KCAR เผยถึงข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับตลาดธุรกิจให้เช่ารถในปัจจุบัน พร้อมแนะวิธีปรับกลยุทธ์รถเช่าให้เหมาะสมรับกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัจจุบันธุรกิจรถเช่าในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ การเช่ารถระยะสั้น (Short-term Car Rental) โดยส่วนใหญ่เป็นการเช่าเพื่อการท่องเที่ยว ระยะเวลาในการเช่าสั้น เช่น รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักเป็นบุคคลทั่วไป ผู้ให้บริการมักมีศูนย์บริการประจำอยู่ที่สนามบิน และการเช่ารถระยะยาวเพื่อดำเนินการ (Operating Lease) เน้นบริการจัดการด้านรถยนต์แบบครบวงจรสำหรับองค์กร ระยะเวลาเช่าส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-5 โดยกลุ่มลูกค้าเป็นองค์กรเอกชน ราชการ รัฐวิสาหกิจ สุดท้ายเป็นการเช่าซื้อหรือการเช่าแบบลีสซิ่ง (Financial Lease) คือการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินและเมื่อครบสัญญาเช่า ผู้เช่าสามารถซื้อรถในราคาที่ตกลงกันไว้หรือต่ออายุการเช่าตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
ขณะที่รายงานปี 2566 โดย “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี” หรือ “ttb analytics” เผยว่า กิจการรถเช่าไทยกระจายอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวมากถึง 75% แต่รายได้กว่า 77% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รองลงมาคือสมุทรปราการ (12%) ชลบุรี (3%) ปทุมธานี (2%) และนนทบุรี (1%) เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ให้บริการรถเช่าแบบระยะยาวให้แก่ลูกค้าบริษัท ตัวเลขนี้ยังบ่งชี้การแข่งขันที่สูงในกลุ่มรถเช่าระยะยาว เพราะลูกค้าองค์กรส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น
นอกจากนั้น ttb analytics ยังคาดการณ์แนวโน้มมูลค่าตลาดรถเช่าของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท โดยหากแยกเป็นการเช่าตามประเภทจะพบว่า ธุรกิจเช่ารถระยะยาวมีมูลค่าอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาทและในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 5% ส่วนรถเช่าระยะสั้นคาดว่าจะมีมูลค่าราว 1.13 หมื่นล้านบาท และขยายตัวถึง 33.5% เนื่องจากการท่องเที่ยวกลับมาบูมและคาดว่าจะเติบโต 80% เทียบกับปีก่อน เนื่องจากลูกค้าของธุรกิจรถเช่าระยะสั้นคือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาตินั่นเอง
จากมูลค่าตลาดรถเช่าในปีนี้จะเห็นว่า ตลาดรถเช่าระยะยาวเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด หรือ KCAR เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า กว่า 90% ของผู้เล่นในตลาดรถเช่าระยะยาวเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ และแม้ว่าธุรกิจ Operating Lease จะเป็นธุรกิจที่ไม่มี Barrier to Entry แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวไม่พบผู้เล่นใหม่ ๆ มาเป็นเวลาหลายปี โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เล่นรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาในตลาดรถเช่าระยะยาวจำเป็นต้องมีมากกว่าแค่เงินทุน เพราะองค์ความรู้ ความเข้าใจตลาด ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า และเครือข่ายที่แน่นแฟ้นระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอีโคซิสเต็ม ล้วนเป็นปัจจัยในการอยู่รอดและเติบโตในวงการนี้
สร้างความต่างในตลาดแข่งขันสูง
แม้การเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้เล่นรายใหม่จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในปัจจุบันตลาดรถเช่าระยะยาวก็เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมีสถิติการเติบโตที่แม้ไม่หวือหวาแต่มีความมั่นคง ด้วยดีมานด์ที่มากขึ้นจากองค์กรที่เลือกการเช่ารถซึ่งมาพร้อมความสะดวกสบายและการประหยัดงบประมาณ เมื่อเทียบกับการซื้อรถ ซึ่งมาพร้อมภาระในการดูแลทรัพย์สินที่เสื่อมสภาพลงไปในทุก ๆ ปี
เมื่อตลาดมีผู้เล่นจำนวนมาก การสร้างความแตกต่างในคุณภาพรถยนต์และบริการที่มอบให้แก่ลูกค้านับเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการต้องคำนึงถึงตลอดเวลา โดย “KCAR” ชี้ว่าปัจจุบันผู้เล่นในตลาดจะรุกทำการตลาดรถเช่าทางออนไลน์และชูราคาที่ถูกกว่า
ส่วนกลยุทธ์ที่มัดใจลูกค้าได้ คือการแข่งมอบการบริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์มากขึ้น เช่น รถเช่าควรอยู่ในสภาพใหม่พร้อมใช้เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเลือกสถานที่รับและส่งคืนรถได้หลายจุดทั่วประเทศ
สำหรับรถเช่าระยะยาว จะต้องมีบริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ และสามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์ตลอดเวลาในกรณีฉุกเฉินเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกและบอกต่อให้ผู้อื่นมาใช้บริการด้วยเช่นกัน เพราะการรักษาลูกค้าไว้ได้ในระยะยาวจะช่วยสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจรถเช่าของผู้ประกอบการเติบโตได้ แม้ในสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
รถเช่า EV-บริการ Subscription
นอกจากกลยุทธ์การพัฒนาบริการที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลางแล้ว การปรับธุรกิจให้สอดรับกับเทรนด์และดีมานด์ใหม่ ๆ ในตลาดเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโต โดย KCAR ยังเผยว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับทุกขั้นตอนการเช่า การให้เช่ารถ EV และการมอบบริการแบบ Subscription เป็นสามเทรนด์ที่น่าจับตาสำหรับวงการรถเช่าระยะยาวของเมืองไทย
สำหรับดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในอนาคต การทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซและการสร้างบัญชี Line AO ที่ช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรม เช่น การส่งซ่อมหรือการรายงานปัญหาโดยไม่ต้องติดต่อพนักงานหรือต้องเดินทางไปที่ศูนย์ จะกลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังว่าผู้ประกอบการทุกรายต้องมีให้บริการ
หนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจ คือการสร้างพอร์ตรถยนต์ EV สำหรับเช่า โดยในปีนี้ ผู้ให้บริการบางรายชิมลางการนำรถ EV มาไว้ในพอร์ตและเริ่มได้รับความสนใจจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดและมีนโยบายด้านความยั่งยืน ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เมื่อผู้เล่นเริ่มให้บริการรถ EV มากขึ้น ลูกค้าจะมีตัวเลือกการเช่ารถ EV ในราคาที่คุ้มค่า ด้วยเทรนด์ EV ที่กำลังมาแรง ผู้ประกอบการต้องเร่งหาอัตราการเช่าที่สมดุล โดยอิงจากหลากหลายปัจจัย อาทิ รูปแบบการใช้งานของลูกค้า ค่าเสื่อม และค่าซ่อมบำรุงของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
ขณะเดียวกันยังมีเทรนด์การให้บริการเช่าด้วยโมเดลแบบ Subscription ที่ยืดหยุ่น ไม่ผูกมัด เช่น ให้ลูกค้าได้ขับรถใหม่ป้ายแดงง่าย ๆ ด้วยระยะเช่าเพียง 1 ปี โดยราคาแต่ละแพ็กเกจอาจแตกต่างกันไปตามระยะไมล์และประเภทรถที่สมัครใช้บริการ โมเดลธุรกิจนี้เริ่มใช้ในหลายประเทศและเจาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ที่คุ้นชินและเติบโตมากับบริการ Subscription และเริ่มสนใจเช่าบ้านเช่ารถมากกว่าการต้องแบกภาระทางการเงินระยะยาวจากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าธุรกิจการเช่ารถระยะยาวยังมีโอกาสการเติบโตในรูปแบบใหม่ ๆ อีกมากมาย จึงน่าจับตามองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดรถเช่าเมืองไทยจะพัฒนาไปอย่างไรเพื่อรองรับเทรนด์แห่งอนาคต
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Promotion Optimization อาวุธใหม่ของกลุ่มค้าปลีกไทย