ดอกลด-ตลาดวิ่ง จริงหรือ? - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมิถุนายน จนดัชนี SET index สามารถกลับขึ้นมายืนเหนือ 1,700 จุดได้อีกครั้ง ในขณะที่ดัชนี S&P500 ก็กลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาล โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ความคาดหวังว่า Fed จะกลับมาลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้านั่นเอง

ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า Fed Funds Rate นับเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงที่สำคัญในการกำหนดราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก ตามทฤษฎีการเงิน การปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้อัตราคิดลด (Discount Rate) ของกระแสเงินสด (Cash Flow) ในอนาคตลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเหมาะสม (Fair Value) ของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้น ในกรณีของราคาหุ้น หากพิจารณาจาก Dividend Discount Model (DDM) เราสามารถสรุปได้ว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมจะถูกกำหนดด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) อัตราคิดลด (r) ซึ่งแปรผันตามอัตราดอกเบี้ย 2) อัตราการเติบโตของกำไร (g) ซึ่งชี้ถึงการเติบโตของกระแสเงินสดในอนาคต และ 3) อัตราการจ่ายปันผล (Payout Ratio) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดกระแสเงินสด  

Dividend Discount Model (DDM)

ดังนั้นในกรณีที่ Fed ลดดอกเบี้ย จะทำให้ Discount Rate ลดลง และมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นหากไม่มีปัจจัยอื่นเปลี่ยนแปลง แต่ในโลกความเป็นจริง ปัจจัยอื่นนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ Fed มักลดดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งในกรณีนี้ r (Discount Rate) และ g (เติบโตของกำไร) จะลดลงพร้อมกัน ซึ่งมีผลทำให้ r-g คงที่ และมูลค่าเหมาะสมของหุ้นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง หรือพูดง่ายๆ คือ หาก Fed ลดดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลง หุ้นก็ไม่จำเป็นจะต้องขึ้นเสมอไป ตัวอย่างในอดีตมีให้เห็นมากมายว่าตลาดหุ้นนั้นมักให้ผลตอบแทนไม่ดีนักในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโตช้า และมีความเสี่ยงที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในบางกรณี ดังเช่น ช่วงปี 2001 และ 2007 ซึ่ง Fed เริ่มลดดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจก็ยังชะลอตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ Recession ในที่สุด แต่ก็มีบางช่วงเช่นกันที่การลดดอกเบี้ยนั้นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ และฉุดให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อได้ เช่น ในช่วงปี 1995-1996 ซึ่ง Fed ลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง จาก 6% มาอยู่ที่ 5.25% และช่วยให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาโตที่ระดับประมาณ 2% ทำให้ในปี 1995 ฟื้นขึ้นมาโตได้ 4% และในปี 1996 การลดดอกเบี้ยในช่วงนั้น ก็ส่งผลให้ตลาดหุ้น (S&P500) พุ่งขึ้นถึง 40%   แผนภาพที่ 1: ตลาดหุ้นนั้นมักให้ผลตอบแทนไม่ดีนักในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง Souce: Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (ESU) ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะชี้ก็คือ เราค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เห็น Fed จะกลับมาลดดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ แต่เราไม่แน่ใจนักว่าการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะสามารถฉุดให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวต่อได้เหมือนในปี 1995 หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่เหมือนในปี 2001 หรือ 2007 หากประเมินจากความร้อนแรงของตลาดหุ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าผลจะออกมาในแบบแรก แต่ส่วนตัวผมคิดว่าโอกาสที่จะเป็นแบบหลังก็มีไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรลงทุนด้วยความระมัดระวัง เพราะสูตรสำเร็จที่ว่า “ดอกลด-หุ้นวิ่ง” นั้นไม่จริงเสมอไป