ในช่วงหลังเรามักจะได้ยินผู้รู้ในวงการตลาดทุน อย่าง Warren Buffett ให้คำแนะนำว่าควรจะเก็บเงินที่ออมไว้ใช้หลังเกษียณทั้งหมดลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างขัดกับแนวคิด
เพียงไม่นานเมืองไทยเราที่ครั้งหนึ่งเคยคิดจะเป็นดาวรุ่งหรือเสือตัวที่ 5 ของเอเชียกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรใหม่ในประเทศไทยได้ถดถอยอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าการจะตอบโจทย์ข้างต้นว่าควรลงทุนเงินเก็บทั้งหมดในตลาดหุ้นสำหรับช่วงเกษียณดีหรือไม่ เสมือนกับเป็นการหาคำตอบว่าตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนดีหรือไม่ในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
เริ่มจากการพิจารณาเงินปันผลหรือผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของบริษัท โดยจะพิจารณากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนบ้านเรา อย่าง อเมริกา เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ และฝรั่งเศส จากกราฟจะเห็นได้ว่า สำหรับทุกประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว ยกเว้นฝรั่งเศส มูลค่าการออมของภาคเอกชนอยู่ในระดับที่สูงกว่ามูลค่าการลงทุน หรือที่เรียกว่าส่วนเกินของการออมเหนือกว่าการลงทุน (surplus) ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น
แม้ว่าช่วง Great Recession (ปี 2012 ถึงปัจจุบัน) จะมีส่งผลต่อการเกิด surplus ดังกล่าว ทว่าหากพิจารณาในช่วงก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 อัตราการลงทุนของภาคเอกชนของประเทศต่างๆ ก็ลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์กันในแบบจำลองที่ทำไว้หลายปีก่อนหน้า โดยส่วนเกินของเงินออมที่เหนือการลงทุนนี้ เกิดจากกำไรของบริษัทภาคเอกชนที่เข้มแข็งและระดับการลงทุนที่อ่อนตัวลงกว่าปกติ
ทั้งนี้ คาดกันว่าภาวะดังกล่าวจะกลายเป็นปรากฏการณ์เชิงโครงสร้างแบบถาวรสำหรับเศรษฐกิจโลกผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางโลกาภิวัตน์ ผ่านการกระจายการลงทุนไปในประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า ช่องทางนวัตกรรมทางด้านข้อมูลสารสนเทศ ผ่านการใช้การขายทางช่องทางออนไลน์แทนการเปิดร้านค้าแบบมีหน้าร้าน และที่สำคัญ ช่องทางการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะไปลดอัตราการเติบโตที่เต็มศักยภาพทำให้ระดับการลงทุนลดลงหรือจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะส่งผลให้เกิดส่วนเกินของการออมเหนือกว่าการลงทุน ส่วนหนึ่งผ่านกำไรของบริษัทภาคเอกชนที่สูงขึ้น นั่นก็หมายถึงเงินปันผลที่จะสูงขึ้นด้วย
หากหันมาพิจารณาระดับของอัตราดอกเบี้ยคิดลดกันบ้าง โดย Ben Bernanke อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า โลกเราในปัจจุบันมีระดับการออมที่ต้องการสูงมาก โดยขณะนี้เศรษฐกิจหลายประเทศมีระดับหนี้ต่อจีดีพีค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตของประชากรเริ่มลดลง รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ทว่าไปกระตุ้นการออมของคนในประเทศมากกว่า ในขณะที่ระดับความต้องการการลงทุนต่ำ
ในทางกลับกันการชะลอตัวลงของผลิตภาพในการผลิตและของผลผลิตได้ไปทำให้การลงทุนชะลอตัวลง ส่งผลให้ไปกดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้ต่ำลง จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า global savings glut มาได้เกือบ 10 ปีมาแล้ว จนมีบางประเทศสะสมสำรองเงินตราระหว่างประเทศไว้เยอะจนเกินไป โดยปรากฏการณ์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจของหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั่นเอง ทำให้ไปลดความต้องการของสินค้าและบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทุนซึ่งเป็นสินค้าถาวร ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ต่ำลง นั่นคือ การที่เศรษฐกิจของหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้นำไปสู่ระดับของอัตราดอกเบี้ยคิดลดที่ลดลงนั่นเอง
โดยสรุป ภายใต้บรรยากาศที่เศรษฐกิจของหลายประเทศรวมถึงบ้านเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดหุ้นมีแนวโน้มน่าสนใจมากขึ้นกว่าเศรษฐกิจในอดีต เนื่องจากมูลค่าของหุ้นในตลาดหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้น ผ่านกระแสเงินปันผลในปัจจุบันและอนาคตที่น่าจะมีระดับสูงขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดซึ่งน่าจะอยู่ในระดับลดลง ตามโมเดลที่ใช้ประเมินมูลค่าหุ้นซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นผ่าน Capital gains
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine