อยเหมือนในปีที่ผ่านมา โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือการปรับฐานหนักของตลาดหุ้นทั่วโลก จากความกังวลว่า Fed จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้งตามที่ Fed เคยประเมินไว้ ณ สิ้นปีที่แล้ว (Fed Dotplot) ได้ชี้ชัดว่า การลงทุนในปี 2561 นั้น “ไม่ง่าย และมีความผันผวนสูง” ส่งผลให้ผลตอบแทน จากการลงทุน อาจจะไม่ได้เป็นไปตามความ คาดหวังของนักลงทุน
นอกจากนักลงทุนต้องเจอกับภาวะการลงทุน ที่ “ไม่ง่าย และผันผวน” จากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ (fixed income) ก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จากการปรับลดงบดุลของ Fed (Fed’s balance sheet) ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว การลดวงเงินซื้อสินทรัพย์หรือยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรปที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และการปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ในช่วงหลังวิกฤตการเงินปี 2551 มีผลทำให้สภาพคล่องในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนหรือบอนด์ยีลด์ (bond yield) จากสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงจนอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ จนนักลงทุนในตราสารหนี้อาจจะคุ้นชินกับผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นบวกในช่วงดอกเบี้ยขาลง และอาจจะไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นและสภาพคล่องในตลาดที่ลดลงที่อาจทำให้ผลตอบแทนลดต่ำลงหรือติดลบ
ที่น่าสนใจก็คือ หากวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีและผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยใช้ ดัชนี Wilshire 5000 ตั้งแต่ปี 2517 ถึงปัจจุบัน พบว่า ในสภาวะที่บอนด์ยีลด์อยู่ในระดับต่ำ ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของหุ้นและการเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์จะเป็นบวก นั่นคือ ผลตอบแทนของหุ้นและบอนด์มีความสัมพันธ์ตรงกันข้าม
ขณะที่หากบอนด์ยีลด์อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 4-5% ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของหุ้นและการเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์จะเป็นลบ หมายความว่าผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นและบอนด์จะขยับไปในทางเดียวกันเมื่อยีลด์ในตลาดเปลี่ยนไป
ดังนั้นแล้ว การใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวภายใต้สภาพคล่องที่ลดลงทำให้บอนด์ยีลด์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากสูงเกินระดับ 4-5% ก็จะทำให้การกระจายความเสี่ยงแบบเดิมๆ ด้วยการลงทุนในหุ้นและบอนด์อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าในอดีต เนื่องจากผลตอบแทนจะขยับไปในทิศทางเดียวกัน นักลงทุนจึงควรเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการหาสินทรัพย์อื่นที่จะช่วยให้การกระจายความเสี่ยงมีประสิทธิภาพสูงสุด
เรื่อง: ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics)
คลิกอ่าน Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "WEALTH MANANAGEMENT & INVESTING 2018" ในรูปแบบ e-Magazine