มีคำถามที่เข้ามาเป็นประจำจากนักลงทุนว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นหรือไม่ลึกกว่านั้นก็ถามว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร แต่มีนักลงทุนหลายท่านโดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ
ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือหนักกว่านั้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกคงไม่มีหรอก เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว
การที่จะตอบคำถามเหล่านี้เราคงต้องมองย้อนหลังกลับไปในอดีต เราจะพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมามากพอดูเช่นวิกฤตดอตคอม วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตซัมไพร์ม วิกฤตยุโรป และอีกหลายๆ วิกฤตเศรษฐกิจย่อมๆ ดังนั้นหากให้ตอบคำถามว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือไม่ ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามี และที่สำคัญกว่านั้นคือ
วิกฤตเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไร แนวทางการเกิดมักจะใกล้เคียงกัน เริ่มต้นด้วยการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน การนำเงินที่กู้ยืมไปลงทุน เงินเฟ้อขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น ลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น (หุ้นและอสังหาฯ) คนกู้เงินไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนเริ่มหมดความสามารถในการชำระหนี้เพราะดอกเบี้ยเริ่มแพง หนี้เสียเพิ่มขึ้น เกิดวิกฤตสถาบันการเงินหรือวิกฤตรัฐบาล
หลังจากนั้นราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างแรง เศรษฐกิจโลกหดตัวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วสุดท้ายเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งความคิดนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ
Carmen Reinhartและ
Kenneth Rogoff ทีศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจใน 66 ประเทศทั่วโลก แล้วเขียนลงในหนังสือขายดีของเขาชื่อ
“This Time is Different” โดยจากผลการศึกษา ท่านทั้ง 2 สรุปว่าวิกฤตเศรษฐกิจในโลกใบนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนจะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ที่สำคัญกว่านั้นและผมชอบข้อสรุปนี้มากคือ ก่อนเกิดวิกฤตผู้คนทั้งหลายมักพูดว่า “This time is different” หรือครั้งนี้คงไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรอก สถานการณ์ครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่แล้ว สุดท้ายทุกคนเข้าสู่โหมดประมาท แล้วความโลภเข้าครอบงำ สุดท้ายวิกฤตเศรษฐกิจก็มาเยือน
คำถามแรกผมตอบแล้ววิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเกิดหรือไม่ คำถามต่อมาคือจะเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไร สำหรับคำตอบของคำถามนี้ผมขอตอบแบบตั้งข้อสังเกต เพราะผมไม่รู้หรอกว่าจะเกิดที่ไหนและเมื่อไร แค่รู้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นแน่เท่านั้นเอง และทุกครั้งก่อนที่เกิดวิกฤตเรามักจะไม่ค่อยรู้หรอกว่าวิกฤตกำลังมา และก่อนเกิดวิกฤตทุกอย่างดูสดใสมาก ตลาดหุ้นขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ ราคาอสังหาฯ พุ่งขึ้นมาแบบไม่มีใครคิดว่าจะลง หรือจริงๆ แล้ววิกฤตมักมาตอนเราเผลอ และที่สำคัญคือตอนเกิดแล้ว เรามักรู้ตัวช้าทุกที
ผมขอเริ่มที่ประเทศจีนก่อน ประเทศนี้ตั้งแต่เปิดประเทศมาในปี 2544 เริ่มจากการเปิดเสรีการค้า จนปัจจุบันเริ่มมีการเปิดเสรีการเงินแล้ว ประเทศจีนไม่เคยเจอหรือมีประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของตัวเองเลย มีแต่แบบมาอ้อมๆ จากวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตซัมไพรม์ ซึ่งประเทศจีนโดนไม่แรงเท่าไร แต่ปัจจุบันมีสิ่งท้าทายมากมายที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศจีน และปัจจัยต่างๆ ดูจะเอื้อมากตามวงจรวิกฤตเศรษฐกิจที่ผมกล่าวมาในตอนต้น เริ่มจากการปล่อยกู้ กู้เงินเกินตัว ราคาสินทรัพย์ขึ้น เงินเฟ้อขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น และจบลงด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ 2-3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินจีนปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เรียกว่าสร้างสถิติสูงสุดกันเป็นรายเดือนเลย จนปัจจุบันภาคเอกชนของจีนก่อหนี้สูงถึงกว่า 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจจีน สูงขนาดไหนเหรอ ก็สูงมากกว่าขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสูงที่สุดในโลกตอนนี้ หันมาดูราคาสินทรัพย์ ราคาหุ้นไม่เท่าไร แต่ราคาอสังหาฯ นี่ซิฉุดไม่อยู่จริงๆ แล้วตอนนี้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มขึ้นมาแล้ว นั้นหมายถึงเงินเฟ้อกำลังมา แล้วดอกเบี้ยก็จะขึ้นตามมา
คุ้นๆ ไหมครับ ตามวงจรวิกฤตเศรษฐกิจเลย ตอนนี้เศรษฐกิจจีนยังพอไปไหว เพราะเงินเฟ้อแม้เริ่มจะขึ้น แต่ยังขึ้นไม่มาก ขณะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากเงินเฟ้อขึ้นมาเร็ว (เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น หลังราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นมา) หนุนให้ดอกเบี้ยขึ้นมาสูง จนทำให้ภาคเอกชนบางบริษัทอาจไม่มีศักยภาพในการจ่ายหนี้หรือไม่ (ตอนนี้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน 1 ใน 4 ที่รายงานผลขาดทุน) แล้วจะเกิดโดมิโน่หรือไม่ แล้วราคาอสังหาฯ จะลงหรือไม่ (ตอนนี้ก็เริ่มเห็นขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง) แล้วคนซื้ออสังหาฯ จะผ่อนไหวไหม หนี้เสียธนาคารจะเพิ่มหรือไม่ (ตอนนี้เพิ่มขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญซะด้วย) ต่อไปจะเกิดวิกฤตสถาบันการเงินหรือไม่ แล้วรัฐบาลจีนจะช่วยไหวไหม เพราะตอนนี้เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนลดลงต่อเนื่อง ซึ่งการที่เงินสำรองลดลง จะนำไปสู่การโจมตีค่าเงินหยวน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับค่าเงินบาทที่เคยโดนโจมตีตอนต้มยำกุ้งหรือไม่ ล้วนเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบ ผมได้แต่ตั้งข้อสังเกตให้ทุกท่านได้ตระหนักแล้วพร้อมรับวิกฤตไปด้วยกัน และจริงๆ ไม่ได้มีเฉพาะระเบิดเวลาที่ประเทศจีนเท่านั้น ทางฝากฝั่งยุโรปก็อ่อนไหวไม่แพ้กัน สถาบันการเงินในอิตาลีมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก ธนาคารดอชย์แบงค์ ก็มีภาระค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ มากกมาย ที่หากเกิดวิกฤตสถาบันการเงินยุโรป รับรองเหนื่อยแน่
อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากให้เราหวั่นวิตกต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จนถึงขนาดไม่ลงทุนอะไรเลย ผมว่าเรารู้ไว้เพื่อเตรียมความพร้อมดีกว่าอะไรที่เสี่ยงเกินไปก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงจะช่วยให้เราไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากนัก และที่สำคัญไปกว่านั้นผมว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบนี้คงไม่ได้เริ่มขึ้นจากประเทศไทยครับ