ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่น ปี 2561 หุ้นใหม่ต่อแถวแจ้งเกิดต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ขับเคลื่อนมูลค่าระดมทุนแตะถึง 5.5 แสนล้าน บรรดาบริษัทขนาดใหญ่-หุ้น spin off ดาหน้าเสนอขายคึกคัก ส่วนภาพรวมปีที่ผ่านมาทำลายสถิติทั้งจำนวนบริษัทและ market cap จนเติบโตทะยานสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นไทย
การเข้าระดมทุนของหุ้นไอพีโอถือเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความคึกคักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยภาพรวมการระดมทุนของหุ้นน้องใหม่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นปีทองของหุ้นไอพีโอ โดยมีบริษัทเข้าระดมทุนสูงถึง 37 บริษัทและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) รวมอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 43 ปี หรือนับจากก่อตั้งตลาด ซึ่งทั้งจำนวนบริษัทที่เข้าระดมทุนและมูลค่ามาร์เก็ตแคปล้วนสูงกว่าที่เป้าหมายเดิมที่ประเมินไว้ 2.8 แสนบ้านบาท เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ (ครบวาระ 31 พ.ค. 61) กล่าวว่า ปี 2561 ยังคงเป็นปีทองของหุ้นไอพีโอ แม้ว่าในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาอาจจะไม่คึกคักมากโดยในไตรมาส 1 มีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนเพียง 3 บริษัทแต่เชื่อว่าในครึ่งหลังปีนี้ ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกปีหน้า จะมีการเข้าระดมทุนของหุ้นไอพีโอที่น่าตื่นเต้น ปี 2561 ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแคปไอพีโอ 5.5 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มาร์เก็ตแคปไอพีโอสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท จากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) และจากการเพิ่มทุนของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว กลุ่มธุรกิจที่ตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเขาระดมทุนมีทั้งภาคการผลิตที่ต้องเริ่มลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ภาคบริการซึ่งกำลังเติบโต สอดรับกับกระแสการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตอย่างมาก และน่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยรวมถึงภาคอุปโภค-บริโภคที่มีสัญญาณการขยายธุรกิจซึ่งฟื้นตัวตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายก็มีความต้องการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ บริษัท โอสถสภา ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ชักชวนให้ระดมทุนมานาน ก็ได้ตัดสินใจเข้าระดมทุนโดยล่าสุดได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. มาแล้ว นอกจากนี้ การแยกเอาบริษัทย่อยเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ spin-off ยังคงเป็นที่นิยมของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรูปแบบการปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญมักจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูกในแง่ของมูลค่าและการจัดการ ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูล บจ. ที่แยกบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วง 3 ปีหลัง (2558-2560) พบว่ามีถึง 15 บริษัท มูลค่าการระดมทุนรวมถึง 6.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวว่า ปี 2561 จะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใน mai จำนวน 15 บริษัท เพิ่มมูลค่ามาร์เก็ตแคปอีก 2 หมื่นล้านบาทโดยธุรกิจที่แสดงความสนใจเข้าระดมทุนได้ทยอยยื่นไฟลิ่งมาแล้ว 7 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล อาหาร โรงพยาบาล รวมถึงสตาร์ทอัพที่มีความแข็งแกร่ง “ขณะนี้บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีคนสนใจกว่า 100 บริษัทที่มีการติดต่อเข้ามาสอบถาม เพราะมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นช่องทางในการระดมทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ”คลิกอ่านฉบับเต็ม Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "WEALTH MANANAGEMENT & INVESTING 2018" ในรูปแบบ e-Magazine